จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 ก.ย. 59

ก้อนอิฐ

ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำ หลังลงพื้นที่ดูปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก

โดยมีแนวคิดจะเสนอใช้มาตรา 44 ในการผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ นั้น

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนขอคัดค้านแนวคิดที่ล้าหลังทางความคิดและขาดจิตสำนึกทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะมานั่งเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ อีกต่อไป

เพราะขืนอยู่ต่อไปรังแต่จะสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ

ป่าแม่วงก์มีคุณค่าทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีมูลค่ามากเกินกว่าที่ข้าราชการหรือนักการเมืองใดๆ จะนำมากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการจัดการน้ำใดได้

และหาก คสช. เพ้อหลงไปตามข้อเสนอดังกล่าวโดยใช้ ม.44 เพื่อเร่งรีบตัดสินใจที่จะนำพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ดังกล่าวมาสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบและผลเสียตามมาอย่างมหาศาล

และจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้เกิดความมืดบอดในการจัดการน้ำของประเทศได้

รวมทั้งเป็นการก้าวล่วงอำนาจกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง เนื่องจากข้อพิพาทการสร้างเขื่อนแม่วงก์นี้ยังอยู่ในการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ ส.490/2555

จึงใคร่ร้องเรียนมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการใช้อำนาจปรับคณะรัฐมนตรีโดยปลด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ออกจากการดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เสีย

เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และเป็นการเซ่นไหว้และขอขมาเทวดาอารักษ์ที่สิงสถิตปกป้องรักษาป่าอยู่ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มาหลายชั่วคนนั่นเอง

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

จะสร้างหรือไม่สร้าง เขื่อนแม่วงก์

ไม่ควรตัดสินใจ

โดยอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44

ควรเป็นการตัดสินใจ ระดับน้องๆ ประชามติ

อันหมายถึงการรับฟังกันและกันโดยกว้างขวางที่สุด

น่ายินดีที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ปฏิเสธข่าวดังกล่าว

และยืนยันว่าไม่มีแนวคิดใช้มาตรา 44 ในกรณีแม่วงก์

ดอกไม้ (1)

ฉันชื่นชอบและชื่นชมผลงานกวีนิพนธ์ของ คุณละไมมาด คำฉวี มาก

โดยเริ่มต้นติดตามเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงนั้นดิฉันเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งคุณพ่อได้ซื้อมติชนสุดสัปดาห์เป็นประจำ

ฉันจึงรู้จักนักกวีนามว่า ละไมมาด คำฉวี ที่นั่นเอง

ฉันติดตามบทกวีของคุณมาโดยตลอดผ่านทางมติชนสุดสัปดาห์

บทกวีของคุณดาลใจดิฉันได้เป็นอย่างมาก ทั้งสร้างเสริมกำลังใจ เติมแรงใจ สะเทือนใจ หรือแม้แต่หลั่งน้ำตา

บทกวีของคุณถือเป็นจุดเริ่มต้นการรักกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์มานับแต่บัดนั้น

แม้ในปัจจุบันจะมีกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ในครอบครองหลายต่อหลายเล่ม

แต่ ดอกฝน ยังเป็นเล่มที่ดิฉันรักมากที่สุดตลอดมา

เมื่อ “ดอกฝน” ตีพิมพ์ นับเป็นโอกาสดีที่ดิฉันได้เป็นเจ้าของกวีนิพนธ์ที่เปรียบเหมือนงานศิลปะล้ำค่า

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ดอกฝน ถูกหยิบมาอ่านบ่อยครั้ง และบ่อยครั้งมาก ดิฉันอาจจะบอกได้ว่าฉันท่องบทกวีนิพนธ์ในดอกฝนได้หลายต่อหลายบท

บทที่ประทับใจมากที่สุดคือ บทที่มีชื่อว่า “ห้องที่ห้า”

ดิฉันพยายามหาหนทางติดต่อคุณหลายๆ ช่องทางเพื่อบอกกล่าวกับคุณว่าดิฉันรักบทกวีของคุณมากเพียงใด

และฉันขอเป็นกำลังใจให้คุณรังสรรค์ถ้อยคำกวีที่ล้ำค่า ฉันจะรออ่านผลงานของคุณอยู่เสมอค่ะ

ด้วยความระลึกถึง

อรอุมา

ละไมมาด คำฉวี

ทำให้หลายคน

รักกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์ อย่าง อรอุมา รัก

ถือเป็นความ “ละไม” ที่ใครๆ ใช่จะเขียนได้

ดอกไม้ (2)

ผมชอบอ่านการวิพากษ์วิจารณ์หนังของ คุณพรพิมล ลิ่มเจริญ มาก เกี่ยวกับ Jane got a gun

ผมดูหนังเรื่องนี้แล้ว ชอบมาก โดยเฉพาะหนังเคาบอยยุคเก่าๆ เช่น ยุคตื่นทอง พิชิตตะวันตก และยุคอินเดียนแดง

เพราะมันเป็นหนังชีวิตจริงๆ ต่อสู้กันด้วยฝีมือ ศักดิ์ศรี

ดารารุ่นเก่าๆ แสดงได้ดีมาก เช่น เฮนรี่ ฟอนดา แครี่ คูเปอร์ เจมส์ สจ๊วต เคิร์ก ดักลาส ฯลฯ ก่อนยุคนี้ ผมอยากได้ไว้ดูมากๆ เช่น รอย โรเจอร์

พระเอกขี่ม้าขาว มีหลายคน แต่ไม่ได้นำเข้ามาฉายในเมืองไทย หากคุณมีสะสมไว้มากๆ จะแบ่งปันให้ก็จะเป็นพระคุณ ยินดีจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ผมพยายามแสวงหาตลอด แต่ไม่ได้ดังใจ

คิดว่าคุณคงช่วยอนุเคราะห์ได้เป็นอย่างมากทีเดียว ขอบคุณ

คุณพรพิมล สรุป Jane got a gun ไว้ได้ดีมาก

ทำให้ผมเข้าใจได้ดีขึ้นมาก ไม่รู้ว่า ผู้กำกับฯ การถ่ายทำ หรือการตัดต่อภาพบกพร่องกันแน่ เลยทำให้ดูหนังเรื่องนี้ค่อนข้างสับสน

นับถือ

ว่าที่ ร.ต.สุรินทร์ จิตราสวัสดิ์

พยายามอ่านระหว่างบรรทัด

ว่ามีนัยถึง พระเอกขี่ม้าขาว คนไหนเป็นพิเศษหรือไม่ (ฮา)

แต่ดูแล้วไม่มี

เป็นการชอบ หนังเคาบอย จริงๆ–แฮ่ม