“กำลังราชสีห์” ตำรับยาจารึกวัดโพธิ์ จากรัชกาลที่ 3 สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaiof.org

วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศให้เป็นวันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ และยกย่องเชิดชู พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในหลวง รัชกาลที่ 3 เป็นบุคคลสำคัญผู้มีคุณูปการด้านการแพทย์แผนไทย จึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญา พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงวันที่ 29 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2559 ทางวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ จึงได้จัดงานสัปดาห์วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติขึ้น ซึ่งมีการบรรยายความรู้ที่น่าสนใจมากมาย

หัวข้อหนึ่งที่มีส่วนร่วมและขอนำมาเล่าสู่กันฟัง คือ “ประมวลตำรับยาจากวัดโพธิ์” โดยก่อนเริ่มรายการ อ.ปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้สานงานต่อและพัฒนาโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) มาหลายสิบปีจนผลิตหมอนวดไทยไปทั่วโลก ได้มอบหนังสือ ตำรายาศิลาจารึกวัดพระเชนตุพนฯ ฉบับสมบูรณ์ ให้กับวิทยากรทุกท่าน ใช้ประกอบการเสวนา

(หนังสือเล่มนี้ใครต้องการ สอบถามที่โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดโพธิ์)

หากพินิจพิเคราะห์สิ่งที่รัชกาลที่ 3 พระองค์ท่านทรงมีสายพระเนตรกว้างไกลให้ถ่องแท้ หากพูดตามภาษาชาวบ้านว่า พระองค์ท่านเริ่มจากทดลองทำเล็กๆ เหมือนห้อง “แล็บ” ปฏิบัติการที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร สมัยที่ท่านดำรงพระยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดราชโอรสารามฯ มีจารึกและบันทึกตำรับยาอยู่จำนวนหนึ่ง

แต่ครั้นขึ้นครองราชย์ พระองค์ท่านก็ทรงดำเนินการเต็มรูปแบบ ดังที่ปรากฏหลักฐานศิลาจารึกในวัดโพธิ์ ที่บันทึกไว้ทั้งเรื่องพระพุทธศาสนา วรรณคดี ประเพณี และที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย ทั้งตำรายาต่างๆ แผนนวด รูปปั้นฤๅษีดัดตน ฯลฯ ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศรับรองขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ปี 2554 ที่ผ่านมา

ในวันงานภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยแห่งชาติ อ.สุวัตร์ ตั้งจิตรเจริญ มาบรรยายพร้อมเตรียมตำรับยาวัดโพธิ์มาให้ผู้ฟังได้ชิมรสชาติกันทีเดียว

อาจารย์ไม่ได้นำเฉพาะยาต้มมาให้ชิม แต่ได้นำตัวอย่างวัตถุดิบยามาให้เห็นจะจะ เพื่อสร้างการรับรู้แบบสัมผัสทั้ง 5 คือ สัมผัสใจให้เห็นคุณค่ายาไทย ได้เห็นด้วยตาตนเอง ได้ฟังสรรพคุณว่าใช้และปรุงอย่างไร

ได้ชิมผ่านรสลิ้น และได้สัมผัสวัตถุดิบยาด้วย

 

ตัวอย่างยาไทยจากจำนวนนับพันตำรับในจารึกวัดโพธิ์นี้ ท่านเลือกตำรับยาชื่อ กำลังราชสีห์ มาให้เรียนรู้ โดยตำรายานี้คัดลอกมาจาก เสาพระระเบียงที่ 9 บริเวณพระเจดีย์ มีตัวยาถึง 36 ชนิด ฟังแบบนี้แล้วอย่าพึ่งท้อใจ เพราะทุกวันนี้ อ.สุวัตร์ ยังปรุงยาให้คนได้ใช้และนำไปสอนหนังสือกับนักเรียนแพทย์แผนไทยรุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

แสดงว่าตำรับนี้ “เวิร์ก” และหาวัตถุดิบยาได้

ใครหยิบถ้วยยาขึ้นมา ก่อนที่จะดื่มจะได้กลิ่นหอมไปแตะจมูกทันที เพราะมีตัวยากลุ่มเกสรดอกไม้อยู่หลายชนิด

แต่เมื่อได้กินยาแล้วลิ้นรับรสของเราก็จะได้รสยาแบบไทยๆ คือมีรสขมและขื่นบ้าง แต่ไม่ถึงกับยาขมจนต้องหลับตาปี๋ ถือว่ายาต้มตำรับนี้ รสชาติรับได้กลิ่นหอมดี

ยาชื่อกำลังราชสีห์ ประกอบด้วย ผลจันทน์, ดอกจันทน์, กระวาน, กานพลู, เลือดแรด, สิ่งละส่วน

โกฐสอ, โกฐเขมา, โกฐเชียง, โกฐจุฬาลัมพา, โกฐหัวบัว, เทียนดำ, เทียนแดง, เทียนขาว, เทียนข้าวเปลือก, เทียนตาตั๊กแตน, สิ่งละ 2 ส่วน

เจตมูลเพลิง, สะค้าน, ดีปลี, ขิงแห้ง, รากช้าพลู, ดอกพิกุล, ดอกบุนนาค, ดอกสารภี, เกสรบัวหลวง, ดอกมะลิ, ดอกจำปา, ดอกกระดังงา, ดอกคำกฤษณา, กระลำพัก, ชะลูด, ขอนดอก, อบเชยเทศ, ชะอมเทศ, จันทร์แดง, จันทร์ขาว สิ่งละ 4 ส่วน

ฝางเสน 9 ส่วน

 

ในตำรายาบันทึกว่า ต้มตามวิธีให้กิน น่าจะหมายถึงใส่น้ำท่วมยาต้มให้เดือดตามปกติ ไม่ต้องถึงกับต้มเคี่ยว ยาต้มแบบนี้ห่อหนึ่งต้มกินได้ 1 สัปดาห์ โดยต้องอุ่นยาเช้าเย็นไม่ให้เสีย กินวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วย สรรพคุณตามปรากฏในศิลาจารึกกล่าวว่า บำรุงโลหิตให้งามบริบูรณ์วิเศษนัก ฯ คำว่าบำรุงโลหิตนี้ มีความหมายถึงการบำรุงร่างกายให้แข็งแรง

โบราณท่านว่า โลหิตก็สัมพันธ์กับเลือดและลมด้วย หมอแผนไทยที่นำตำรับยานี้ไปใช้ จึงกล่าวแนะนำว่า ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง และช่วยเรื่องเลือดลมให้เดินปกติ

จากประสบการณ์ที่มีการจ่ายยานี้ในสถานพยาบาลแพทย์แผนไทยหลายแห่ง พบว่าคนไข้ที่มีอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย ทั้งหญิงชายกินแล้วก็จะมีแรงขึ้นมาก ช่วยให้มีเรี่ยวแรงมีกำลังได้ นอกจากนี้ สุภาพสตรีที่มีปัญหาประจำเดือน กินแล้วก็ช่วยให้ประจำเดือนมาดี และยังมีบางรายที่มีประสบการณ์การมีบุตรยาก หมอยาไทยจะจัดยาให้หลายขนานเพื่อปรับสมดุลในร่างกาย และจะจัดยาตำรับ กำลังราชสีห์ นี้ ช่วยให้มีบุตรง่ายขึ้นด้วย ทุกวันนี้มีสถานพยาบาลแพทย์แผนไทยบางแห่งพัฒนารูปแบบยาโดยเอายาทั้งหมดบดผงแล้วบรรจุใส่แคปซูลหรือทำเป็นยาตอกเม็ด ให้กินง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งได้สรรพคุณดีเช่นกัน

หากพิจารณาตำรับยาข้างต้นให้ดี จะมีตัวยาที่มาจากสัตว์อยู่ 1 ชนิด คือ เลือดแรด ซึ่งปัจจุบันหาไม่ได้ง่ายๆ หรือหาไม่ได้เลยเพราะแรดเป็นสัตว์ป่าสงวน หมอยาไทยแนะไว้ 2 ทาง คือ งดใช้หรือเลือกใช้เลือดกระบือ (ควาย) ทดแทนก็ได้

ตำรับยาจากศิลาจารึกวัดโพธิ์ทั้งหมดนั้น มีผู้คาดการณ์ว่าเวลานี้นำมาใช้กันเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น แม้ว่าใช้กันในส่วนน้อยนิดนี้ก็ยังขาดการสนับสนุนและศึกษาวิจัย หากไทยแลนด์ 4.0 จะก้าวหน้า ลองมาช่วยกันพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ ให้สมกับพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้ก็เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า และการค้าขายระหว่างประเทศเจริญรุ่งเรืองเหมือนรัชสมัยของพระองค์ด้วย