New York City Marathon แมตช์ใหญ่ของนักวิ่งน่องเหล็ก

อัษฎา อาทรไผท

เป็นที่ทราบกันดีว่า New York City Marathon คือหนึ่งในการแข่งวิ่งมาราธอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่นักวิ่งทั้งโลกคงล้วนอยากเอารองเท้าวิ่งมาใช้งานกันที่นี่สักครั้ง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกานี้เอง ผมมีโอกาสได้ไปสังเกตุการณ์มหกรรมมาราธอนครั้งนี้กับเขาด้วย แถมไม่ได้แค่ไปเฉย ๆ แต่ได้ไปให้กำลังใจเพื่อนคนไทยที่ได้เข้าไปร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ถือว่านอกจากได้สังเกตุการณ์แล้ว ยังได้สัมผัสบรรยากาศการยืนเชียร์ไปด้วย แต่ก่อนจะบรรยายประสบการณ์ส่วนตัว ขอเล่าเกี่ยวกับมาราธอนรายการนี้คร่าว ๆ ก่อนครับ

New York City Marathon ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 หรือ 52 ปีที่แล้ว โดยองค์กรการวิ่ง New York Road Runners ที่แรกเริ่มเดิมทีมีนักวิ่งมาร่วมหลักร้อย และวิ่งกันรอบ ๆ Central Park สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเกาะแมนฮัตตันเท่านั้น แต่มาปัจจุบันเส้นทางการวิ่งระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ขยายไปครอบคลุมเขตปกครองทั้ง 5 ของมหานครนิวยอร์ก ล่าสุดมีผู้เข้าร่วมวิ่งในปี 2022 ถึงกว่า 47,000 คน และมีผู้ชมตลอดระยะทางนับล้าน

นักวิ่งจะเริ่มต้นสตาร์ทกันที่เกาะ Staten Island แล้ววิ่งข้ามสะพานแขวน Verrazzano-Narrows Bridge ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งในช่วงเริ่มการแข่งขัน ภาพนักวิ่งจำนวนมากที่เพิ่งปล่อยตัวออกมา วิ่งไหล่ชนไหล่กันอยู่บนสะพาน จะเป็นภาพที่ตราตรึงใจมาก ๆ (เขาบอกมา)

หลังจากลงสะพานมา นักวิ่งจะวิ่งผ่านย่านต่าง ๆ ใน Brooklyn อีกราว 18 กิโลเมตร จากนั้นวิ่งข้ามสะพาน Pulaski Bridge เข้าสู่ย่าน Queens ถือเป็นครึ่งหนึ่งของเส้นทาง แล้ววิ่งต่อไปอีก 4 กิโลเมตร จนถึงสะพาน Queensboro Bridge ก็วิ่งข้ามแม่น้ำ East River เข้าสู่เกาะ Manhattan เขาบอกว่า ณ จุดนี้ ขาวิ่งขึ้นสะพาน นักวิ่งจะเหนื่อยมาก ๆ เนื่องจากเป็นทางลาดชัน และหมดพลังกันไปมากแล้ว

หลังเข้ามาวิ่งในเกาะ Manhattan ได้สักพัก ก็ข้ามสะพาน Willis Avenue Bridge เข้าสู่ Bronx พอเป็นสังเขปให้ครบเขต แล้วข้ามสะพาน Madison Avenue bridge กลับมาสู่ Manhattan อีกครั้ง ผ่านย่าน Harlem เข้าสู่ถนน Fifth Avenue มุ่งหน้า Central Park แล้วลากยาวตั้งแต่ Fifth Avenue ตัดกับ 90th Street มาจนถึงตัดกับ 59th Street

ณ จุดนี้จะเข้าถึงช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน สองข้างทางมีผู้ชม ผู้เชียร์อย่าง
หนาแน่น และเป็นจุดที่ผมมายืนรอเชียร์เพื่อนชาวไทยอยู่พอดี เลยจะขอเข้าสู่ประสบการณ์ตรงของผมกับ New York City Marathon ครั้งนี้ครับ

การแข่งมาราธอนนี้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ ถนนหลายสายปิดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักวิ่ง ถ้าขับรถมาน่าจะเดือดร้อน ส่วนผมสบายเพราะนั่งรถไฟเข้า New York City ต่อด้วยการเดินเท้าสู่หน้าโรมแรม Plaza โรงแรมสุดหรูบนถนน Fifth Avenue ที่อยู่ตรงข้ามกับ Central Park พอดี ณ จุดนี้คือจุดที่เขามารอเชียร์นักวิ่งกันในโค้งสุดท้าย มีรั้วกั้นไว้อย่างดี และมีตำรวจคอยดูแลความเรียบร้อยพร้อมสรรพ

สำหรับการแข่งนี้ เขาจะมีตั้งแต่นักวิ่งขั้นเทพไปจนถึงนักวิ่งทั่วไป ซึ่งแม้จะทั่วไปก็ไม่ใช่ธรรมดา เพราะการจะวิ่งไม่หยุดตั้ง 42 กิโลเมตร ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปทำได้ แต่อย่างไรก็ตามเขามีการปล่อยตัวเป็นช่วง ๆ ไป เริ่มที่ประเภทโปร ตามด้วยเวฟ 1 2 3 4 5 ไปเรื่อย ๆ

การแข่งขันเริ่มราว ๆ 8:40 น. ผู้เข้าเส้นชัยคนแรก นาย Evans Chebet ชาวเคนยา ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง 8 นาทีนิดก็วิ่งจบ ตั้งแต่เวลาราว ๆ เกือบ 11:00 น. ส่วนคนที่ผมมาเชียร์ปล่อยตัวที่เวฟ 5 เลยไม่ต้องรีบ ราว ๆ 16:00 จึงค่อยไปถึงจุดเชียร์ วันนั้นแม้จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่อากาศควรหนาว แต่มีอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส ไม่หนาวเลยสักนิด ซึ่งคนดูคงไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่สำหรับนักวิ่งน่าจะร้อนกันพอสมควร

เนื่องจากเวลาที่ผมถึงไปถึงบรรดานักวิ่งขาเหล็กกล้าระดับโลก ได้เข้าเส้นชัยไปนานแล้ว (หลายคนอาจเข้านอนไปเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ) ระหว่างเดินฝ่าผู้คนเข้าไป ก็เห็นนักวิ่งหลายคนเดินเหงื่อท่วมตัว ห้อยเหรียญ และสวมเสื้อคลุมที่ได้เป็นที่ระลึกการแข่งสวนออกมาเรื่อย ๆ โดยมีญาติ ๆ และเพื่อนต่างแสดงความยินดี ยิ้มแย้มกันถ้วนหน้า

บรรยากาศการเชียร์ จะเต็มไปด้วยกองเชียร์ของใครของมัน รอคอยการมาของนักวิ่งที่เขารอ พอเห็นกันก็ตะโกนเชียร์กันระงม ยกป้ายชื่อบ้าง โบกธงบ้าง บางคนก็มารอให้กำลังใจแฟน เมื่อแฟนมาถึงก็จุมพิตให้กำลังใจหนึ่งที เอาธงชาติคลุม แล้วให้คนรักวิ่งต่อไปเข้าเส้นชัย ซึ่งตั้งอยู่แถว ๆ Columbus Circle อีกมุมหนึ่งของ Central Park ไม่ไกลออกไปนัก ตรงนั้นมีวงดนตรีเล่นสดคอยต้อนรับอยู่

นอกจากจะมีกองเชียร์ที่มาเชียร์ใครสักคนแล้ว ยังมีกองเชียร์ที่มาเชียร์ใครก็ได้อีกต่างหาก ข้าง ๆ ผมมีชายคล้ายทหารผ่านศึก ใส่เสื้อติดสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้เพียบ มาคอยยืนตะโกนเชียร์ใครก็ได้มที่ผ่านมา โดยจะพยายามอ่านชื่อที่อยู่บนเสื้อของนักวิ่ง แล้วตะโกนเชียร์คน ๆ นั้น บางทีไม่มีชื่อที่เสื้อ เขาก็พยายามตะโกนลักษณะให้ตรงกับคนที่เขาเชียร์

เนื่องจากเป็นเวฟหลัง ๆ นักวิ่งที่ผมเห็นวิ่งกันเข้ามา จะไม่ค่อยมีแนวนักกีฬามากนัก ส่วนมากจะเป็นวัยกลางคนไปจนถึงอาวุโส และประเภทแต่งแฟนซีมาวิ่ง ชาวต่างชาติก็มีเยอะ เพราะปีนี้มีนักวิ่งจากต่างชาติถึง 40% ของการแข่งขัน ส่วนการจะควอลิฟายเข้ามานั้นมีหลายทาง ขอไม่กล่าวถึงเพราะจะยาวเกินไป

ในที่สุดหลังจากรอคอยไปเกือบ 2 ชั่วโมง เพื่อนที่เรามารอเชียร์ก็วิ่งผ่านมา เมื่อเชียร์ให้กำลังใจกันจนเสร็จภาระกิจ ก็ถึงเวลาพากันไปทานฉลองมื้อเย็นกับเพื่อนนักวิ่ง ซึ่งวันนี้คือวันของพวกเขาจริง ๆ ผมเพิ่งมาทราบว่าตามร้านอาหารต่าง ๆ จะอำนวยความสะดวกให้กับนักวิ่งมาราธอนด้วย

คืนนั้นเราไปฉลอง New York City Marathon กันที่ร้านอาหารเกาหลี ซึ่งคืนวันอาทิตย์ในมหานครนิวยอร์ก ณ ร้านอาหารเกาหลียอดนิยม คนจะต่อแถวรอทานกันยาวเหยียด แต่เนื่องจากเรามากับนักวิ่ง ที่ยังคล้องเหรียญอยู่ที่คอเลย ทางร้านจึงให้ลัดคิวเข้าไปได้เลย เพราะเขาเห็นว่าเราเหนื่อยมามากแล้ว นับเป็นโบนัสของการมาวิ่งจริง ๆ ครับ

สำหรับ New York City Marathon ท่านใดเป็นนักวิ่งคงอยากมาร่วมสักครั้ง ส่วนผมนักท่องเที่ยวก็พบว่าหากได้มาวิ่งรายการนี้ จะได้ผ่านครบทั้ง 5 เขตปกครองของมหานครนี้ แถมบางจุดถ้าไปเยือนตามปกติอาจใจไม่ถึงไม่กล้าไป แต่นี้ได้เข้าไปวิ่งถึงถิ่นเขาเลยแบบเซฟ ๆ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ซึ่งหากใครที่ยังมีความแข็งแรงพอจะฝึกวิ่ง 42 กิโลเมตรได้ และมีทุนพอ ก็ขอแนะนำให้มาลองสักครั้ง ที่สำคัญวิ่งเสร็จอยากไปกินอะไรที่แถวยาว ๆ ก็อาจได้ลัดคิวด้วยนะครับ