จดหมาย

• สหรัฐ

ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา

ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

และจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในระดับภูมิภาค

ภายใต้รหัสการฝึก “ราชพฤกษ์” ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2566 ที่กรุงเทพมหานคร

การฝึกซ้อมดังกล่าวแสดงถึงความเป็นผู้นำของสหรัฐและไทยในการป้องกันเหตุฉุกเฉินทางรังสีและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โจมตีทางรังสี

แม้แทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นก็ตาม

โดยกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมกับสำนักงานความมั่นคงและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ

นำผู้เข้าร่วมจาก 12 ประเทศและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มาแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและเสริมสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ในระดับภูมิภาค

การฝึก “ราชพฤกษ์” ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีความพร้อมด้านการแพทย์กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสี ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองทางการแพทย์ และนำเสนอแนวปฏิบัติในการติดตามและฟื้นฟูด้านสุขภาพในระยะยาว

การฝึกครั้งนี้เป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพได้สร้างกลไกความร่วมมือที่ดีขึ้น

อีกทั้งยังส่งเสริมการพูดคุยระหว่างชาติที่เข้าร่วมฝึกทั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย ปากีสถาน สิงคโปร์ ไทย อุซเบกิสถาน และสหรัฐ

การฝึก “ราชพฤกษ์” แสดงความมุ่งมั่นที่สหรัฐและไทยมีร่วมกันในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงนิวเคลียร์และการตอบสนองทางการแพทย์

อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงผลอันเป็นรูปธรรมซึ่งเกิดจากความร่วมมือ 190 ปีระหว่างสหรัฐกับไทย เพื่อประชาชนของเรา และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

นอกจากฐานทัพ

ที่บางฝ่ายบางพวก ปั่นกระแส

ว่าสหรัฐจะเข้ามาตั้งในไทยแล้ว

เจอข่าวพีอาร์ชิ้นนี้ จากสถานทูตสหรัฐ

ผู้เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด

หลายคนอาจขนหัวลุก

แล้วมโนไปไกลว่า นี่สหรัฐกำลังจะดึงไทยไปอยู่ในสมรภูมินิวเคลียร์อีกด้วยหรือนี่

แม้สหรัฐจะออกตัวว่ามีโอกาสน้อยมาก

แต่การต้องมาซ้อมรับมือ ก็แสดงว่ามีความเป็นไปได้

จริงหรือไม่ โปรดพิจารณาให้รอบด้าน

อย่าจินตนาการจนเลยเถิด

 

• ลาว

สืบเนื่องจากรายงานข่าววันที่ 17 พฤษภาคม 2566

มีการยิงสังหารบุญส่วน กิตติยาโน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาววัย 56 ปี และผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR)

ทางการไทยพบศพของบุญส่วนที่ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี มีพรมแดนติดกับประเทศลาว

บุญส่วนเป็นสมาชิกของ “กลุ่มลาวเสรี (Free Laos)” ซึ่งมีตั้งอยู่ในประเทศไทย

เป็นเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาว

จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่สถานเอกอัครราชทูตลาวที่กรุงเทพมหานคร

แม้หน่วยงานที่ลงนามในแถลงการณ์จะไม่มีข้อมูลว่า ใครเป็นผู้ลงมือสังหารครั้งนี้

แต่สามารถจำแนกข้อมูลได้ว่า บุญส่วนเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้หลบหนีจากการประหัตประหารในลาว และมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว

บุญส่วนอยู่ระหว่างการทำเรื่องเพื่อขอลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย

ทั้งนี้ กลุ่มลาวเสรีต่างเคยถูกควบคุมตัวโดยพลการ และตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายทั้งในลาวและไทย

ไม่ว่าจะเป็น อ๊อด ไชยะวง นักกิจกรรมกลุ่มลาวเสรี “หายตัวไป” จากบ้านพักในกรุงเทพฯ

เพชรภูธร พิละจัน สมาชิกกลุ่มลาวเสรีซึ่งเป็นเพื่อนร่วมบ้านกับอ๊อด ได้หายตัวไปเช่นกัน หลังจากที่เขาเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เพื่อกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่เวียงจันทน์ จวบจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขาเลย

นอกจากนั้น ยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มเดียวกัน ถูกทางการลาวจับกุมและควบคุมตัว

เนื่องจากการใช้สื่อออนไลน์วิจารณ์รัฐบาลลาว และการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตลาวที่กรุงเทพฯ

อาทิ สุกาน ชัยทัด สมพอน พิมมะสอน และหลอดคำ ทำมะวง และล่าสุดคือ สว่าง พะเลิด สมาชิกกลุ่มลาวเสรีอีกคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ดังนั้น ทั้ง 10 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศจึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลลาวและไทย

ให้ดำเนินการสอบสวนโดยเร่งด่วน รอบด้าน มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ ทั้งต่อการสังหารบุญส่วน และเหตุการณ์อื่นๆ รัฐบาลลาวและไทยควรหยิบยกประเด็นการปราบปรามข้ามชาติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทั้งสองประเทศขึ้นมาหารือ และรับรองให้มีการเปิดเผยผลลัพธ์จากการพูดคุยเจรจาต่อสาธารณะ

สำหรับหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ มีข้อเสนอแนะให้มีการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและขอลี้ภัย และอำนวยความสะดวกให้มีการดำเนินการพิจารณาคำขอลี้ภัยไปประเทศที่สามโดยทันที

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights)

มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation)

โฟกัส ออน เดอะ โกลเบิล เซ้าท์ (Focus on the Global South)

พันธมิตรเพื่อการมีส่วนร่วมของพลเมืองระดับโลก (CIVICUS : World Alliance for Citizen Participation)

องค์กรฟรอนไลน์ดีเฟนเดอร์ (Front Line Defenders)

คณะกรรมการระหว่างประเทศสำหรับการจัดเวทีภาคประชาชนเอเชีย-ยุโรป (Asia- Europe Peoples Forum หรือ AEPF)

องค์กรเฟรชอายส์ (Fresh Eyes)

 

แน่นอน นี่คือท่าที

ของเอ็นจีโอ ชาติตะวันตก

ซึ่งในสายตาของ “ฝ่ายต่อต้าน” สหรัฐและชาติตะวันตก

อาจมองว่า หากไทยไปขานรับ

จะเสมือนเป็นการ “ชักศึก” เข้าบ้าน

จึงควรเมินเฉย และไม่รับลูก

ตามแนวทางการทูต “อันเงียบงัน”

ควรเป็นเช่นนั้นหรือไม่

โปรดร่วมกันพิจารณา •