‘สู่ความเคว้งคว้างในชีวิตจริง’ ช่วงเปลี่ยนผ่านของบัณฑิตจบใหม่ เมื่อ ‘ความสุข’ เลือนหายไป

หลังจากจบการศึกษาได้ไม่นาน บัณฑิตป้ายแดงหลายคนต่างตกอยู่ภายใต้ความกดดัน ความวิตกกังวล และความเครียด เพราะเป็นช่วงเวลาที่บัณฑิตจบใหม่ได้ก้าวออกจากพื้นที่เซฟโซนในรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่โลกแห่งความจริง จากเดิมที่ใช้ชีวิตไปพร้อมกับเพื่อน มีครอบครัวคอยซัพพอร์ตทางการเงิน แต่หลังจากนี้ต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเอง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บัณฑิตจบใหม่หลายคนรู้สึกเคว้งคว้าง และตั้งคำถามกับตนเองมากมาย ว่าจะเดินต่อไปทางไหนดี เราจะมีงานทำภายในปีนี้ไหม เราจะได้งานในฝันหรือเปล่า?

และหากบัณฑิตจบใหม่ที่กำลังเผชิญกับอาการเหล่านี้ เป็นไปได้ว่ากำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังเรียบจบ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Post-Graduate Blues” นั่นเอง

อะไรคือภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ (What are the Post-Graduate Blues?)

Post-Graduate Blues หรือ เรียกอีกชื่อว่า Post-Graduation Depression อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อนักศึกษาจบใหม่ต้องทิ้งชีวิตวัยเรียนไป แล้วเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการก้าวเข้าสู่บทเรียนใหม่ นั่นก็คือ “ชีวิตวัยทำงาน” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการค้นหาเป้าหมายของตนเอง จนเริ่มเกิดความรู้สึกหดหู่ โดดเดี่ยว และเศร้าใจ

โดยนักบำบัดโรค Bernard Luskin อธิบายว่าอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นก่อนหรือหลังสำเร็จการศึกษาก็ได้ และอาจจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังสำเร็จการศึกษาได้เช่นกัน

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ City Mental Health Alliance พบว่ามีบัณฑิตจบใหม่ 49% ที่สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาลดลงหลังออกจากมหาวิทยาลัยไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ (Cause of Post-Graduate Blues)

1.เปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องยากที่จะไม่เอาชีวิตของเราไปเปรียบเทียบกับชีวิตของ คนอื่นบนโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนของเราได้งานในฝันและมีชีวิตที่ดี ในขณะที่เราต้องอยู่ที่บ้านเพื่อกรอกใบสมัครงานอย่างสิ้นหวัง นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่

2.ขาดการติดต่อกับเพื่อน
แน่นอนว่าในรั้วมหาวิทยาลัย เรามีเพื่อนมากมายที่คอยอยู่เคียงข้างและคอยซัพพอร์ตให้กัน จนรู้สึกว่าสุขภาพจิตของเราดีขึ้นเมื่อมีเพื่อนอยู่ใกล้ ๆ แต่ทว่าเมื่อเพื่อน ๆ ทุกคนต่างแยกย้ายไปตามทางของตนเอง จึงทำให้

การติดต่อกับเพื่อนมหาวิทยาลัยนั้นกลายเป็นเรื่องยาก และอาจจะทำให้เราต้องสูญเสียความสัมพันธ์ที่มีค่าอันเป็นที่รักไป

วิธีการรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ (Dealing with Post-Graduate Blues)

1. หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
เป็นเรื่องง่ายที่เราจะมองรอบตัวเองและอดคิดไม่ได้ว่า “ทำไมชีวิตของเราถึงไม่เป็นแบบนั้นบ้าง?” นั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่าเพื่อนสนิทของเราได้งานในฝันไปแล้ว แต่ตัวเรายังคงดิ้นรนในการสัมภาษณ์งาน หรือกำลังทำงานที่ไม่ชอบอยู่ อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นสามารถทำลายคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) และมองว่าตัวเองไม่เก่งเท่าคนอื่น ดังนั้น เพียงจดจำไว้ว่าทุกคนมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีวันพบเส้นทางของตัวเอง

2. พูดคุยกับใครสักคน
การพูดคุยกับบัณฑิตจบใหม่อื่นๆ จะช่วยให้เรารู้สึกว่ายังมีอีกหลายคนที่มีความรู้สึกเครียด กดดัน และวิตกกังวลเหมือนกันกับเรา ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ดังนั้น วิธีการนี้จะช่วยให้เอาชนะอาการซึมเศร้าหลังเรียนจบได้เป็นอย่างดี

3. อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ
หากเรายังคงรู้สึกว่าถึงความยากที่จะเอาชนะกับอาการนี้ ขอเพียงแค่เปิดใจและขอความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้เชียวชาญที่จะประเมินอาการและให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้อาการของเราดีขึ้น นอกจากนี้ การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็นกับผู้ปกครอง คุณครู หรือแม้แต่แพทย์ของเราถึงสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญที่จะสามารถช่วยอาการของเราได้เช่นกัน

 


อ้างอิง
https://www.giveagradago.com/news/2020/07/five-tips-for-coping-with-post-uni-blues/521
https://www.huffingtonpost.co.uk/tilly-grove/graduation-blues_b_7125440.html
https://www.betterup.com/blog/finding-purpose-after-college
https://www.healthline.com/health/depression/post-grad-depression

Depression after university [beat the graduate blues]


https://www.intangiblegoods.co/blog/gradbluescovid
https://graduan.com/article/post-graduate-blues
https://www.thesis-editor.co.uk/blog/post/tips-to-deal-with-graduation-blues

5 Tips to Deal with Post-Grad Blues