จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (6)

ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) /ภาพ :สาวิตรี ตลับแป้น

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมานานมากแล้วเกี่ยวกับประวัติของบ้าน “เรือนไทย” ใน “ซอยสวนพลู” ว่ามีเจ้าของดั้งเดิมท่านตามมาอยู่ด้วย หลังจากที่อาจารย์คึกฤทธิ์ซื้อเรือนหลังนี้มาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รื้อบ้านเรือนไทยเก่าแถวเสาชิงช้าเพื่อจะนำไปทิ้ง

อาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ได้นำมาปรับปรุงซ่อมแซมแล้วก็ประกอบขึ้นเพื่อเป็น “ห้องพระ” อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้าน

อยู่ต่อมาวันดีคืนดีก็มี “สามล้อถีบ” เดินเข้ามาทวงเงินว่ามาส่งคุณย่าที่บ้านนี้แต่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง (ต้องกรุณานึกย้อนกลับไปไกลสักหน่อย เอาเป็นว่ายังอยู่ในสมัยที่กรุงเทพฯ ยังมี “สามล้อถีบ”) ท่านบอกว่าเราก็ให้ไป

ท่านอาจารย์เป็นคนรักหมา เลี้ยง (น้อง) หมาไว้หลายตัว หลายรุ่น

ท่านเล่าว่า อยู่มาในดึกของคืนวันหนึ่งตกใจตื่นขึ้นเพราะได้ยินเสียง (น้อง) หมาร้องตรงหน้าเรือนที่เป็นห้องพระเหมือนถูกคนตีเอา แต่ไม่เห็นมีใครที่ไหน นึกขึ้นมาได้ก็ดุ (น้อง) หมาว่า

“ที่นอนมีเยอะแยะก็ไม่นอน ไปนอนหน้าเรือนที่เขามีเจ้าของทำไม”

เสร็จแล้วหันหน้าไปทางเรือนหลังนั้น แล้วพูดว่า “นี่ก็ไม่รู้อะไรกัน ดึกดื่นป่านนี้แล้ว คนเขาจะหลับจะนอนยังลุกขึ้นมาตี (น้อง) หมาอยู่ได้”

จำคำพูดของท่านได้เสมอมาไม่เคยลืมเลือนเลย เพราะท่านบอกว่า “ดุซะทั้งผีทั้ง (น้อง) หมา–“

 

เรื่องเล่าแบบนี้จดจำได้แม่นยำมากกว่าเรื่องการเมืองซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์มีอันต้องเข้าไปคลุกคลี ต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย อย่างยาวนานจนกระทั่งสุดท้ายของชีวิต การเมืองของประเทศไทยแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงล้มลุกคลุกคลานวนเวียนกลับมาเริ่มต้น “ร่างรัฐธรรมนูญ” กันใหม่อยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20” ซึ่งเพิ่งจะประกาศใช้ในปี พ.ศ.2560–

ต้องรอดูว่า “อำนาจ” จะเปลี่ยนไปอยู่ในมือประชาชนได้หรือไม่?

และตัวแทนประชาชนที่เรียกกันว่า “นักการเมือง” ทั้งหลายจะมีการปรับเปลี่ยนความคิดไปสู่ความมีคุณภาพด้านความสามารถ และซื่อสัตย์ จนกระทั่งไม่ถูกรังเกียจดูถูกดูแคลนว่าเลวร้ายจนกระทั่งต้องร่างกฎหมายออกมากีดกัน ป้องกันการ “เข้าสู่อำนาจ”

อาจารย์คึกฤทธิ์ นั้นถึงจะเป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13) ที่มาจากการ “เลือกตั้ง” เดินเข้าสู่การเมืองตามเส้นทางประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย แต่ระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะ “ยุบสภา” คืนอำนาจให้ประชาชน ท่านยังพูดถึงผู้แทนราษฎรว่า “เป็นผู้ที่มีอำนาจวาสนา จะไล่รัฐบาลออกเมื่อไรก็ได้?”

อาจารย์พูดถึงรัฐบาลผสมชุดที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี และนักการเมืองภายหลังที่ยุบสภาเป็นรัฐบาลรักษาการว่า

“โดยตัวของมันเองย่อมเป็นบทเรียนที่ดี แม้ว่าจะราคาแพงสำหรับประเทศเราทั้งประเทศ ในการที่จะเรียนรู้ประชาธิปไตยเป็นอย่างไร กลุ่มพลังผลักดันนั้นทำอย่างไร รัฐบาลผสมปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สุขของสังคมในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้อย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือประเทศเราได้เรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะกรองเอา “ผู้แทนราษฎร” ที่เป็นคนดี สุจริตจริงใจ ไม่เห็นแก่ความทะยานอยากส่วนตัว แต่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติออกมาเสียจาก “นักการเมือง” ซึ่งมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว และไม่แยแสเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย”

 

“เรือนไทย” ใน “ซอยสวนพลู” ของอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นเรือนไทยประยุกต์เพื่อให้ใช้ประโยชน์ใต้ถุนบ้านได้เป็นอย่างดี แบ่งส่วนเป็นห้องปรับอากาศสำหรับจัดงานรับแขกสำคัญๆ แขกต่างประเทศได้ รวมทั้งบริเวณทั่วไปก็ใช้รับแขกได้ทั้งหมด รวมทั้งเป็นสถานที่ประชุม รับประทานอาหาร จะเรียกว่าอเนกประสงค์ทีเดียว โดยไม่เสียรูปแบบไปเป็นอย่างอื่น ยังคงเป็นเรือนไทยที่สวยงาม ทุกวันนี้ก็สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ เพราะได้เก็บรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม ศึกษาเรียนรู้

สำหรับเรือนหลังที่เป็นห้องพระท่านเจ้าของบ้าน ไม่ค่อยได้เปิดเข้าไปบ่อยนัก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ นานากับบ้านหลังนี้จึงเปิดเข้าไปดู แล้วก็ต้องตกใจกันไปหมดว่าที่เสาเรือนมีการ “ตกน้ำมัน”

ทุกวันนี้ไม่รู้เป็นอย่างไร? แต่สำหรับท่านที่เคยได้เข้าไปชมเรือนหลังนี้ก็คงจะเคยเห็นร่องรอยการปิดทองคำเปลวไว้ที่เสาเรือนต้นที่ตกน้ำมันดังกล่าว

 

เคยเขียนเรื่อง “เมื่อบ้านคึกฤทธิ์ถูกตำรวจบุก” ไว้เมื่อเกือบ 40 ปีแล้ว ขอหยิบบางท่อนมาให้อ่านอีกครั้งหนึ่ง

“คืนวันที่ 19 สิงหาคม 2518 เวลาประมาณ 24.00 น. คือฤกษ์ที่ตำรวจผู้รักษากฎหมายเปลี่ยนมาเป็นผู้ทำลายกฎหมายเสียเอง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งยิงปืนบุกเข้าทำลายทรัพย์สินข้าวของในบ้านจนพังพินาศย่อยยับนั้น ตัวท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ที่บ้าน ท่านกำลังพบปะเจรจากับตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ และหลังจากที่ทราบข่าวว่าบ้านพักถูกบุกเข้าทำลายแล้วท่านก็ตัดสินใจเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลทันที กว่าจะกลับเข้าบ้านอีกครั้งหนึ่งก็สว่างแล้ว

ท่านเรียกเด็กในบ้านเพื่อขอกาแฟดื่มสักถ้วยก่อนจะกล่าวต่อว่า ถ้วยกาแฟยังพอมีเหลืออยู่ไหม?” เรื่องนี้ผ่านมาร่วม 4 ปี ก็ดูเหมือนจะรู้กันโดยทั่วไปว่าหลังจากวันเกิดเหตุได้เพียงวันเดียว อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “อโหสิกรรมให้หมดแล้ว ไม่ต้องการจะเอาความแต่อย่างใด” แม้จะมีคดีฟ้องร้องกันในศาลต่อมาอีกนานหลายปี แต่ในที่สุดศาลก็สั่งยกฟ้อง

เชื่อว่าท่านอโหสิกรรมให้จริงๆ ไม่เหลืออะไรติดค้างอยู่ในใจอีก

ท่านทำใจได้เพราะรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวค่อนข้างสลับซับซ้อนในทางการเมือง

การที่ตำรวจบุกบ้านนายกรัฐมนตรี ก็ลองคิดลองตรองกันดูให้ดีว่าสืบเนื่องมาจากอะไร ใครอยู่เบื้องหลัง ใครเป็นผู้สร้างสถานการณ์ และสร้างขึ้นเพื่ออะไร

เชื่อว่าผู้ที่เข้าใจเกมการเมืองย่อมรู้กันทุกคน กระทั่งถึงวันนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ระดับสูงบางคนก็มีอันล้มหายตายจาก จะเรียกว่าเป็นกรรมของเขาก็คงไม่ผิด

อาจารย์คึกฤทธิ์รู้ทันเกมการแย่งชิงอำนาจจึงยอมเสียทรัพย์สินส่วนตัว ดีกว่าจะต้องสูญเสียความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง

ถ้าหากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่คลี่คลายไปในทางที่ดี หรือต้องการรักษาทรัพย์สมบัติในบ้านของท่านไว้ ก็ยังไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ผู้ที่กำลังจ้องเพื่อเอาเหตุการณ์วุ่นวายเป็นข้ออ้างนั้นได้นั่งรออยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาส

อย่างน้อยที่สุดการ “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” ก็ไม่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล “สหพรรค” ที่มีอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงจะชั่วดีถี่ห่างอย่างไรในความสับสนวุ่นวายของพรรคที่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลก็ตามที

“ผมยอมเสียทรัพย์สินดีกว่าที่จะต้องเสียชีวิตผู้คน ทรัพย์สินนั้นเราสามารถจะหาเอาใหม่ได้ และซ่อมแซมมันได้ แต่ถ้าหากมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น เราไม่สามารถที่จะซ่อมแซมชีวิตเหล่านั้นได้ อย่างน้อยที่สุดลูกหลานของประชาชน ผมจะเอาที่ไหนมาคืนเขา”

 

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ตำรวจบุกพังบ้านของท่าน หรือต่อมาเกิดกรณีที่นักเรียนอาชีวะยกทัพมาบุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ล้วนมีที่มาที่ไปทั้งสิ้น ผู้กระหายอำนาจต้องการเอาเหตุการณ์วุ่นวายเพื่อเข้า “ยึดอำนาจ” โดยเอาชีวิตประชาชนเป็นเดิมพันทั้งสิ้น

ท่านเลือกที่จะรักษา “ชีวิตประชาชน” พร้อมกับรักษา “ประชาธิปไตย” ซึ่งในที่สุดท่านก็ต้อง “ยุบสภา” คืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเลือกตั้งกันใหม่

หลังเหตุการณ์ “ตำรวจ” บุกเข้าทำลายข้าวของพร้อมหยิบฉวยทรัพย์สินในบ้าน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงไม่ว่านก ปลา น้องหมา ต้องกระจัดกระจายสูญหายกระทั่งถึงล้มตาย ก็ยังไม่มีใครสำรวจตรวจสอบบ้านของท่านอย่างละเอียดให้ถ้วนทั่ว จนกระทั่งวันหนึ่งมีผู้แหงนหน้าขึ้นเห็นรอยกระสุนปืนที่ตำรวจยิงจากใต้ถุนขึ้นไปยังห้องพระของเรือนไทยหลังที่ท่านซื้อมาจากกรุงเทพมหานคร

อาจารย์สั่งให้เปิดเรือนหลังนั้นเพื่อทำการตรวจสอบ แต่ก็ไม่มีอะไรเสียหายมากไปกว่าแค่รอยกระสุนปืนทะลุพื้นขึ้นมาเท่านั้น เพียงแต่ที่เสาเรือนต้นเดิม มีการ “ตกน้ำมัน” ไหลเยิ้มขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

อาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “คุณย่าแกคงตกใจมากนะ–“