จดหมาย/ฉบััับประจำวันที่ 23-29 มีนาคม 2561

จดหมาย

อยากนิยมไทยบ้าง

แม้วันนี้เชียงใหม่ เริ่มเวลา 50 วันห้ามเผา คือจากวันนี้ 1 มีนาคม 2561 จนถึง 20 เมษายน 2561
แต่ควัน-หมอก กลับมีมาก จนมัวทั้งฟ้า
จากที่นี่คอนโดฯ นอกเมือง มองไปรอบทิศเกือบไม่เห็นอะไร
เส้นภูเขารอบเมืองเชียงใหม่กลืนไปกับสายหมอก-ควัน
อุตส่าห์ขับรถชั่วโมงกว่า หนีมาจากสี่แยกควันดำ มาอยู่นอกเมือง
กลับพบว่าไม่อาจจะอยู่นอกห้องได้
คำแนะนำ (จากทุกฝ่าย) ให้ผู้สูงวัยอยู่ในห้องที่ปิดหน้าต่าง หลังจากไอจามมา 4 สัปดาห์แล้ว
ไม่นึกเลยว่ากลับมาอยู่บ้านเกิด ที่ที่เคยปั่นจักรยานไปโรงเรียน ปล่อยสองมือ สูดอากาศยามเช้าเข้าได้เต็มปอด แล้วพ่นไอออกมาเป็นสายสีขาว
จะกลายเป็นว่า ต้องขังตัวเองราวกับนักโทษ

 

คงจะถึงเวลาที่จะเขียนถึงที่อื่นๆ ว่าทำไมเขาไม่มีการเผา
นานมาแล้วได้ไปเรียนที่สิงคโปร์ ที่ซึ่งมีใบไม้เขียวทึบแทบทุกแห่ง
พอดีบ้านพักอยู่ถนน Clung หน้าสวนโบตานิคัล (สวนพฤกษศาสตร์)
ค่ำวันหนึ่งเห็นสปอตไลต์ส่องที่โคนต้นปาล์ม จึงไปยืนดู
คนงาน 3 คนกำลังขุดหลุมเป็นวงกลมรอบต้นลึกกว่าศอก กว้างประมาณเดียวกัน
ข้างๆ มีใบไม้แห้ง 1-2 เข่งวางอยู่ คาดว่านั่นคือวิธีที่เขากำจัดใบไม้แห้ง
รุ่งเช้าวิ่งไปดูที่เก่า เกือบไม่เห็นรอยเชื่อมต่อของหญ้าสีเขียวรอบโคนต้น
กลบและทำความสะอาดดินได้อย่างไร้รอย
เป็นวิธีที่เขากำจัดเศษพืช และบำรุงดินไปพร้อมกัน
เมืองไทยอยู่ใกล้สิงคโปร์นิดเดียว นักเรียนไทยไม่น้อยก็มาเรียนที่นี่
ความรู้และอะไรๆ ก็คงจะรวมเป็นหนึ่งเดียว

เวลาผ่านไป นาน นานมาก กลับมาอยู่เชียงใหม่
หน้าแล้งครั้งหนึ่งขับรถขึ้นภูเขาไปจังหวัดพะเยา
พบสอบงข้างทางที่ต่ำลงไป ลุกเป็นไฟ สูงมากจนคล้ายผ่านเข้าไปในนรก
ความรู้ของชาวสิงคโปร์ไม่เคยเข้ามาอยู่ในความคิดของคนไทยเลย
เขาจึงเป็นเศรษฐีสีเขียว
ส่วนเราจนลงๆ แผ่นดินก็หมดความอุดมสมบูรณ์ แห้งแล้ง ทุรกันดาร
หน้าฝนก็ถูกชะล้างลงมาเป็นภูเขาฝุ่นสีน้ำตาลมีโคลน ลงมาท่วมบ้านเรือน
เมืองไทย เมืองเกษตร แต่คนของเรา เด็กของเรา ไม่เคยได้รับการสอนว่าดินคืออะไร
ถึงเวลาเอ็นจอยไลฟ์ ก็พบว่ายากที่จะเอ็นจอย
เมื่อบ้านเมืองไม่ได้น่าอยู่เหมือนอดีต
ไปที่ไหนก็พบน้ำแห้งขอด เน่าเหม็น
น้ำตกใกล้เมือง (ห้วยแก้ว) ซึ่งสมัยเด็กเคยกอบทรายขึ้นมาเป็นประกายระยิบระยับ (ที่มาของชื่อห้วยแก้ว) ตอนนี้ก็หายไปหมดแล้ว

ที่เขียนมาวันนี้ เพราะมติชนสุดสัปดาห์ ยังเป็นหนังสือฉบับเดียวที่อ่านประจำ
แม้จะหนักไปในทางการปกครองบ้านเมือง
แต่ก็มีหลายคอลัมน์ที่บรรยายถึงสิ่งแวดล้อมโลก
ได้ส่งหนังสือที่ชอบอ่าน สมัยอยู่นิวซีแลนด์ ซึ่งตอนนี้ก็หยุดพิมพ์ไปแล้ว ยังเก็บไว้ดู แจกให้คนสนใจเกษตรกรรมบ้าง
ภาพที่ส่งให้ แสดงให้เห็นถึงการใช้วิทยาศาสตร์ ปรับปรุง บำรุงดิน ในฟาร์ม และเด็กๆ ก็ควรจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
เพราะคืออนาคตของพวกเขา เจ้าของฟาร์ม มีความรู้
ภาพด้านล่างคือภาพเครื่องมือบดเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ทั้งสดและแห้ง
ที่คัลซิล ของเมืองในนิวซีแลนด์ ทุกครั้งที่คนงานของเทศบาล หรือ อบต. ออกไปตัดกิ่งไม้ริมถนน
ตัดแล้วจะบดทันทีเพราะการบดสดๆ ง่ายกว่าการบดตอนกิ่งไม้แห้งแล้ว
เศษซากพืชเหล่านี้ จะถูกนำไปโรยรอบต้นไม้ของเทศบาลในที่สาธารณะต่างๆ
และเพื่อกันไม่ให้ลมพัดกระจาย เขาก็จะปูตาข่าย ที่น้ำซึมผ่านได้
ทับและตอกตะปูพลาสติก ยาวเป็นศอก
นี่คือการคลุมดินและบำรุงดินในระยะยาว และยังกันฝุ่นกระจายด้วย
ส่วนการกำจัดเศษซากพืช ในฟาร์ม เจ้าของจะต้องจัดที่ว่าง ซึ่งอยู่ปลายลม ทิ้งเศษซากของฟาร์มสลับกันหลายที่
ซึ่งมีสารช่วยการย่อยสลาย ให้กลายเป็นปุ๋ยและนำกลับมาบำรุงฟาร์ม (มักเป็นมูลสัตว์ผสม)
บ้านคนธรรมดา ทางการจะขอร้องแกมบังคับ ให้ทุกบ้านที่มีที่ว่าง มีถังปุ๋ย ซึ่งหาซื้อได้จากร้านขายต้นไม้ มีฝาปิด มีรูรอบ ใช้ใส่เศษพืช เศษใบไม้ เศษหญ้า เศษอาหาร
แม้ว่าจะดูขนาดถังไม่ใหญ่ แต่เมื่อใช้แล้วจะพบว่าดูจะไม่มีวันเต็ม เพราะจะมีการย่อยสลายเกิดขึ้นตลอดเวลา
มี 2 ถังสลับกันเพื่อจะนำส่วนที่ย่อยแล้วมาใส่สวน
เท่าที่เล่ามาคงเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไป
ให้ทราบว่า คนที่ไม่เผา เขาทำอย่างไร และทำไมเราไม่ควรเผาเศษซากต้นไม้ ใบไม้
เรียนมาด้วยความเคารพ
ผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ประจำ

จะหวังลม-ลม แล้ง-แล้ง
ให้ไทยนิยม-นิยมไทย
ที่ใช้เงินมหึมารณรงค์กันอยู่ตอนนี้
ทำให้ “ผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ประจำ” เอ็นจอยไลฟ์กับเมืองไทย
ได้บ้างไหมหนอ…
อย่างน้อยๆ ก็เรื่อง “ควัน-ฝุ่น” นั่น