สมาร์ตโฟน กับความแรงเกินตัว! ทำลายเด็ก ฆ่าวงการกระดาษ ?

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในโลกของคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แม้แต่ขนาดของมัน จากเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรกที่มีขนาดเท่าบ้าน มาถึงเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี (personal computer) หรือเครื่องเดสก์ท็อป (desktop) ที่ได้ถูกพัฒนามาให้มีขนาดที่สะดวกต่อการพกพา

จนกลายมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก (notebook) หรือเครื่องแล็ปท็อป (laptop) ที่มีความหนาน้อยลงเรื่อยๆ จนบางเฉียบราวกับสมุดโน้ตเล่มหนึ่ง

ก่อนที่การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจะทำให้มันเหลือเพียงส่วนของจอภาพหรือแท็บเล็ต (tablet) และทั้งหมดนั้นถูกย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลงจนเหลือเพียงแค่ฝ่ามือที่สะดวกต่อการพกพาแต่มีประสิทธิภาพสูงมากที่เรียกกันว่าคอมพิวเตอร์พกพา (pocket pc)

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสมาร์ตโฟน (smartphone)

สมาร์ตโฟนในยุคปัจจุบันนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เกือบจะเข้าแทนที่โทรศัพท์แบบกดปุ่มและแท็บเล็ตทั้งหมด

จะถูกพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในรถไฟลอยฟ้าที่คนทำงานนับหมื่นนับแสน และรถประจำทางทั้งที่เป็นรถธรรมดาและปรับอากาศที่ผู้มีรายได้น้อยยังคงใช้กันอยู่นับล้านคน

เรามักจะพบเห็นผู้คนเหล่านั้นกระโจนเข้าไปในโบกี้ของรถไฟลอยฟ้าหรือขึ้นมาบนรถประจำทางพร้อมกับสมาร์ตโฟน

และเหลือบลูกตาเข้าใส่จอภาพของมันอย่างเอาเป็นเอาตายในช่วงตื่นนอนตอนเช้า

เราให้ความสนใจกับสมาร์ตโฟนเป็นสิ่งแรกก่อนจะหันมาสนใจตัวเองด้วยซ้ำไป

สมาร์ตโฟนมีให้เลือกหลายรุ่นและหลายระดับราคา มีหน้าจอให้เลือกหลายขนาดและมีซีพียูหลายระดับความแรง

สมาร์ตโฟนยังมีแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้จนล้นหน้าจอของมันอีกด้วย ทั้งเสิร์ชเอนจิ้นอย่างซาฟารี กูเกิล ที่ทำงานได้อย่างรวดเร็วและแสดงผลนับแสนจนถึงล้าน

มันยังมีแอพพลิชั่นอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์และยูทูปที่ทำได้ทั้งดูหนังและฟังเพลง ทำได้ทั้งอัพโหลดและดาวน์โหลดคลิปมากมาย

มันยังมีพยากรณ์อากาศและแอพพลิเคชั่นพื้นฐานอย่างปฏิทินและเครื่องคิดเลข

ที่ได้รับความนิยมอย่างมากและไม่แพ้แอพพลิเคชั่นใดคือกล้องหน้า-หลังที่มาพร้อมกับแอพพลิเคชั่นตกแต่งรูปภาพและความคมชัดที่หลายระดับ ทั้งที่มากกว่า 10 MP และ 20 MP

แต่ใครจะรู้บ้างว่า เครื่องอุปกรณ์ที่มีขนาดเพียงแค่ฝ่ามือและมีไอคอนของแอพพลิเคชั่นอยู่จนล้นหน้าจอนั้น แท้จริงแล้วพวกมันถูกใช้งานเพียงไม่กี่แอพพลิเคชั่นเท่านั้น

แถมมันยังทำให้ผู้ใช้งาน (user) บางคนมีพฤติกรรมติดที่คล้ายคลึงกับติดสารเสพติดโดยที่ไม่ต้องอาศัยสารเคมีที่เรียกว่า smartphone addiction อีกด้วย ซึ่งผู้ใช้งานจะไม่สามารถควบคุมการใช้งานสมาร์ตโฟนของตนเองได้ หรือใช้งานสมาร์ตโฟนนานเกินกว่าที่ตนเองต้องการหรือตั้งใจ

มันคล้ายพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ มันยังทำให้ผู้ใช้งานเกิดความขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างอีกด้วยเมื่อรู้สึกโมโหหงุดหงิดเมื่อขาดสมาร์ตโฟนหรืออินเตอร์เน็ตทำงานช้า

สำหรับผู้ใช้งานบางคนอาจถึงขั้นรู้สึกหดหู่หรือขาดสมาธิในการทำงานด้วยซ้ำเมื่อเฝ้าแต่จดจ้องหน้าจอของสมาร์ตโฟนเพื่อดูว่ามีข้อความหรือมีสายโทร.เข้ามาหรือไม่

หนักกว่านั้นอาจเข้าใกล้โรคกลัวไม่มีสมาร์ตโฟนหรือที่เรียกกันว่า nomophobia ซึ่งผู้ใช้จะเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวลเมื่อไม่มีสมาร์ตโฟนใช้

ในกลุ่มผู้ใช้ที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ การใช้งานสมาร์ตโฟนไม่ต่างไปจากการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์บุคคลเล่นเกมออนไลน์ที่เคยเป็นเสมือนเวทีแสดงออกถึงความก้าวร้าวและรุนแรง

มันทำให้พวกเขาไม่คิดเคารพกฎกติกา เยาวชนบางคนหนีเรียน เยาวชนบางคนละเลยทำการบ้านและพักผ่อนไม่เพียงพอ

บางคนอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่นกันสำหรับสมาร์ตโฟนที่ทำให้เยาวชนหลายคนก้มหน้าก้มตาจดจ้องไปที่หน้าจอของสมาร์ตโฟนทั้งในที่สาธารณะ และแม้กระทั่งกำลังเดินอยู่บนทางเท้าริมถนน

พวกเขาไม่คิดสนใจผู้คนรอบข้าง

ความสะดวกสบายของสมาร์ตโฟนนั้นยังเริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจบางอย่างด้วย เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

โดยเฉพาะสมาร์ตโฟนและแอพพลิเคชั่นของมันได้ถูกใช้นำเสนอรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ภายใต้แนวความคิด สังคมไร้เงินสด หรือ cashless society

หรืออีกชื่อหนึ่ง cashless economy รูปแบบที่น่าเหลือเชื่อและเคยถูกพูดถึงครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 50s และ 60s

มันเป็นแนวความคิดที่เงินสดจะถูกจับต้องน้อยลง และการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินจะมีมากขึ้นหรือเข้ามาแทนที่

cashless society หรือ cashless economy ในอดีตนั้นดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่สำหรับปัจจุบันนี้ ความสะดวกสบายภายใต้ประสิทธิภาพของสมาร์ตโฟนและแอพพลิเคชั่นของมันกลับกลายเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมทางการเงินได้เป็นอย่างดี

บรรดาธนาคารต่างพากันพัฒนาแอพพลิเคชั่นของตนเองเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้งานและแข่งขันกันเป็นผู้นำโมบายแบงกิ้ง (mobile banking ) หรืออินเตอร์เนตแบงกิ้ง (internet banking)

และไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส เบลเยียม สวีเดน จีนและสิงคโปร์ ล้วนใช้จ่ายและทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านทางโมบาย แบงกิง และอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ทั้งสิ้น

เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย เพราะสังคมไร้เงินสดภายใต้ความสะดวกสบายของสมาร์ตโฟนได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของลูกค้าธนาคารต่างๆ เป็นอย่างมาก

และเป็นไปในหลายประเทศทั่วโลกที่พยายามพาสังคมของตนย่างก้าวเข้าไป

นั่นอาจเพราะหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจต่างพาตนเองและแม้แต่โลกให้เคลื่อนเข้าหาความเจริญทางด้านเทคโนโลยีหรือจุดที่เทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาจนเป็นหัวใจสำคัญ

เมื่อถึงเวลานั้นหรือแม้แต่เวลานี้ แรงงานและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไร สาขาและการปรับลดพนักงานของธนาคารจะเป็นอย่างไร ล้วนเป็นเรื่องที่น่าคิดอย่างยิ่ง

สําหรับแวดวงหนังสือ การทยอยปิดตัวของแม็กกาซีนนับเป็นเรื่องที่น่าวิตกอยู่ไม่น้อย อาจเพราะการทำงานและประสิทธิภาพที่ฉับไวของสมาร์ตโฟนและเนื้อหาที่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงได้จากเสิร์ชเอ็นจิ้น

ในอดีตนั้น แผงหนังสือที่สามารถพบเห็นได้อย่างดาษดื่นแม้แต่ในตลาดสดและป้ายรถประจำทางนั้นแทบไม่มีให้พบเห็นอีกแล้วในปัจจุบัน

เช่นเดียวกันกับหนังสือที่อยู่บนแผงและเริ่มลดน้อยลง พวกมันถูกแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียนและอุปกรณ์ไอที

แต่จะมีผู้ใช้สมาร์ตโฟนสักกี่คนที่รู้ในความเป็นไปและแตกต่างของหนังสือและสมาร์ตโฟนบ้าง

มนต์เสน่ห์และเนื้อหาในหนังสือ หนังสือพิมพ์ วารสารและแม็กกาซีนไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยง่าย

คอลัมน์และเรื่องราวต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีข้อมูลอ้างอิงและสามารถนำไปอ้างอิงต่อได้

ข้อเขียนทั้งหมดล้วนมีที่มาและประวัติศาสตร์ แถวของคอลัมน์และหน้าหนังสือถูกจัดมาอย่างดีและดูเป็นระเบียบ เนื้อหาที่หลากหลายที่เชิญชวนให้สัมผัสและค้นหาล้วนผ่านการคัดกรองจากกองบรรณาธิการ ทั้งนิยายไทย นิยายจีนกำลังภายในและนิยายแปลต่างประเทศในหนังสือเล่ม ทั้งข่าวการเมือง ข่าวสังคม และคอลัมน์วิเคราะห์การเมืองในหนังสือพิมพ์ และอีกมากมายทั้งจดหมายจากผู้อ่าน ท่องเที่ยว กีฬา อาหารและอาชญากรรมในวารสารและแม็กกาซีน

เทคโนโลยีพัฒนาและก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โลกกำลังเผชิญหน้ากับพฤติกรรมที่แปรเปลี่ยน ผู้ใช้สมาร์ตโฟนไม่คิดสนใจสิ่งใดนอกเสียจากความสะดวกสบายและการทำงานอันรวดเร็วฉับไวของมัน