แจกสูตร! สารพัดสรรพคุณ หอม หอมแดง ว่านหอมแดง และหอมแกง

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaiof.org

 

ในตำรายาไทยมักมีตำรับที่ใช้สมุนไพรที่มีชื่อว่า หอม หอมแดง ว่านหอมแดง และหอมแกง

ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความสับสนว่าเป็นสมุนไพรชนิดใดกันแน่ เนื่องจากมีสมุนไพร 2 ชนิดที่มีชื่อว่าหอมในกลุ่มนี้

มูลนิธิสุขภาพไทยได้สอบถามหมอยาได้ความรู้ว่า ถ้าในตำรับใช้คำว่า “หอม” หรือ “หอมแกง” หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นหอมที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องแกงชนิดต่างๆ หอมชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L. ซึ่งทางวิชาการจัดว่าเป็นพืชต่างถิ่นหรือเป็นพืชของต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย

ส่วนชื่อ “หอมแดง” หรือ “ว่านหอมแดง” ที่ปรากฏในตำรับยาหมายถึงสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eleutherine bulbosa (Mill.) Urb. เดิมใช้ชื่อว่า Eleutherine Americana (Aubl.) Merr. ex K. Heyne จัดเป็นสมุนไพรต่างถิ่นเช่นกัน

แต่น่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้วจึงมีชื่อท้องถิ่น เช่น ว่านไก่แดง ว่านข้าวว่านหมาก (ภาคเหนือ) ว่านเพลาะ (เชียงใหม่) หอมแดง (ภาคกลาง ภาคใต้) บ่อเจอ เพาะบีเบ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

หอมแดงคาดว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในป่าอะเมซอน แต่มีรายงานพบหอมแดงเป็นพืชในธรรมชาติของอินเดีย กัมพูชา และเวียดนามด้วย

%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b8%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%b6%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%95%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%87

หอมแดงเป็นพืชล้มลุก หัวใต้ดินรูปไข่ยาว เปลือกหุ้มหัวสีแดง ทรงกระสวย มีลักษณะคล้ายหัวหอม แต่ใบเกล็ดที่หุ้มหัวหนา แข็งกว่า มีสีแดงเข้มอมม่วง ลำต้นที่อยู่เหนือดินตั้งขึ้น โค้ง หรือเอนนอนแต่ปลายโค้งขึ้น ใบ แทงขึ้นมาจากพื้นดิน รูปหอก จีบซ้อนกันคล้ายพัด ปลายใบแหลม โคนใบแคบ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ กลีบสีขาวรูปช้อน แทงออกเป็นช่อบริเวณตรงกลางของลำต้น 4-10 ดอกต่อก้านดอกกลีบดอกสีขาวซ้อนกัน 2 ชั้น จำนวน 6 กลีบ แบ่งเป็นวงนอก 3 กลีบ และวงใน 3 กลีบ แต่ละกลีบอยู่ไม่ตรงกัน กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าวงนอก กลีบดอกมีลักษณะรี ปลายกลีบโค้งเข้าด้านในผลมีลักษณะค่อนข้างรี ปลายหัวตัด

ภายในแบ่งออกเป็น 3 ช่อง ภายในมีเมล็ดรูปรี อัดกันแน่น

 

ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการนำเอาหอมแดงเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พบว่าในสังคมไทยมีการใช้หอมแดงเป็นยาในหลายตำรับ เช่น ใช้หัวเป็นยาภายนอก ตัวอย่างเช่น

ใช้เผารมควันร่วมกับเปราะหอมสำหรับแก้อาการเป็นหวัด แก้ลมชัก และแก้โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

นำมาบด ผสมน้ำเล็กน้อย นำมาทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน

นำมาบด ใช้ทาประคบแผลบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย ช่วยบรรเทาอาการปวดบวม

ใช้ทารักษาแผล ทำให้แผลแห้ง ป้องกันการติดเชื้อ

ใช้ประคบแผลสด สำหรับช่วยห้ามเลือด

ใช้ส่วนหัวเป็นยากิน สามารถกินได้ทั้งสดและแห้ง หรืออยู่ในรูปที่เป็นผง โดยนำมาต้มน้ำดื่ม

แก้อาการเป็นหวัด คัดจมูก แก้อาการไอ แก้อาการคันคอ

ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปวดท้อง

แก้อาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง ขับลมในลำไส้

แก้อาการท้องเสีย รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน

 

ตํารายาไทยใช้ หัว มีรสร้อน มีสรรพคุณขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือตำผสมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย ทำให้อาเจียน แก้บิด และอาการอักเสบของริดสีดวงทวาร

น้ำยาที่ได้จากหัวใต้ดิน ใช้ทาบาดแผล แมลงกัดต่อย บดเป็นผงทาแก้ปวดท้อง

มีรายงานว่าแม้ว่าหอมแดงจะเป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกาใต้แต่กลับมีการปลูกและนำใช้เป็นสมุนไพรมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้กันมากในหลายประเทศคือรักษาโรคหลอดเลือดผิดปกติ

จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชพบว่ามีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรียและต้านการอักเสบ

นอกจากนี้ ยังพบสารที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (?-glucosidase) มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะรบกวนการทำงานของเอ็นไซม์ในลำไส้เล็ก เช่น แอลฟา-แอลกลูโคซิเดส (Alfa alglucocidase) ไม่ให้เปลี่ยนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก ทำให้ปริมาณน้ำตาลในลำไส้ถูกดูดซึมได้น้อยและช้าลง เกิดผลต่อเนื่องกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จากกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณในการรักษา มีฤทธิ์ในการป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวี (HIV replication) และกระบวนการเพิ่มจำนวนของสารพันธุกรรม (topoisomerase II)

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารสำคัญอีกหลายชนิด ที่สามารถรักษามะเร็งได้ ประเทศอินโดนีเซียจึงให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับสมุนไพรหอมแดง ทำให้มีงานวิจัยออกมาจำนวนหลายชิ้น

 

ในประเทศต้นกำเนิดของหอมแดงมีรายงานว่ามีการใช้ส่วนหัวต้มน้ำดื่มรักษาอาการเลือดออกจากกระเพาะปัสสาวะ รักอาการปวดหัว รักษาโรคโลหิตจาง รักษาไอกรน รักษาอาการไอเป็นเลือด ไอที่เกิดจากการเป็นหวัดธรรมดา

ใช้รักษาแผลพุพอง ฝีหนอง และรักษามะเร็งในลำไส้ใหญ่

ในประเทศอินเดียใช้หัวบดกับน้ำดื่มขับพยาธิ

น้ำคั้นจากหัวผสมกับเกลือใช้แก้อาการชัก หรือใช้น้ำคั้นจากหัวผสมกับเหล้าลูบตามลำตัวเพื่อลดอาการชักได้เช่นกัน

หอมแดงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพมากชนิดหนึ่ง สามารถปลูกร่วมกันกับการปลูกป่าได้เป็นอย่างดี