งานวิจัยเชิงประจักษ์ ‘โรคหัวใจ-ไขมันเลือดสูง’ หายได้โดยไม่ใช้ยา

น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
[email protected] http://www.balavi.com

 

ในเมื่อโรคหัวใจกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของสังคมที่ “เจริญ” แล้วทั่วโลก สมมติฐานก็มีมานานแล้วว่า โรคหัวใจ อัมพาต ความดันเลือดสูง ไขมันเลือดสูงล้วนมีสาเหตุมาจาก “ชีวิตความเป็นอยู่ที่ผิดเพี้ยนไปจากครรลองอันสมควร”

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การที่คอยรักษาโรคหัวใจด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือด หรือสอดสายเข้าไปขูดเอาไขมันออกย่อมเป็นยุทธศาสตร์การตั้งรับ ที่มองเห็นความพ่ายแพ้ในสนามสงครามอยู่เห็นๆ แถมการผ่าตัดและสอดสายก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและมีความเสี่ยงสูง

ทั้งที่การเกิดโรคหัวใจมีสาเหตุจากปัจจัยรวมหลายอย่าง แต่ก็มีบางส่วนที่เบี่ยงเบนประเด็นไป โดยสมมติฐานที่ว่าโรคหัวใจก่อตัวมาจากภาวะไขมันเลือดสูง ดังนั้น ถ้านอกจากผู้ป่วยโรคหัวใจจะให้กินยาลดไขมันแล้ว ก็หาหนทางให้คนดีๆ ที่มีไขมันเลือดสูงกินยาลดไขมันไปซะเลย ก็อาจช่วยลดอัตราป่วยด้วยโรคหัวใจได้

ว่าดังนั้นแล้วบริษัทยาก็ใช้กลวิธีในการลดขีดขั้นของปริมาณไขมันเลือดที่ยอมรับได้ จาก 250 ม.ก./ด.ล. เป็น 200 ม.ก./ด.ล. อย่างมีเลศนัย แล้วเชื้อเชิญให้คนไขมันเลือดสูงทั้งหลายช่วยกันกิน นั่นนำความร่ำรวยสู่ธุรกิจยาไปตามๆ กัน (อ่าน “อุบายขายโรค” สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน 2550)

ในเชิงของงานวิจัยแล้ว ผู้หญิงที่มีโรคหัวใจอยู่บ้าง ถ้าทนกินยาลดไขมันอยู่ถึง 5 ปี จะลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ 4% (จาก 18% เป็น 14%) แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่า ยาสามารถช่วยลดอัตราตายก่อนวัยอันควรลงได้

ส่วนในผู้ชายที่มีโรคหัวใจที่ได้รับสแตตินเป็นเวลา 5 ปี ก็ลดโอกาสเสียชีวิตลงได้ 2% (จาก 15% เป็น 13%) แต่กระนั้นก็ตาม ยาลดไขมันเลือดก็มีผลข้างเคียงที่ปรากฏมากขึ้นทุกทีรายแล้วรายเล่า จนเป็นที่สงสัยว่า ยาดังกล่าวสมควรจะให้ผู้คนปกติ ที่มีเพียงภาวะไขมันเลือดสูงเล็กน้อยหรือไม่ ถ้าเขายังไม่ปรากฏอาการของโรคหัวใจ

ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าคนที่เป็นไขมันเลือดสูงหรือโรคหัวใจแล้วไม่ให้บุคคลเหล่านั้นพึ่งพายาลดไขมัน แล้วจะมีวิธีการใดช่วยรักษาโรคหัวใจหรือไขมันสูงของพวกเขาได้?

แม้โดยทฤษฎีแล้วการปรับชีวิตเปลี่ยนพฤติกรรมน่าจะเป็นคำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดสำหรับปัญหาดังกล่าว แต่จนแล้วจนรอด มีงานวิจัยเชิงประจักษ์ใดๆ ที่พิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้บ้าง?

ถ้ายังไม่มีหลักฐานใดๆ มาพิสูจน์เชิงประจักษ์แล้ว ก็ป่วยการที่จะพร่ำบ่นเรื่อง “อุบายขายโรค” ของบริษัทยา…!

ศ.นพ.ดีน ออร์นิช
ศ.นพ.ดีน ออร์นิช

แท้ที่จริง งานวิจัยเชิงประจักษ์ในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถรักษาโรคหัวใจได้ ได้รับการพิสูจน์มานานแล้ว ควรเรียกได้ว่า ในวงการแพทย์ด้านโรคหัวใจไม่ควรจะมีใครที่ไม่รู้จักงานวิจัยชิ้นใหญ่ที่แบ่งยุคแบ่งศักราชของ น.พ.ดีน ออร์นิช ซึ่งเป็นศาสตราจารย์คลินิก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ออร์นิชทำโครงการวิจัยที่ให้ชื่อว่า “ไลฟ์สไตล์ฮาร์ตไทรแอล (Lifestyle Heart Trial)” โดยลักษณะงานวิจัยเป็นแบบสุ่มควบคุม (randomized control trial) ซึ่งในวงการวิจัยถือว่ามีน้ำหนักความเชื่อถืออย่างสูงสำหรับผลของงานวิจัยแบบนี้

เขาสุ่มผู้ป่วยมาสองกลุ่ม ล้วนเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันซึ่งพิสูจน์มาแล้วจากการฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจ

กลุ่มที่หนึ่ง เขาให้เปลี่ยนอาหารการกินเป็นอาหารที่มีเส้นใยมาก ไขมันต่ำ แคลอรีปานกลาง แต่เป็นอาหารมังสวิรัติ พร้อมกันนั้นก็ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายแบบโยคะ ร่วมกับการทำสมาธิ และงดสูบบุหรี่ ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมเขาให้ใช้ชีวิตไปตามปกติ เพียงแต่ให้กินยาไปเรื่อยๆ เหตุการณ์ผ่านไป 1 ปี เขาทำการฉีดสีตรวจซ้ำหลอดเลือดหัวใจของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม ก็พบว่า

ผู้ป่วยกลุ่มที่หนึ่งไม่เพียงแต่จะระงับยับยั้งไม่ให้ภาวะหลอดเลือดอุดตันร้ายแรงลงไปกว่าเดิมเท่านั้น แต่การปรับชีวิตเปลี่ยนอาหารของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีผลทำให้หลอดเลือดที่อุดตันเหล่านั้นสามารถทะลุทะลวงถ่างกว้างขึ้นกว่าเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย

ส่วนผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่กินยาอย่างต่อเนื่องกลับมีหลอดเลือดที่ตีบแคบลงไปทุกที

blausen_0257_coronaryartery_plaque

งานวิจัยของ ดีน ออร์นิช ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซตหนึ่งในวารสารการแพทย์ที่มีชื่อที่สุด (Ornish, D et al (1990). Can lifestyle changes reverse coronary heart disease? The Lifestyle Heart Trial. Lancet Jul 21; 336 (8708) : 129-33.) ต่อจากนั้นยังมีนักวิจัยอีกสองทีมทำวิจัยในลักษณะคล้ายกัน และยืนยันผลในลักษณะเดียวกันอีกด้วย

คนหนึ่งชื่อ น.พ.คาลด์เวลล์ บี. เอสเซลสไตน์ (Caldwell B Esselstyn Jr. M.D.) คาลด์เวลล์เป็นทั้งแพทย์นักวิจัยและเป็นทั้งนักกีฬาพายเรือที่ได้รับเหรียญทองโอลิมปิกที่เมลเบิร์น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับการควบคุมอาหารมังสวิรัติไขมันต่ำ

ส่วนอีกคนหนึ่งคือ เค.แลนซ์ กูด (K. Lance Gould) ผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจ มหาวิทยาลัยเท็กซัส

สำหรับ ดีน ออร์นิช การตีพิมพ์งานวิจัยของเขาเป็นการบอกแก่ชาวโลกว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหารสามารถเปลี่ยนภาวะที่เสื่อมไปแล้วของร่างกายให้กลับคืนดีได้ เป็นการพลิกฟื้นความเชื่อทั้งหมดเกี่ยวกับกระบวนการเกิดโรคและกระบวนการรักษาโรค ที่มิใช่ให้ผู้คนพึ่งพิงแต่การกินยา แต่การเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังเป็นวิธีที่ถูกสตางค์กว่าการคอยผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือดเป็นไหนๆ

ผลก็คือ บริษัทประกันสุขภาพของอเมริกาห้าบริษัทใหญ่ได้ยอมรับหลักสูตรการเปลี่ยนพฤติกรรมของ ดีน ออร์นิช ให้ผู้ป่วยที่ไปเข้าคอร์สสามารถเบิกค่ารักษาได้ เพราะนับไปแล้วยังถูกสตางค์กว่าการกินยาและรอผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจเป็นไหนๆ

ดีน ออร์นิช ยังติดตามผู้ป่วยของเขาต่อไปอีก 5 ปีและยังคงพบผลดีของการเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว สุดท้ายรัฐบาล บิล คลินตัน ในเวลานั้นได้รับผลสะเทือนจากงานของเขา จึงได้เชิญเขาเป็นที่ปรึกษาว่าด้วยการจัดวางโครงการสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น ให้หันมาสนใจด้านการป้องกันมากกว่าการรักษา

ในอีกด้านหนึ่งผลสะเทือนจากงานของเขานี้เอง ทำให้เอกสารต่างๆ ว่าด้วยการใช้ยาลดไขมันใดๆ ก็ตาม แม้จะอ้างคุณวิเศษของยาลดไขมันชนิดไหน ผู้เขียนก็จะต้องแถมไว้ในบทความสักหนึ่งหรือสองประโยคว่า การรักษาโรคหัวใจหลอดเลือด การลดไขมันเลือด ต้องประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหาร ออกกำลังกาย ลดความเครียด และเลิกสูบบุหรี่ (คล้ายกับเป็นสูตรตายตัว) จากนั้นก็บรรยายสรรพคุณของยาลดไขมันตัวใหม่ๆ ที่ตนนำเสนอเพื่อโน้มน้าวใจแพทย์ผู้สั่งใช้ยาของพวกเขาต่อไป

ความเป็นจริงที่ขมขื่นจึงปรากฏว่า โลกของแพทย์ผู้สั่งใช้ยากับโลกของแพทย์ผู้จับงานด้านส่งเสริมสุขภาพ ช่างห่างกันไกลลิบโลก แต่มีประโยคเหล่านี้เป็นเสมือนเส้นด้ายบางๆ เป็นตัวต่อเชื่อม ก็เท่านั้นเอง…เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเท่าๆ กับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก

 

สําหรับงานวิจัยเชิงประจักษ์เรื่องการล้างพิษสามารถลดไขมันเลือดสูงได้ เป็นงานวิจัยในประเทศไทยโดยทำในผู้เข้าร่วมโครงการทัวร์สุขภาพจำนวน 181 ราย ที่ให้กินอาหารแบบล้างพิษ คืองดเนื้อสัตว์ ไขมัน และแป้งข้าว แต่ให้กินผักสดและผลไม้เป็นเวลา 10 วัน ร่วมกับการฝึกไท้เก๊ก แอโรบิกในน้ำ และสมาธิ โดยงดยาลดไขมันที่เคยกินอยู่ลงหมดตลอดทั้ง 10 วัน

ผลวิจัยพบว่า ผู้มีคอเลสเตอรอลสูง 106 ราย ค่าเฉลี่ยลดจาก 250 ม.ก./ด.ล. เหลือเป็น 212 ม.ก./ด.ล.,
ผู้มีไตรกลีเซอไรด์สูง 17 ราย ค่าเฉลี่ยลดจาก 254 ม.ก./ด.ล. เหลือเป็น 116 ม.ก./ด.ล. ผู้มีLDLสูง 106 ราย ค่าเฉลี่ยลดจาก 177 ม.ก./ด.ล. เป็น 147 ม.ก./ด.ล. สามกลุ่มมีนัยสำคัญทางสถิติ

(Banchob J., Lalita D., Health Tour, A Natural Treatment without Using Drugs. The Nutritional Conference” 36. Bangkok, Dec. 1993.)

ผู้ที่ผ่านทัวร์สุขภาพเหล่านี้ได้รับความรู้ใหม่ๆ ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ และพบด้วยตัวเองว่าสามารถลดภาวะไขมันเลือดสูงได้ด้วยการปรับชีวิตเปลี่ยนอาหาร พึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ยาลดไขมันเลย นับเป็นการรักษาสุขภาพที่ยั่งยืนกว่า

เป็นหนทางสุขภาพพอเพียงที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทย

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 2 มี.ค. 2552