เผยแพร่ |
---|
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขแนะภาครัฐเพิ่มบุคลากรด้านจิตวิทยาในทุกองค์กร ปรับมุมมองให้คนทั่วไปเข้าถึงนักจิตวิทยาได้ง่ายขึ้น ปิ๊งไอเดีย ลดภาษีบริษัทที่มีกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพจิต ใช้ Big Data วิเคราะห์พฤติกรรมป้องกันอาการซึมเศร้า
เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (25 เมษายน 2562) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ร่วมงานเสวนา ‘อยู่อย่างไรในโลกซึมเศร้า How to live in Depression Wolrd’ กล่าวว่า สมัยก่อนที่ตนทำงานกระทรวงสาธารณสุข คนส่วนใหญ่อายที่จะบอกว่าเป็นโรคทางจิตเวช หรือคนรอบข้างที่ไม่ได้เป็นก็จะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของคนที่จิตใจอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง หรือบอกให้ปลงไปตามความเชื่อศาสนาพุทธ ทั้งที่ความจิตแล้วอาการป่วยแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา เคยมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้แล้วสุดท้ายลองเปิดใจรักษาพบแพทย์และกินยา ก็ทำให้อาการดีขึ้น ทำให้คนในครอบครัวเข้าใจโรคนี้และเปิดใจในการรักษาโรคทางจิตเวชมากขึ้น
“ตนมองว่าแนวทางป้องกันคือ ภาครัฐต้องทำงานเชิงรุก เนื่องจากครอบครัวในทุกวันนี้เริ่มสื่อสารกันน้อยลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ชีวิตลำบากมากขึ้นต้องทำมาหากิน เวลาในการสื่อสารกับคนในครอบครัวก็น้อยลง รัฐจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติในสังคม เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้คนไม่รู้สึกตัวการรับคำปรึกษาทางจิตเวช เช่น ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย หรือในที่ทำงาน ต้องมีกิจกรรมที่ให้คำปรึกษาในเรื่องของจิต เป็นเหมือนทำกิจกรรมให้เด็กได้ค้นหาปมในหัวใจ ไม่รู้สึกหวาดกลัวหรือเป็นเรื่องน่าอาย และมีการเผยแพร่ในช่องทางของโซเชียลมีเดีย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปสู่โซนอันตรายทางจิตเวช และถ้าทุกคนสุขภาพจิตดี คิดบวก สังคมก็จะน่าอยู่ สร้างผลิตผลและผลิตภาพมากยิ่งขึ้น” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า เด็กอายุต่ำว่า 18 ปีควรมีสิทธิที่จะเข้าพบแพทย์ได้ด้วยตัวเอง แต่เรื่องของการแจ้งผลการรักษาจะต้องให้ครอบครัวมาด้วยเพื่อเตรียมรับมือกับการรักษาหรือตัดสินใจเข้ารับการรักษา ขณะที่สาขาวิชาจิตวิทยาควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ให้เด็กสนใจเพื่อเข้ามาเรียนเพื่อเพิ่มบุคลากรไปอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้น เมื่อมีบุคลากรมากขึ้นจะยิ่งช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าได้ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็จะลดลง และลดภาระของแพทย์ในการรักษาคนไข้อีกด้วย นอกจากนี้อาจมีการเพิ่มคอสอบรมอาจารย์แนะแนว หรือฝ่ายบุคคลในบริษัทให้มีความเชี่ยวชาญและสามารถให้คำปรึกษาได้ อาจจะเป็นรูปแบบที่รัฐจะลดภาษีหรือสนับสนุนบริษัทที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเสริมสร้างสุขภาพจิต
“ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เทคโนโลยีทำให้เรารู้ทุกอย่าง แต่เราอยู่กับหน้าจอนานๆ สื่อสารกับมนุษย์น้อยลง จิตใจจึงต้องแข็งแรงมากขึ้น ทุกองค์กรตั้งแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หนรือที่ทำงาน ก็ต้องช่วยป้องกันโรคซึมเศร้า นอกจากนี้เทคโนโลยีที่มีการเก็บข้อมูลของการใช้จ่ายของหรือใช้ชีวิตของประชาชน ถ้านำข้อมูลเหล่านี้มาแชร์กันเป็น Big Data ที่สามารถนำมาให้นักจิตวิทยาวิเคราะห์และประเมิณอาการทางจิตจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้า แต่ไม่ล้วงข้อมูลจนกระทบกับความเป็นส่วนตัว จะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จาก 4.0 ได้เต็มที่” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์ ยังกล่าวว่า สุขภาพจิตที่แข็งแรงต้องไปควบคู่กับสุขภาพกายที่แข็งแรง แต่ต้องไปตามกระแสสังคมที่สังคมยอมรับไม่ใช่การบังคับ เช่น ตอนที่ตนมีนโยบายเต้นแอโรบิกที่ทำให้เกิดกระแสออกกำลังกายในสังคม เพราะก่อนหน้านี้คนไทยไม่ชอบออกกำลังกาย แต่กลายเป็นกระแสที่ทุกหมู่บ้านหันมาสนใจ ซึ่งทำไม่ยากหากรัฐบาลโปรโมทและวางแผนสนับสนุนสร้างกระแสในสังคมเต็มที่ ดังนั้นการทำให้คนหันมาสนใจสุขภาพจิตก็เป็นเรื่องไม่ยากเหมือนกัน
ด้านอาจารย์ แพทย์หญิง ติรยา เลิศหัตถศิลป์ จิตแพทย์เด็กประจำโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า คนที่มีอาการซึมเศร้าอาจจะมีอาการเหวี่ยงวีนง่ายขึ้น พูดอะไรก็จะเสียใจหรือน้อยใจง่ายขึ้น เหมือนเอาแว่นตาดำมาใส่ทำให้รู้สึกโลกเป็นสีเทา แต่ไม่ใช่ความผิดของเขา เป็นเรื่องของการทำงานในสมอง แต่คนรอบข้างต้องไม่เปลี่ยนไป ไม่เกรงใจจนไม่เหมือนเดิม แต่ต้องเข้าใจว่าช่วงนี้ที่อาการเปลี่ยนไปเพราะเป็นอาการของโรค ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้แค่ต้องการกำลังใจ ต้องการคนอยู่ข้างๆ ก็พอแล้ว
ขณะที่ อาจารย์ชลาลัย แต้ศิลปสาธิต นักจิตวิทยาและอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา กล่าวว่า คนไข้กลุ่มนี้กลัว special treatment การปฏิบัติที่เปลี่ยนไป หรือการปฏิบัติที่พิเศษทำให้เหมือนอยู่ในสปอตไลท์ แล้วจะยิ่งโดนโจมตีมากขึ้น อีกทั้งคนไข้ยังไม่กล้าพูดหรือบอกคนในครอบครัว หรือกลัวคนในครอบครัวเสียใจ ซึ่งการแก้ปัญหาข้อคือง่ายมากคือการเปิดใจพูดคุยกันในครอบครัว แต่ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนเป็นโรคซึมเศร้า เช่น ถ้าเป็นฉันฉันจะไปวัด ไปออกกำลังกาย แต่ต้องเปลี่ยนจากการเปรียบเทียบเป็นความเข้าใจ
ทั้งนี้ สุดท้ายอาจารย์ทั้ง 2 คนฝากคุณหญิงสุดารัตน์ หากมีโอกาสเข้าทำงานบริหารในด้านสาธารณสุขส่งเสริมความแข็งแรงในสถาบันครอบครัว และเพิ่มสวัสดิการการรักษาโรคทางจิตเวชเข้าไปในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เช่น ยา หรือการรักษาอาการบางอย่างยังไม่ได้รวมอยู่ในสวัสดิการการรักษา ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวตอบว่า หากได้รับโอกาสเข้าไปบริหารบ้านเมือง ฝ่าฟันการนับคะแนนเข้าไปได้จะส่งเสริมเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้เป็นวาระสำคัญ