“โกสุม” สมุนไพรในพระไตรปิฎก ต้มน้ำดื่มรักษาภาวะมีบุตรยาก

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

สมุนไพรกำลังเฟื่องฟูตามนโยบายรัฐบาล มีการลงทุนทุ่มเงินนับพันล้านบาทสร้างเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรเต็มกำลัง และส่งเสริมเมืองสมุนไพรนำขบวน 4 แห่ง จากเหนือเลือกเชียงราย อีสานที่สกลนคร ภาคใต้ให้สุราษฎร์ธานี และที่ภาคกลางไม่ใช่ใครอื่นยกให้จังหวัดปราจีนบุรี

ข่าวว่ากำลังจะเพิ่มเมืองสมุนไพรอีกหลายแห่ง เพื่อเป็นความหวังสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศไทย

การส่งเสริมสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจนั้นดี แต่ถ้าให้ดียิ่งขึ้นน่าจะสร้างสมดุลที่ไม่มองแค่เรื่องเงินทองและการแข่งขัน แต่ช่วยกันฟื้นฟูการปลูกต้นไม้หรือสมุนไพรกันเต็มเมือง น่าจะเริ่มในวัด ในที่สาธารณะ หรือในพื้นที่ส่วนตัวก็ได้

ถ้าใครมีที่ดินว่างๆ ไม่รู้จะปลูกอะไรดี ก็ลองมาเรียนรู้การปลูกต้นไม้หรือสมุนไพรที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกดีไหม

ได้เชื่อมโยงวัฒนธรรมงานบุญและเรียนรู้ประโยชน์ไปพร้อมกัน

ซึ่งทางมูลนิธิสุขภาพไทยกำลังรวบรวมและจะจัดนิทรรศการเผยแพร่ในช่วงวันวิสาขบูชา ให้เป็นวันแห่งการปลูกต้นไม้หรือปลูกสมุนไพรด้วย

เริ่มแนะนำต้นแรก โกสุม เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติและพระไตรปิฎก ดังข้อความในพระไตรปิฎก กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ถือ ดอกโกสุมและน้ำ ไปโปรยและรดที่ต้นโพธิ์ด้วยกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงหลุดพ้นแล้ว” (ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า : 235)

และ “ข้าพเจ้านุ่งหนังสัตว์และห่มผ้าเปลือกไม้ ถือน้ำเจือดอกโกสุม เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” และ “ทำจิตของตนให้เลื่อมใส เกิดโสมนัส ประคองอัญชลี ถือน้ำเจือดอกโกสุมไปประพรมพระพุทธเจ้า” (ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า : 506)

หากพิจารณาเหตุการณ์ข้างต้น โกสุมเป็นไม้ที่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ายิ่งนัก เราน่าจะมารู้จักต้นโกสุมกัน ชื่อโกสุมเป็นชื่อเรียกในภาคกลาง แต่มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า “เขี้ยวฟาน” นับเป็นไม้อยู่ในสกุล Chionanthus มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chionanthus velutinus (Kerr) P.S.Green ชื่อในท้องถิ่นอีสานว่า “หำฟาน”

ลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น อยู่ในวงศ์มะลิ (Oleaceae) ลำต้นและกิ่งอ่อนมีขนสีนวลเทา ใบเดี่ยว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกสีขาว ผลเมื่ออ่อนสีเขียว ผลแก่สีม่วงหรือสีดำ ร่วงง่าย ใบมีรสเผ็ด

คนอีสานบ้านเฮานำใบมากินกับหมากแทนใบพลูได้

Chionanthus ramiflorus Roxb. มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า อวบดำ

เมื่อพิจารณาจากถิ่นกำเนิดของต้นโกสุมชนิดนี้ พบว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและพบการกระจายเฉพาะในประเทศไทย ดังนั้น ต้นโกสุมที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจึงไม่น่าจะใช่ต้นโกสุมชนิดนี้

ซึ่งพืชที่อยู่ในสกุลโกสนหรือ Chionanthus พบทั่วโลกว่ามีรายงานถึง 147 ชนิด

แค่ในประเทศไทยยังพบพืชในสกุลนี้ 14 ชนิด ได้แก่

Chionanthus amblirrhinu P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า ข้าวตอกหอม, Chionanthus calcicola (Kerr) Kiew มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า ข้าวตอกใต้, Chionanthus callophyllus Blume มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า กระดูกไก่ใบใหญ่, Chionanthus decipiens P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า คล้ายข้าว, Chionanthus eriorachis (Kerr) P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า เก็ดส้าน

Chionanthus mala-elengi (Dennst.) P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า ข้าวสารหลวง, Chionanthus maxwellii P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า ขาวสามหมื่น, Chionanthus microbotrys (Kerr) P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า พวงเล็ก, Chionanthus microstigma (Gagnep.) P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า กระโดงแดง, Chionanthus parkinsonii (Hutch.) Bennet & Raizada มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า มะเขือเปราะ

Chionanthus ramiflorus Roxb. มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า อวบดำ, Chionanthus sutepensis (Kerr) P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า ข้าวสารสุเทพ, Chionanthus thorelii (Gagnep.) P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า ช้าตะเภา, Chionanthus velutinus (Kerr) P.S. Green มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า เขี้ยวฟาน (โกสุม)

พืชในสกุลนี้ทั้งหมดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก และเมื่อดูจากข้อมูลจะพบว่า อวบดำ หรือ Chionanthus ramiflorus Roxb. และ ข้าวสารหลวง หรือ Chionanthus mala-elengi (Dennst.) P.S. Green มีรายงานว่าพบในหลายประเทศ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ไทย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และหมู่เกาะในทะเลอันดามัน

ดังนั้น ดอกโกสุมที่มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฎก จึงน่าจะเป็นพืช 2 ชนิดหลังนี้

ข้าวสารหลวง หรือ Chionanthus mala-elengi (Dennst.) P.S. Green

รายงานของกรมป่าไม้พบว่า Chionanthus ramiflorus Roxb. หรืออวบดำ พบได้มากในภาคใต้ แต่จากรายงานบางส่วนของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบพืชชนิดนี้กระจายตัวอยู่ทั่วไปในภาคอีสานด้วย

มีชื่อในภาษาถิ่นของอีสานว่า “พูมาลี” ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใบมีรสเผ็ด จึงพบว่าในบางชุมชนนำมาใช้เคี้ยวแทนใบพลูกินกับหมาก โดยเฉพาะในช่วงสงครามที่หมากพลูหาได้ยากก็มีคำเล่าขานมาใช้พืชนี้กินแทนกันได้

ในตำรายาไทยนำรากมาต้มน้ำ แล้วอมน้ำช่วยให้ฟันทน และเคี้ยวอมรากเพื่ออดบุหรี่ ในตำรับยาสมุนไพรที่เคยเก็บความรู้จากหมอพื้นบ้านแถบโรงพยาบาลกาบเชิง จ.สุรินทร์ ใช้ส่วนลำต้นโกสุมผสมร่วมเนื้อไม้ต้นตะแบกป่า (มะเกลือเลือด) ต้มน้ำดื่มรักษาโรคมุตกิด โรคระดูขาว รักษาภาวะมีบุตรยาก และในสตรีที่มีรอบเดือนผิดปกติ

สำหรับต้น Chionanthus mala-elengi (Dennst.) P.S. Green หรือข้าวสารหลวง ยังไม่มีรายงานการใช้ประโยชน์ในประเทศไทยเลย แต่ในประเทศอินเดียมีการใช้โดยเข้ายาในตำรับรักษางูกัด รักษาอาการเวียนศีรษะ และเข้ายารักษาโรคลมชัก และต้น Chionanthus velutinus (Kerr) P.S. Green หรือเขี้ยวฟาน (โกสุม) ในท้องถิ่นภาคอีสานเรียกพืชชนิดนี้ว่า “หำฟาน” ใบกินได้ โดยมักใช้เคี้ยวแทนหมากได้เหมือนกับใบของอวบดำหรือพูมาลี

พืชในสกุลนี้ในไทยมีถึง 14 ชนิด ทุกชนิดสามารถนำมาปลูกในสวนป่าหรือในวัดได้เป็นอย่างดี เป็นไม้ค่อนข้างทนทาน ที่สำคัญมีกลิ่นหอมทั้งดอกและใบ ปัจจุบันมีจำนวนประชากรค่อนข้างน้อย ถ้าไม่เร่งอนุรักษ์และขยายพันธุ์ต่อไป อนุชนคนรุ่นหลังจะไม่รู้จักและไม่มีสมุนไพรให้ศึกษาพัฒนาต่อยอดได้สืบไป