ไปดูมุมมืด “มัลดีฟส์” : สวรรค์ ลำเค็ญ หรือ”ฝาแฝด”ไทยแลนด์?

มัลดีฟส์เป็นสาธารณรัฐอิสลามและเป็นประเทศหมู่เกาะ(archipelago)

คำว่า Maldives มาจากภาษาเดิมว่า Maale Dhivehi Raajje หรือ “อาณาจักรแห่งเกาะที่อยู่ภายใต้การปกครองของมาเล่” ชื่อประเทศแบบเต็มคือ สาธารณรัฐมัลดีฟส์

เวลาเขียนอย่างย่อต้องเป็นรูปพหูพจน์เสมอ The Maldives แบบฟิลิปปินส์

มัลดีฟส์ประกอบด้วยหมู่เกาะเล็กๆที่เกิดจากซากปะการังทับถมกันนาน 30 ล้านปีจนกลายเป็นแผ่นดิน ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียและศรีลังกา ห่างจากเมืองไทยไม่มากใช้เวลานั่งเครื่องบินราว 4 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว

กล่าวโดยย่อ มัลดีฟส์มี”สมมุติสัจจะ”ในตนเอง 3 ประการ คือ

ความสวยงาม ความลำเค็ญ ความขี้ริ้วขี้เหร่ของการเมืองมัลดีฟส์ การเป็นประเทศหมู่เกาะที่ไม่มีทรัพยากรอื่นนอกจากธุรกิจท่องเที่ยวและประมงพื้นบ้าน อีกทั้งมีการใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัดทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปด้วยความยากแค้น

สามัญญลักษณะทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความไม่คงทนถาวร ทำให้เกิดทุกข์ และ ไม่ใช่ของตน

อันเป็น”ปรมัตถสัจจะ”

มัลดีฟส์ประกอบด้วยหมู่เกาะปะการัง 22 อะทอลล์

ความงามของทางธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล นิตยสารท่องเที่ยวทุกเล่มยกให้ชายทะเลมัลดีฟส์งดงามระดับโลก หนังสือพิมพ์ทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า “มัลดีฟส์คือสวรรค์บนดิน” ทีวีทุกรายการแนะนำให้ไปเยือนมัลดีฟส์สักครั้งก่อนเราจะตายและก่อนภาวะโลกร้อนทำให้เกาะจม ทั้งๆที่มัลดีฟส์เพิ่งติดตลาดในระยะ 20 ปีมานี่เอง และกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับหนึ่งของคู่ฮันนีมูนและนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก(High spending holidaymakers)จากทั่วโลก

ซึ่งในเรื่องความงดงามทางธรรมชาติ”โปรดปราน”จะสาธยายให้น้อยที่สุด

ในด้านความลำเค็ญของประชาชน แม้จะมีประชากรเพียง 3.13 แสนคน แต่มัลดีฟส์เป็นประเทศที่เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

เป็นปัญหารุนแรงพร้อมกันถึง 3 เด้ง

ชีวิตคนจนตามซอกซอยเมืองหลวง ชาวบ้านยังแร้นแค้นไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข ปัญหามลพิษของเกาะขยะที่มีขยะมากล้นท่วมท้นขึ้นทุกวันตามจำนวนนักท่องเที่ยว(โดยเฉพาะจีน)ที่เพิ่มขึ้น

ส่วนความขี้เหร่ของการเมืองการปกครอง ภาวะที่เผด็จการครองเมืองและใช้ความเข้มงวดของกฎหมายอิสลาม (Islamic extremism) นั้น

เริ่มจากก้าวแรกที่เหยียบแผ่นดิน ก็จะเจอความไร้ประสิทธิภาพของสนามบิน ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน การพึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวด้านเดียวและเก็บภาษีนักท่องเที่ยวในอัตราสูง แต่ไม่ทราบว่าภาษีเหล่านั้นไปไหน? นำไปพัฒนาประเทศบ้างหรือไม่? ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีรัฐประหารหลายครั้ง

ความขี้เหร่ทางการเมืองก็คือการแย่งชิงอำนาจ สืบทอดอำนาจ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้แก๊สน้ำตาใช้กำลังทหารล้อมปราบประชาชน ใช้อำนาจศาลตัดสินคดีการเมืองจำคุกอดีตประธานาธิบดีและใช้อำนาจศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

การใช้กฎหมายอิสลามการลงโทษอย่างรุนแรงซึ่งโลกภายนอกมองว่าเป็นการกระทำอันป่าเถื่อน

สวรรค์บนดิน : ชีวิตติดเกาะหรู 5 ดาว

มัลดีฟส์ประกอบด้วยเกาะ 1,192 เกาะ รวมตัวกันเป็นอะทอลล์ 26 อะทอลล์

เราทราบดีว่า “ปะการัง” คือสัตว์ทะเลขนาดเล็กจิ๋วซึ่งพบได้เฉพาะทะเลเขตร้อนและใกล้เขตร้อนที่อุณหภูมิของน้ำสูงเกิน 18 องศาเซลเซียส ดังนั้น นักท่องเที่ยวฝรั่งจึงนิยมมาเที่ยวเมืองร้อน (ไทยและมัลดีฟส์) เพื่อมาเที่ยวชายหาดขาวๆ ดำน้ำดูปะการังและสิ่งมีชีวิตมากมายในแนวปะการัง เพราะทะเลในเขตหนาวไม่มีปะการัง

แนวปะการังในโลกนี้ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ

(1) barrier reefs แนวปะการังที่ขนานกับชายฝั่งไปตลอดความยาว เช่น the great barrier reefs ที่ออสเตรเลีย

(2) fringing reefs แนวปะการังริมฝั่ง ปะการังน้ำตื้นอยู่ใกล้ชายฝั่งหรือเป็นหย่อมรอบเกาะ

) atoll แนวเกาะปะการังที่เรียงตัวเป็นวงแหวน ล้อมรอบน้ำตื้นตรงกลางที่เรียกว่าลากูน เกิดจากการจมตัวลงของภูเขาไฟในทะเล ยุบตัว ผุกร่อน ทับถมนาน 30 ล้านปีก่อตัวเป็นวงแหวนเกาะปะการัง (coral atoll) ขึ้นมา

มัลดีฟส์เพิ่งจะเป็นที่รู้จักของชาวโลกได้เพียง 45 ปีเท่านั้น ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1972 ชาวอิตาเลียน 22 คนคือนักท่องเที่ยวกรุ๊ปแรกจากโลกภายนอกทั้งหมดเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวและช่างภาพได้เหยียบแผ่นดินเกาะสวาทหาดสวรรค์แห่งนี้

โดยเข้าพักที่บ้านโกโรโกโสหลังคาขึ้นสนิมของชาวประมงเป็นเวลา 12 วัน

ทุกคนกลับบ้านไปเขียนกระจายข่าวเรื่องความสนุกสนานของทริปออกทะเลตกปลาและความสุขจาก Sea Sand Sun

ในปีนั้นเองรัฐบาลมัลดีฟส์ตัดสินใจเปิดสัมปทานให้นักลงทุนทั่วโลกเข้ามาบุกเบิกสร้างที่พักบนเกาะซึ่งไม่มีชาวบ้านอาศัย กำหนดให้มีรูปแบบ”หนึ่งเกาะหนึ่งโรงแรม” ในกลุ่มอะทอลล์ 10 แห่ง

ผลจากนโยบายนี้ได้พลิกชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ในอดีตเคยพึ่งพารายได้ขายสินค้าจำพวกหอยเบี้ย เชือกเส้นใยเปลือกมะพร้าว ไขปลาวาฬ ปลาทะเลตากแห้งและประมงพื้นบ้านไปเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวและภาษีจากรีสอร์ทกลางทะเล

เมื่อปี 1972 รีสอร์ตชื่อ คูลูมบา วิลเลจ (Kurumba Village Resort) ขนาด 32 เตียงเกิดขึ้นบนเกาะบันโดสเป็นแห่งแรก ตลอดปีแรกมีนักท่องเที่ยว 266 คนเท่านั้นและใน 4-5 ปีถัดมาซึ่งยังป็นยุคบุกเบิกมีการสร้างที่พักแบบง่ายๆบนเกาะในอะทอลล์มาเล่บนเกาะ Furanafushi (Full Moon ในปัจจุบัน) เกาะ Farukolhufushi (Club Med ในปัจจุบัน) เกาะ Vilingili และเกาะ Baros ทำให้มีชาวยุโรปมาเที่ยวมากขึ้น

ช่วง 20 ปีแรกของการเปิดสัมปทาน รีสอร์ทในมัลดีฟส์ยังเป็นแบบกระท่อมของโรบินสัน ครูโซ คือ หลังคามุงใบมะพร้าว ฝาขัดแตะ4 ด้าน ไม่มีน้ำจืด ไม่มีไฟฟ้าใช้ (จึงไม่มีน้ำอุ่น โทรศัพท์ โทรทัศน์ พัดลม ฯลฯ) ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้กระทั่งท่าเทียบเรือ(jetty)

เพิ่งจะมาในช่วง 1990s ที่มีเกิดโรงแรมหรูขึ้น ด้วยการมี “รีสอร์ทแอนด์สปา” แห่งแรกเกิดขึ้น ห้องพักหรูหราที่เย็นฉ่ำด้วยแอร์คอนดิชั่น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง โดยนักลงทุนกลุ่มแรกๆที่มาลงทุนคือโรงแรมในเครือ Conrad และเครือ Taj Exotica และเครือ COMO ที่ Cocoa Island

ด้วยอานุภาพการบอกต่อของนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยกระจายข่าวเรื่องความงามของหาดทราย แบบ talcum powder beach และทะเลสวยใสแบบเหล้ายิน Gin-clear water ทำให้ “มัลดีฟส์” ขึ้นแท่นชายหาดทะเลสวยใสอันดับต้นของโลกอย่างรวดเร็ว

ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกันกับ Bora Bora และ Seychelles

เมื่อเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ บังกะโลสระว่ายน้ำส่วนตัว (Pool villa)ของรีสอร์ทระดับ 5 ดาวได้กลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของมัลดีฟส์ไปแล้ว กระท่อมริมหาดใต้ต้นมะพร้าว บังกะโลกลางน้ำที่เรียงกันเป็นระเบียบวางตัวยาวเหยียดไปตามแนว Sand bank ขาวจั๊วะน้ำทะเลสีฟ้าเขียวใสแจ๋ว

โดยเฉพาะบังกะโลกลางน้ำ (Over water villa) เหมาะกับคู่ฮันนีมูนที่ประสงค์จะปลีกวิเวกขั้นสูงสุด เพราะสามารถกระโดดลงเล่นน้ำ ดูลูกปลาฉลามและปลากระเบนจากบันไดหลังบ้าน

จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว สำหรับผู้ที่มาพักผ่อนกันเป็นครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนแนะนำให้พักบนฝั่งดีกว่า เพราะสะดวกสบายมากกว่าเหมาะกับคนขี้เกียจเดินไปกินข้าวไกลๆ

บังกะโลกลางน้ำไกลจากทุกสิ่งทุกอย่างของรีสอร์ท เช่น รีเซฟชั่น อาหาร เครื่องดื่มและศูนย์กีฬาทางน้ำ แถมบังวิวกันเอง ไม่ได้อลังการไปทุกยูนิต

ยกเว้นรีสอร์ท 6 ดาวที่มีจำนวนห้องพักน้อยและวางตัวห่างๆกัน

ในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 เกิดแผ่นดินไหวลึกลงไปใต้ดิน 10 กิโลเมตรจากผิวโลกบริเวณท้องทะเลอาเจะห์และเกิด”สึนามิ” ขึ้น

แม้จุดเกิดเหตุจะไกลออกไป 2,500 กิโลเมตรแต่ชาวมัลดีฟส์ก็ไม่รอดพ้น คลื่นยักษ์”สึนามิ” ขนาด 2-2.6 เมตร (สูงสุดคือ 3.25 เมตร) ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง 18 นาทีก็มาถล่มเมืองหลวงมาเล่ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกอันเป็นบริเวณที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด

น้ำทะเลเอ่อท้นขึ้นท่วมเมืองทั้งเมืองและเกาะต่างๆ ประชาชนได้รับผลกระทบ 1 แสนคน บ้านพัง 8,500 หลัง มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 470 ล้าน USD คิดเป็น 62% GDP

คลื่นยักษ์สึนามิสร้างผลกระทบมหาศาล จากการสำรวจความเสียหายหลังเหตุการณ์โดยทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมและก่อสร้างของมัลดีฟส์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก UNEP USAID และ USGA ระบุว่า จุดที่เสียหายหนักถูกคลื่นยักษ์พัดพาและทำลายหน้าดินไป 30-50 เซนติเมตร พัดพาเอาเศษซากปะการังขึ้นมาทับถมบนแผ่นดิน 10-20 เซนติเมตร บ้านเรือน สุเหร่า โรงเรียน คลินิกพังทลายลง

สรุปความเสียหายทั่วประเทศคือ ประเทศนี้เกาะทั้งหมด 1,192 เกาะ เกาะที่มีผู้คนอยู่อาศัย 198 เกาะ จุดที่เสียหายหนักคือแถบอะทอลล์มาเล่ มีเกาะจำนวน 6 เกาะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

ระบบสาธารณูปโภคบนเกาะ 57 เกาะของมัลดีฟส์เสียหายอย่างหนัก

เกาะ 14 เกาะต้องสั่งอพยพฉุกเฉิน

สำหรับเป็นเกาะที่เป็นรีสอร์ทส่วนตัวนั้น มี 21 แห่งต้องปิดกิจการเพราะเสียหายเกินกว่าจะเยียวยา นอกนั้นได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย

และมี 17 รีสอร์ท ที่ไม่กระทบใดๆเลย

ตัวเลขรายงานผู้เสียชีวิตในมัลดีฟส์ครั้งนี้ 102 คน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 คน ซึ่งนับว่าน้อยมาก จากยอดการสูญเสียทั้งหมด 1.8 แสนคน โดยอินโดนีเซียสูญเสียมากถึง 1.3 แสนคน รองลงมาคือ ศรีลังกาและอินเดีย ส่วนไทยอยู่อันดับ 4 ผู้เสียชีวิต 5,395 คน

ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีอยู่บ้างตรงที่เกิดเหตุในช่วงน้ำลงเต็มที่ (Low tide) หากเกิดช่วงอื่น มัลดีฟส์อาจได้รับความเสียหายมากกว่านี้

สําหรับความเสียหายต่อแนวปะการังนั้น จากรายงานสำรวจปี 2005 พบว่า สึนามิ 2004 สร้างความเสียหายต่อแนวปะการังมัลดีฟส์เพียงเล็กน้อย อันที่จริงแล้วปัญหาใหญ่ของปะการังที่นี่คือปะการังฟอกขาวในปี 1998 ซึ่งใช้เวลา 2-6 ปีในการฟื้นตัวและส่วนมากฟื้นตัวหมดแล้ว

นับว่าเป็นโชคมหาศาลที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมัลดีฟส์ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลัง”สึนามิ 2004″ และเติบโตดีขึ้นขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์

จนในที่สุดก็เกิดโรงแรมหรูหราระดับโลก 5 ดาว 6 ดาว จากทุกค่ายทุกเครือ ทยอยผุดขึ้นมา ราคาห้องพักคืนละ 500-2000 USD เป็นเรื่องธรรมดาในมัลดีสฟ์ รวมทั้ง ภัตตาคารใต้น้ำระดับโลกที่โด่งดังไปทั่วโลก

เมื่อผ่านไป 40 ปี ในปี 2013 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีเซเลบบริตี้ระดับโลกที่มาเที่ยวที่นี่ เช่น เจ้าชายวิลเลี่ยมและเคท เดวิด เบ็คแฮมและเคท มอสส และในปี 2016 ซึ่งทางการประกาศให้เป็น Visit Maldives Year มี luxury island resort เกิน 100 แห่ง และยอดนักท่องเที่ยวทะลุหลัก 1.5 ล้านคน

โดยนักท่องเที่ยวหลักมาจาก รัสเซีย จีน และอินเดีย