ย้อนดูวิธีแก้ปัญหาช่วยคนที่อยากมีบ้าน (สำหรับผู้มีรายได้น้อย)

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส

บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย

 

เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานข่าวในมติชนรายวันว่า ผลจากการสอบถามผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศเกี่ยวกับความต้องการที่อยู่อาศัย

พบว่าคนจนเมินบ้านหลังแรกจากภาครัฐ แต่อยากได้โครงการเอกชน

โดยผู้มีรายได้น้อยมากถึงร้อยละ 75.40 ต้องการบ้านหลังแรกที่พัฒนาโดยเอกชน ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนเรื่องฟรีการโอน ฟรีค่าจดจำนอง และคงอัตราดอกเบี้ย 3% ตลอดอายุของสัญญา ที่ผู้มีรายได้น้อยพร้อมที่จะผ่อนได้มากถึง 3,800 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลาที่อาจน้อยกว่า 40 ปีก็ได้

ข่าวนี้คงเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามจะจัดหาบ้านหลังแรกให้กับผู้มีรายได้น้อย คงจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติจัดหาบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย ต้องคิดและประเมินผลงานที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการเคหะแห่งชาติ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้มากนัก

บ้านที่ผลิตขึ้นมาก็ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน ด้วยรูปแบบและคุณภาพสู้ภาคเอกชนไม่ได้

 

ข่าวนี้ทำให้ผู้เขียนย้อนคิดถึงเรื่องราวในอดีต เมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน ที่มีการศึกษาเปรียบเทียบระบบสวัสดิการบ้านพักอาศัย สำหรับอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลานั้น จัดสรรเงินรายได้มากถึงปีละสิบล้าน สำหรับช่วยเหลือคณาจารย์

แต่มีอาจารย์ไม่ถึงสิบคนที่ได้กู้ยืมเงินไปปลูกสร้างบ้าน ยังมีปัญหาการชำระเงินคืน ทั้งไม่ตรงเวลา ไม่ครบจำนวน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

ในขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้วงเงินเท่ากัน คือสิบล้านบาท แต่เลือกวิธีดำเนินการต่างกัน แทนที่จะให้อาจารย์ไม่กี่คนกู้ยืมเงินโดยตรงเหมือนจุฬาฯ กลับนำเงินจำนวนสิบล้านบาท ไปช่วยลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจารย์จะต้องจ่ายให้กับธนาคาร

ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลืออาจารย์ได้จำนวนมากกว่าแล้ว ยังไม่มีภาระในการติดตามเงินคืนหรือปัญหาอื่นเหมือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นภาระของธนาคารผู้ให้กู้ยืมอยู่แล้ว

วิธีการที่เล่ามาคงยังไม่ล้าสมัย เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติคล้ายกัน คือลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนและจำนองที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ที่มีราคาไม่เกินหนึ่งล้านบาท ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีรายได้น้อย

หากรัฐบาลจะเพิ่มมาตรการช่วยเหลือในเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยใช้วิธีคล้ายกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือนำวงเงินงบประมาณที่เคยให้การเคหะแห่งชาติมาใช้ลดดอกเบี้ย ก็ไม่มีภาระเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ทุกวันนี้บริษัทอสังหาริมทรัพย์มีบุคลากรและระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการผลิตที่อยู่อาศัย ทั้งปริมาณและคุณภาพ ที่เป็นที่พอใจของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว สถาบันการเงินก็มีบุคลากรและระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถให้การช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ

เมื่อผู้มีรายได้น้อย บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงิน พร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจกันขนาดนี้แล้ว แค่รัฐบาลออกแรงอีกนิด ปัญหาที่อยู่อาศัยคงจะหมดไปในที่สุด