“ปลดทุกข์” : ธุรกิจพอดีคำ

และแล้ววันนี้ก็เวียนมาถึงอีกหนึ่งครั้ง

หนึ่งวันในรอบปี ที่เราจะได้ไป “โรงพยาบาล” เพื่อ “ตรวจสุขภาพประจำปี”

คอเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีนี้จะเป็นอย่างไร

อุตส่าห์งดเหล้าเข้าพรรษา เบียร์ไม่แตะมาเป็นปี

ค่ากรดยูริก จะยังสูงอยู่รึเปล่า

คำถามรบกวนใจ ที่วันนี้จะได้คำตอบจากปาก “คุณหมอ”

นอกจาก “ความกังวลใจ” ข้างต้นแล้ว

สำหรับผม มีอีกสองประสบการณ์ ที่ “ไม่ชอบ” เลย ในการตรวจสุขภาพ

หนึ่ง อาจจะเป็นคล้ายๆ กับทุกคน คือการ “เจาะเลือด”

เข็มใหญ่ เสียวไส้ แต่ต้องทำ “แมน” ต่อหน้าคุณพยาบาล

“คุณกวีวุฒิ เจาะเลือดค่ะ” คุณพยาบาลมาตามตัว

“ได้ครับ รออยู่เลย” ตอบไปแบบนั้น แต่ข้างในก็กลัวเจ็บเหมือนหลายๆ คน

อย่างที่สองที่ไม่ชอบเลย คือ “การเก็บของเสีย” ของตัวเอง เอาไปตรวจพยาธิ

เข้าห้องน้ำทีไร ตั้งใจกับมันมาก

มันก็มักจะ “ไม่มา”

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสสอนวิชา Design Thinking ให้กับผู้บริหารจากองค์กรมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น SCG, SCB, AIS, DTAC, CP, AP และอื่นๆ

ทุกอุตสาหกรรมที่กำลังต้องการ “นวัตกรรม”

รวมแล้วก็น่าจะเกิน 100 คนละ

ในวันที่สองของการเรียนรู้ ผมมักจะเริ่มต้น “กิจกรรม” อย่างหนึ่ง

เริ่มด้วยการนำกระดาษแผ่นใหญ่ แขวนไว้บน FlipChart ออกมาตั้งไว้กลางห้อง ต่อหน้าผู้เรียนทุกคน

เสร็จแล้ว เอาปากกา “วาด” เส้นหนึ่งเส้น ลงบนกระดาษ

เขียนเสร็จ ผมก็ยกปากกาขึ้นแล้วถามว่า

“ผมอยากให้พวกเราวาดรูปที่เป็นสัญลักษณ์ของการเรียน Design Thinking เมื่อวานนี้ ร่วมกัน ให้ออกมาช่วยกันวาดสักคนละเส้นครับ”

แล้วผมก็ยืนตรง ยกปากกาขึ้นอยู่อย่างนั้น

ส่งสัญญาณ รอใครสักคนลุกออกจากที่นั่ง มาเอาปากกาและวาดต่อจากผม

พอพูดจบ บรรยากาศภายในห้องก็จะเป็นประมาณนี้ครับ

ทุกคน มองไปมองมา เอาไงดีหว่า

บางคนดูก็รู้ว่า มีความคิดบางอย่างอยากจะออกมาวาด

แต่ก็ “กล้าๆ กลัวๆ”

สรุปแล้ว ใช้เวลาหลายสิบวินาที กว่าจะมี “คนแรก” ออกมาช่วยผม

เขาหยิบปากกาจากมือผมไป

“วาด” ต่อจากผม หนึ่งเส้น

แล้วก็ยืน ยกปากกาขึ้น

“รอการปลดปล่อย” จากเพื่อนๆ

ภาพในกระดาษก็ยังคงงงๆ จากเส้น 2 เส้น ที่ถูกวาดขึ้นโดยคน 2 คน

รออีกพักหนึ่ง

ก็มี “คนที่สอง” ออกมาวาดอีกหนึ่งเส้น

เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ คนที่สาม คนที่สี่ คนที่ห้า

ไปจนถึงคนที่ยี่สิบ

เมื่อ “กิจกรรม” นี้จบลง

แทบทุกครั้ง ภาพก็จะดูคล้าย “หน้าคน” ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน

ผมมักถามกลับไปที่ห้องเรียน

“เราเห็นอะไรในกิจกรรมที่เพิ่งจบไปบ้างครับ”

สิ่งที่ทุกชั้นเรียนมักจะเห็นตรงกันทุกครั้ง คือ

ช่วงแรกๆ คนจะไม่ค่อยกล้าออกมาเขียน

จะใช้เวลานาน กว่าจะออกมาได้สักคน

แต่ช่วงหลังๆ นั้น จะออกมาเร็วมากขึ้น

พอถามว่า “ทำไม”

ก็มักได้คำตอบว่า “พอจะรู้ละว่ารูปจะออกมาประมาณไหน”

ปกติแล้ว เวลาวาดไปได้สัก “สิบ” คน

ภาพมักจะออกมา “รางๆ” ว่าเป็นหน้าคน

คนหลังๆ ก็มักจะออกมาเติมลูกตาบ้าง จมูกบ้าง หูบ้าง ต่างๆ นานา

แต่ว่า ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นรูปอะไร

คนมักจะยังลังเล ไม่ยอมออกมาเขียน

ก็เพราะ “เส้นแรกๆ” นั้น มักอาศัยจินตนาการอยู่มาก

และ “ความกล้าหาญ” อยู่ไม่น้อย

มันก็เหมือนกับ “ความคิด” ที่ยังไม่ตกผลึก สักแต่วาดมันออกมาก่อน

การนำเสนอก้อนความคิดที่ไม่ตกผลึก เป็นเรื่อง “น่ากลัว”

แต่ก็จำเป็นสำหรับการ “สร้างสรรค์” แบบเป็นทีม

เมื่อมี “คนอื่น” มาต่อยอด

ความคิดที่ “ไม่ชัดเจน” ก็จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

สำคัญคือ ต้องมีคนเริ่มลงมือ “วาด” เสียก่อน

“เส้น” จึงจะต่อเป็น “รูปภาพ” ได้

วันก่อนได้มีโอกาสไปร่วมงาน TEDxBangkok 2017

ได้ฟังคุณฉิ่ง วินัย ฉัยรักษ์พงศ์ นักออกแบบชื่อดัง พูดเรื่อง “ความหมกมุ่น กับ ความไร้สาระ”

คุณฉิ่งเล่าให้เห็นภาพว่า ความไร้สาระ มันก็เหมือนตัว “อสุจิ” ไม่มีใครไปคิดกับมันมาก ว่าตัวนี้ใช้ได้ ตัวนี้ใช้ไม่ได้

พอมันมีปริมาณมากๆ เข้า มันก็สามารถจะวิ่งมา “ปฏิสนธิ” ได้

ความ “ไร้สาระ” ที่จริงก็ไม่ต่างจาก “จินตนาการ” ที่ดูเกินจริง

ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ สำหรับคนที่หมกมุ่นกับ “ปัจจุบัน”

หากแต่ว่า โลกใบนี้ ก็ไม่เคยเปลี่ยนจาก “คนที่มีสาระ แต่ไร้ซึ่งจินตนาการ”

“ไร้สาระ” มากๆ เข้า อาจะนำไปสู่ “ความเป็นไปได้ใหม่” ที่คุณคิดไม่ถึงก็ได้

คุณฉิ่ง ยังเสริมเพิ่มเติม เปรียบเทียบให้เห็นว่า

“ความมีสาระ” หรือ “ไอเดียล้ำๆ” นั้น ก็เหมือน “การปลดทุกข์” ในห้องน้ำ

ยิ่งพยายามมากเท่าไร ก็ยิ่ง “คิดไม่ออก”

ลองหยิบมือถือขึ้นมาเล่น วาดประตูห้องน้ำ คุยกับแฟน

คิดเรื่องอดีต ดูของในกระเป๋าตังค์ แอบฟังคนด้านนอกเขาคุยกัน

ทำในเรื่อง “ไร้สาระ” สักหน่อย

สักพัก เดี๋ยว “ก้อนความคิด” มันจะหล่น “ตุ๋ม” ออกมาเอง

พี่ฉิ่ง “แนะนำ” เสียเห็นภาพขนาดนี้

ตรวจสุขภาพประจำปี ครั้งต่อไป

คง “คลายกังวล” ได้บ้างแล้วล่ะ