ธุรกิจพอดีคำ : ประตูสองทาง ว่าด้วยการ’ตัดสินใจ’ + สัมภาษณ์งาน

กริ๊ง กริ๊ง

เสียงโทรศัพท์มือถือของผมดังขึ้น

ผมหยิบมือถือขึ้นมา เป็นเบอร์ที่ไม่คุ้นเคย

พอกดรับ ก็ปรากฏเป็นน้องคนหนึ่งที่ไม่ได้คุยกันมานาน

“พี่ต้อง เทมส์เอง ที่เคยมาเรียนเรื่อง Leadership กับพี่ เมื่อสามปีที่แล้วไง จำได้ป่าว”

เรื่องหลายเรื่องผ่านเข้ามา แล้วก็ผ่านไป

คนหลายคนผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วก็ผ่านไป

จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

แต่บอกเลย อย่างภาคภูมิใจครับ

ถ้าเป็นน้องๆ ที่ผมเคยสอนหนังสือด้วย ส่วนใหญ่แล้ว 90% จำได้ครับ

“เฮ้ย เทมส์ จำได้ดิ เป็นไงมั่งเนี่ย”

เทมส์ตอบ “ดีพี่ ผมเรียนจบแล้วนะครับ กำลังจะสัมภาษณ์เป็นนักบินพี่”

“เยี่ยมเลย แล้วนี่โทร.มามีไรให้ช่วยป่าว” ผมถาม

“ก็เรื่องสัมภาษณ์นี่แหละพี่ เตรียมตัวมาเยอะแล้ว แต่ก็ยังประหม่าอยู่ พี่มีวิธีแนะนำมั้ย ทำยังไงไม่ให้ประหม่า”

ดีใจที่น้องอุตส่าห์นึกถึง

ผมใช้เวลาคิดแป๊บนึง ถึงประสบการณ์ของตัวเอง

แล้วก็แนะนำเขาไปว่า

เมื่อเดือนก่อน มีการประชุมผู้ถือหุ้น ที่มีผู้สนใจเข้าฟังมากแห่งหนึ่งเกิดขึ้น

ไม่ใช่ที่เมืองไทย แต่เป็นที่ “อเมริกา”

บริษัท อเมซอน (Amazon) ธุรกิจ e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา

และ คลาวด์ เซอร์วิส (Cloud Service) ที่สตาร์ตอัพกว่า 80% ทั่วโลกต้องใช้

เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท ได้ออกจดหมายถึงผู้ถือหุ้น

มีใจความที่น่าสนใจ บอกเล่าเรื่องราวหลักการทำงานของตัวเขาเอง

สองเรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก เกี่ยวกับเรื่องของการ “ตัดสินใจ”

ขอเริ่มด้วยคำถามครับ

คุณคิดว่า เราควรจะมีข้อมูลมากแค่ไหนในการตัดสินใจให้ดีที่สุด

ให้เวลาคิด 3 วินาที

เชื่อว่าหลายคนยังงงกับคำถาม และยังตอบไม่ได้

“เอ้า ก็ถ้ามันมีข้อมูลได้มากที่สุดก็ยิ่งดีสิ การตัดสินใจจะได้รอบคอบ ถูกต้อง” หลายคนอาจคิดแบบนี้อยู่

แต่ Jeff Besos บอกว่า ไม่ใช่ครับ

เขาแนะนำว่า “คุณควรจะตัดสินใจเมื่อมีข้อมูลประมาณ 70% ที่คุณอยากจะได้”

เพราะในชีวิตจริง การจะได้ข้อมูล 90% ขึ้นไปนั้นเป็นเรื่องยากมาก

เป็น “โลกเสมือนจริง” ที่ผู้บริหารส่วนใหญ่คิดว่ามีอยู่ อยากให้เกิดขึ้น

ยิ่ง “รอบคอบ” ยิ่งดี

หากแต่ว่า ผู้บริหารหลายท่านอาจจะหลงลืมไปว่า

การได้มาซึ่ง “ข้อมูล” นั้น ต้องแลกมาด้วย “ต้นทุน”

อย่างแรกสุดคือ “เวลา” ที่เสียไปกับการ “หาข้อมูล”

ในโลกยุคนี้ ที่อะไรๆ ก็ดูจะรวดเร็วไปเสียหมด

การใช้เวลาหาข้อมูล มานั่งประชุมถกเถียงกัน จึงเป็น “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” ที่จะได้ลงมือทำเพื่อ “ทดลอง” หาความรู้ใหม่ๆ

ซ้ำร้าย หลายองค์กรที่ต้องการข้อมูลมากๆ ป้องกันความผิดพลาดในการตัดสินใจ ก็มักจะจบด้วยการไปจ้าง “ที่ปรึกษา” กูรูมากมาย มาเล่านู่นนี่ให้ฟัง

หลายครั้ง “เสียเงิน” หลายล้านบาท เพียงเพื่อได้ข้อมูลบางอย่าง

ซึ่งจริง หรือไม่จริง ก็ไม่อาจรู้ได้

สิ่งที่ได้ อาจจะเป็นเพียงแค่ “ความสบายใจ” ที่จะตัดสินใจแค่นั้น

จ้างที่ปรึกษา คือ “รอบคอบ”

การลงมือ ลองผิดลองถูก แม้หลายครั้งอาจจะใช้เงินน้อยกว่า กลับถูกมองว่า “ผิดพลาด”

เป็นเรื่องที่องค์กรใหญ่ๆ รับไม่ได้

เจฟฟ์ เบซอส เชื่ออย่างแรงกล้าว่า โลกนี้ไม่มี “ข้อมูล” ที่สมบูรณ์แบบ

เพื่อไม่ให้องค์กรเดินช้า ตามโลกไม่ทัน

จงตัดสินใจเมื่อมีข้อมูล 70%

เรื่องที่สอง เขาพูดเกี่ยวกับเรื่อง “ประตู” ที่มีสองทางเสมอ

เจฟฟ์บอกว่า คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า การต้องเลือกอะไรสักอย่าง เป็นเรื่อง “ถาวร” ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง “การเลือกอาชีพ”

หลายคนอยากจะลาออกจากการเป็น “พนักงานประจำ” เพื่อมาเป็น “ผู้ประกอบการ”

แต่ก็กลัวว่า ถ้าออกมาแล้ว ทำไม่สำเร็จ จะต้องเป็นบุคคลล้มเหลวตลอดไป

เขาพบว่า มันเป็นเพียงความเชื่อผิดๆ ของคนที่ “ไม่กล้าตัดสินใจ” เท่านั้นเอง

เขาเห็นผู้คนมากมายที่ออกจาก “งานประจำ” เพื่อมาลองเป็น “ผู้ประกอบการ”

แม้จะไม่ประสบความสำเร็จดีนัก แต่ก็สามารถใช้ประสบการณ์การเป็น “ผู้ประกอบการ” นำกลับไปใช้เมื่อสมัครเป็น “พนักงานประจำ” อีกครั้ง ที่ตำแหน่งสูงขึ้นได้อีก

การตัดสินใจ หลายๆ ครั้ง เป็นเหมือน “ประตู” ที่เดินเข้าไป แล้วก็สามารถเดินออกได้ ถ้าพบว่าอีกฟากของประตู เมื่อเห็นด้วยตาของตัวเอง มันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด อย่างที่คนอื่นเล่าให้ฟัง

เมื่อคุณคิดได้เช่นนี้แล้ว การตัดสินใจหลายๆ อย่างในชีวิต ก็จะเป็นเรื่องที่ “ไม่น่ากลัว” จนเกินไปนัก

ตอนที่เจฟฟ์เองออกจากงานประจำรายได้ดีที่ “วอลล์สตรีต” เขาเองก็กล้าๆ กลัวๆ

แต่ก็ให้เวลากับตัวเองชัดเจนว่า “ถ้าสามปีทำธุรกิจแล้วไม่สำเร็จ ก็จะกลับไปเป็นพนักงานประจำ”

ทำให้เขารู้สึก “เป็นอิสระ” และลงมือทำได้เต็มที่ แถมไม่เครียดจนเกินไป

ประตูเข้าได้ หลายครั้งก็ออกได้

ความผิดพลาด หลายครั้งก็เป็น “แรงใต้ปีก” ทำให้เราเก่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ลองได้ “ลงมือทำ” สิ่งที่ฝันไว้ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับ “ชีวิต” มักจะมีมุมที่เรานึกไม่ถึงเสมอ

ชีวิตเป็นเรื่องสนุก ล้มได้ พลาดได้ เริ่มใหม่ได้

จงใช้ให้เต็มที่

ผมบอกกับเทมส์ว่า

“อย่าคิดว่า ถ้าไม่ได้ แล้วทุกอย่างจะไม่ดีไปเสียหมด”

ผมจำได้ว่า ตอนที่เพิ่งเรียนจบ จะเครียดมากเรื่องที่ทำงาน

ตั้งสมมุติฐานไปเองต่างๆ นานา

ถ้าเราได้เข้าทำงานที่นี่นะ ชีวิตเราจะดี๊ดี อยู่ได้ยาวๆ

พอทำงานมาได้สิบกว่าปี ก็พบว่า “ไม่มีงานอะไรเลยที่ไม่มีปัญหา”

ทุกสิ่งจะดี ไม่ดี อยู่ที่ “ทัศนคติ” ของเราเอง

ถ้าเราไม่ได้งานนี้ งานอื่นๆ ก็ยังมีอีกมากมาย ที่เราสามารถทำและมีความสุขกับมันได้

งานแรก ไม่ใช่ประตู ที่เข้าได้ แล้วออกไม่ได้

ประตูแรก เข้าไม่ได้ ก็ยังมีประตูอีกหลายบานรอให้เราไปเปิดดู

ถ้าคิดได้แบบนี้ รับรองว่า “ไม่ประหม่า”

“สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ”

ทัศนคติของคนโลกสวย ที่สร้างสรรค์โลกให้งดงาม