แปลงร่าง“มนุษย์คำคม”บนโลกโซเชียลฯ ลองคิดจาก“คำคม” ในแบบ “หนุ่มเมืองจันท์”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4-10 ก.ย. 2558 ชื่อบทความ “คิดจาก “คำคม””

 

ตอนนี้ชีวิตของผมอยู่ในห้องเรียนเป็นประจำ

เพราะ ABC (Academy of business creativity) หรือสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ ที่ผม และ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ ร่วมกันทำขึ้นมาสนุกๆ

ตอนนี้แตกแขนงไปมากมาย มีทั้ง ABC TALENT และ ABC REAL

การที่มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงมาบรรยายในห้องมากมาย ย่อมถือเป็น “อาหารสมอง” อันโอชะของผม

ถึงจะไม่ได้เป็น “นักข่าว” แล้ว แต่สัญชาตญาณ “นักข่าว” ก็อยู่ในสายเลือด

ผมเป็นคนชอบฟังครับ

ชอบมาก…

ดังนั้น ถ้าวันไหนไม่มีคิวขึ้นเวทีเพื่อซักถามวิทยากร ผมจะนั่งประจำการอยู่หลังสุด

นั่งฟังวิทยากรแล้วจดบันทึกอย่างมีความสุข

สมุดบันทึกเล่มเล็กๆ สีดำของผมจึงเต็มไปด้วยความรู้มากมาย

เหมือนกับ “เหมืองแร่ความรู้”

ยิ่งฟังเยอะ ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไร ผมยิ่งมีความรู้สึกอยากเขียนมากเท่านั้น

อยากนั่งคิดและเรียบเรียงข้อมูลเหล่านี้ให้เป็น “ตัวอักษร”

แต่การเขียนหนังสือนั้นต้องใช้ “เวลา” และ “สมาธิ”

ต้อง “โฟกัส”

 

ช่วงนี้เวลาในชีวิตของผมให้กับหลักสูตร ABC และรายการฟาสต์ฟู้ดธุรกิจทางช่องเวิร์คพอยท์เป็นหลัก

ไม่สามารถ “โฟกัส” กับงานเขียนเป็นเล่มได้

ผมนึกถึงคำพูดของ “สังข์” โต๊ะกลมโทรทัศน์ ที่บอกว่าเขาชอบทำละครเวทีมากกว่ารายการทีวี

เพราะละครเวทีนั้น เราจะใช้เวลาหลายเดือนอยู่กับสิ่งๆ เดียว

ค่อยๆ ปลุกปั้นตั้งแต่เริ่มต้น

ยิ่งทำ ยิ่งอิน

ไม่เหมือนรายการโทรทัศน์ที่ต้อง “เผาทิ้ง” ทุกสัปดาห์

สัปดาห์ใหม่ เริ่มต้นใหม่

คงคล้ายๆ กับนิตยสารรายสัปดาห์

แฮ่ม…ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วครับ

 

พอต้องคิดรายการโทรทัศน์ทุกสัปดาห์ “เวลา” ที่จะ “โฟกัส” กับงานเขียนก็น้อยลง แต่ความรู้สึก “อยากเขียน” ก็ยังอยู่

ความรู้สึกนี้ยิ่งชัดเมื่อผมนั่งอ่านสมุดบันทึกสีดำ

มี “ข้อคิด” และ “คำคม” มากมาย

บางเรื่องผมก็เอาไปทำมาหากินแล้ว

แต่บางเรื่องก็ยังไม่ได้เขียน

ส่วนหนึ่งเพราะไม่เข้ากับประเด็นที่เลือกมาเขียนในคอลัมน์

พื้นที่จำกัดเลยแวะข้างทางไม่ได้

เนื้อหาดีๆ ที่ไม่ได้เขียนถึงก็คงคล้ายๆ กันกับ “เพลง” ใน “หน้า B” ของศิลปินดังๆ

ไพเราะแค่ไหนก็ไม่ค่อยได้ฟังในคอนเสิร์ต

…น่าเสียดาย

 

ไม่เชื่อลองอ่านดูนะครับ

“มีสิ่งเดียวที่ผู้บริหารต้องทำ คือ Do the right thing ทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

เป็นคำพูดของ คุณวรวุฒิ อุ่นใจ บอสใหญ่ของ “เซ็นทรัลออนไลน์-บีทูเอส” และ “ออฟฟิศเมท”

เขาบอกว่าเป็นหลักการบริหารที่เขาได้จากการเรียนที่ “นิด้า”

ฟังดูเหมือนกำปั้นทุบดิน

แต่ “จริง” มาก

อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ

ทำงานมานานๆ เราจะรู้เองว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง

และควรทำ

ผู้บริหารที่ดี คือ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง

หน้าต่อไป

“คนที่อยู่ข้างหน้าสำคัญที่สุด”

เป็นคำพูดของ คุณอาณัติ จ่างตระกูล อดีตผู้บริหารของ “ซัมซุง”

ปัจจุบันเป็นบอสใหญ่ของ “เพาเวอร์บาย”

คนนี้เก๋ามากครับ

ทั้งกลยุทธ์ธุรกิจและหลักการบริหารคน

บางเรื่องฟังดูเหมือนเป็นหลักง่ายๆ แต่สำคัญมาก

จากประสบการณ์การทำงานของผม

ฟังปั๊บรู้เลยว่า “ของจริง”

“คนที่อยู่ข้างหน้าสำคัญที่สุด”

นี่คือ หลักการง่ายๆ ของคุณอาณัติ

เขาบอกว่าถ้าลูกน้องเดินเข้ามาปรึกษางานที่ห้อง

ไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่

เขาจะวางงานทั้งหมด

แล้วนั่งฟังลูกน้อง

“ตา” และ “หู” ของเขาจะอยู่ที่ลูกน้อง

ไม่ใช่ “ตา” มองหน้าจอ แต่ “หู” ฟังลูกน้อง

คุณอาณัติบอกว่ามนุษย์ทุกคนมีเซ้นส์ว่าคุณกำลังฟังเขาอยู่หรือเปล่า

ปัญหาบางปัญหา เราอาจแก้ไขให้เขาไม่ได้

แต่ขอเพียงแค่รับฟัง เขาก็รู้สึกดีแล้ว

คิดแบบใจเขาใจเรา

เวลาเราพูด เราก็อยากให้คนอื่นฟัง

ครับ คนที่อยู่ข้างหน้าสำคัญที่สุด

พลิกหน้าต่อไป

“ความคิดสร้างสรรค์ คือ ไฟ ความรู้ คือ ฟืน”

เป็นคำพูดของ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์ ครับ

“ความคิดสร้างสรรค์” จะกลายเป็นจริงได้

ก็เหมือนกับกองไฟที่ลุกโชนขึ้นมา

ลำพังแค่ “ไอเดีย” ไม่สำเร็จ

ต้องมี “ความรู้” เป็นพื้นฐานด้วย

เหมือนกับ “ฟืน” ที่ซ่อนตัวอยู่ใน “แสงไฟ”

พลิกหน้าต่อไป

“การที่เราเริ่มต้นแย่ๆ ไม่ได้หมายความว่าเราจะจบดีๆ ไม่ได้”

เป็นคำพูดของ “พี่จิ๋ม” สุวภา เจริญยิ่ง

“พี่จิ๋ม” เป็นนักการเงินที่เชี่ยวชาญเรื่องตัวเลข

แต่เข้าใจในมนุษย์ดีมาก

คนเราชอบคิดว่าถ้าเริ่มต้นดี ก็จะจบดี

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรแน่นอน

คนจำนวนมากที่เริ่มต้นแบบติดลบ แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้

ครับ เริ่มต้นแย่ ไม่จำเป็นต้องจบแย่

เริ่มต้นแย่ แต่เราสามารถจบดีๆ ได้

เราคือคนกำหนดตอนจบของเราเอง

อ่านประโยคนี้ของ “พี่จิ๋ม” แล้วรู้สึกดีขึ้น

แฮ่ม…เริ่มต้นแย่ๆ ด้วย “อยากเขียน” แต่ไม่มี “เวลา”

แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะจบดีๆ ไม่ได้

พลิกหน้าต่อไป

เป็นคำคมของ “ด้วง” ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกมือหนึ่งของเมืองไทย

เขาให้คำจำกัดความของ “ความคิดสร้างสรรค์” ครับ

“อะไรที่เป็นไปได้ในบริบทที่มี”

ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่จะคิดทำอะไรก็ได้

แบบนั้นเรียกว่า “ฟุ้ง”

ต้องคิดภายใต้ “บริบทที่มี”

ต้องคิดในสิ่งที่เป็นไปได้ภายใน “ข้อจำกัด” ที่มีอยู่

อ่านปั๊บ กระจ่างแจ้งแจ่มภพเลยครับ

เพราะดูจาก “บริบทที่มี” ในชีวิตตอนนี้แล้ว

การลงมือเขียนหนังสือเป็นเล่มคงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปได้

พอคิดได้ ผมก็ปรับโหมดความคิดใหม่ทันที

ตั้งคำถามง่ายๆ

“อะไรอยู่ตรงหน้า”

แล้วคิดแบบคุณอาณัติ

“สิ่งที่อยู่ตรงหน้าสำคัญที่สุด”