มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / ในหลวง เสด็จงานสถาปนิก

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ในหลวง เสด็จงานสถาปนิก

 

มองบ้านมองเมือง คงไม่ได้พาไปมองงานสถาปนิก ’63 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคมนี้ ที่เมืองทองธานี โดยปีนี้มีหัวข้อว่า มองเก่า ให้ใหม่

แต่มองบ้านมองเมือง ก็ยังอยากร่วมกระแส จึงขอมองเรื่องเก่า ในรัชกาลใหม่ ด้วยการย้อนอดีตไปสู่เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของวิชาชีพสถาปัตยกรรม และสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเฉพาะงานนิทรรศการด้านสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้าง ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520

ด้วยหนึ่งในจำนวนผู้เข้าชมงานสถาปนิก ’45 จำนวนกว่าหกหมื่นคนนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2545 เวลาประมาณ 19.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรงานสถาปนิก ’45 เป็นการส่วนพระองค์ ที่ศูนย์การแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

 

เมื่อเสด็จถึง ณ สถานที่จัดงาน นายกสมาคมถวายการต้อนรับ และขอประทานอนุญาตเบิกผู้รอเฝ้าฯ รับเสด็จ ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการจัดงาน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กรรมการสภาสถาปนิก กรรมการสมาคม และกรรมการจัดงาน ท่ามกลางบรรดาสถาปนิกน้อยใหญ่ และประชาชนที่เฝ้าฯ รอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเข้าสู่ภายในอาคาร ทอดพระเนตรซุ้มแสดงวัสดุก่อสร้างของบริษัทต่างๆ เนื่องจากการเสด็จครั้งนี้เป็นการส่วนพระองค์ จึงทรงสวมฉลองพระองค์ด้วยเสื้อยืดแขนสั้นสีแดง และกางเกงยีนส์สีดำ เผยให้เห็นถึงพระวรกายที่แข็งแรงและได้รูป แม้ว่าในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุจะครบ 50 พรรษาแล้ว

ทั้งนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินเช่นผู้เข้าชมงานทั่วไป ทำให้สถาปนิก นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มีโอกาสชื่นชมพระจริยวัตรอย่างใกล้ชิด สร้างความรู้สึกปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง

 

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรวัสดุก่อสร้าง เพื่อจะนำไปใช้ในการอนุรักษ์หมู่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต รวมทั้งการปรับปรุงต่อเติมหมู่พระตำหนัก วังศุโขทัย ที่ประทับของพระองค์ในเวลานั้น จึงเสด็จทอดพระเนตรวัสดุก่อสร้างต่างๆ ประกอบด้วย สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ห้องน้ำ กระเบื้องเคลือบผนังและพื้น พื้นไม้สำเร็จรูป กระเบื้องคอนกรีตและกระเบื้องซีเมนต์สำหรับมุงหลังคา ประตู หน้าต่าง และเครื่องครัว

ทั้งนี้ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น

ด้วยทรงให้เหตุผลกับประธานจัดงานที่ตามเสด็จว่า จากประสบการณ์ในการใช้วัสดุก่อสร้างนำเข้าจากต่างประเทศ พบว่า มีคุณสมบัติไม่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศและพฤติกรรมการใช้สอยของคนไทย เกิดปัญหาและเสียหายอยู่เสมอ

การแก้ไขซ่อมแซมเปลี่ยนแทนยุ่งยาก เนื่องจากขาดผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งต้องส่งกลับไปยังประเทศผู้ผลิต ยิ่งทำให้เสียเวลามากขึ้น

ที่สำคัญคือ ราคาแพง ในขณะที่วัสดุก่อสร้างของไทยจะคงทนกับสภาพดินฟ้าอากาศ และเหมาะกับการใช้สอยมากกว่า อีกทั้งราคาประหยัด จึงเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในวัสดุสังเคราะห์สมัยใหม่ ที่ออกแบบสำหรับทดแทนวัสดุธรรมชาติ เช่น กระเบื้องเคลือบลายหินอ่อนธรรมชาติ บานประตูไวนิล เป็นต้น

ทรงพระราชทานข้อคิดว่า วัสดุที่มาจากธรรมชาติ นอกจากจะหมดสิ้นไป การเกิดทดแทนใหม่ ยังต้องใช้เวลานาน อีกทั้งยังยุ่งยากในการก่อสร้างและการใช้งาน อย่างเช่น หินอ่อนธรรมชาติ ที่ลวดลายไม่สม่ำเสมอ ทำให้การปูในพื้นที่ขนาดใหญ่ทำได้ยาก เมื่อเทียบกับกระเบื้องเคลือบจากโรงงานที่มีลวดลายสม่ำเสมอ มีให้เลือกมากชนิดกว่า ที่สำคัญ มีความคงทน สามารถชำระล้างทำความสะอาดได้ง่าย

เช่นเดียวกับบานประตูไวนิลที่เหมาะสำหรับการใช้ห้องน้ำ เพราะคงทนไม่ผุพังง่ายเหมือนประตูบานไม้ธรรมชาติ หรือการใช้พื้นไม้สำเร็จรูปบนพื้นคอนกรีต ช่วยลดไม้คานตงและยังป้องกันปลวกได้

ระหว่างการเสด็จทอดพระเนตรสินค้าต่างๆ นั้น ทรงตัดสินพระทัยเลือกกระเบื้องซีเมนต์ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับใช้มุงหลังคาพระที่นั่งฯ และพระตำหนัก รวมทั้งทรงผสมสีเหลืองในเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง ที่ซุ้มของบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับใช้ทาผนังหมู่พระที่นั่ง

ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทรงสนพระทัย ได้มีพระราชกระแสให้เจ้าหน้าที่บริษัทรวบรวมตัวอย่าง และรายละเอียดถวายทอดพระเนตรภายหลัง

ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จงานสถาปนิก ’45 นั้น ทรงซักถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่เฝ้าฯ รับเสด็จอย่างละเอียด จนผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ล้วนแปลกใจและตื่นเต้น ด้วยไม่คาดคิดมาก่อนว่า ทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมมากเช่นนี้

อีกทั้งทรงพระเกษมสำราญ แย้มพระสรวลกับผู้เข้าชมงาน ที่คอยเฝ้าฯ รับเสด็จระหว่างทาง และตรัสกับคณะผู้ติดตามอย่างสนุกสนาน

หลังจากทรงทอดพระเนตรซุ้มแสดงสินค้ายาวนานกว่าหนึ่งชั่วโมง จึงได้เสด็จฯ ประทับที่สโมสรสถาปนิก ทรงพระราชทานอนุญาตให้ประธานจัดงาน และบริษัทต่างๆ เข้าถวายของที่ระลึก

แล้วจึงเสด็จกลับ

 

พระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ในการเสด็จทอดพระเนตรงานสถาปนิก ’45 ในครั้งนั้น

นอกจากจะเป็นเกียรติประวัติสำหรับสมาคมสถาปนิกสยามฯ คณะผู้จัดงานและบริษัทที่แสดงสินค้าในงานแล้ว

ยังทำให้พสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี มีโอกาสรับรู้ตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วว่า

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง