จดหมาย

• “หลัง” เลือกตั้ง

เพื่อนไม่ควรแตกแยกเพียงเพราะตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองต่างกัน

ควรให้สิทธิ์การตัดสินใจเป็นของเพื่อน

และคนที่เราตั้งใจเลือก ก็คือ มองว่าเขาน่าจะดี เป็นตัวแทนของเรา มีความคิดแบบเดียวกับเรา

แต่ไม่ได้หมายถึง เราจะวางใจได้แน่นอนเลย ว่าเขาต้องดีต่อเราเสมอไปแน่

มันเป็นเพียงการถูกใจในเบื้องต้น เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ทำงาน

ส่วนผลงานจริงนั้น ก็จะต้องคอยดูกันไป

ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเขาทำดีจริง คราวหน้าเราก็เลือกเขาอีก

แต่มีอยู่บ่อยครั้ง จากที่ผ่านมา ว่าคนที่เราเลือก ไม่ใช่ว่าเขาจะทำได้จริงเสมอไป

เราจึงต้องตั้งสติ ตรวจสอบ คอยดูพฤติกรรมของคนที่เราเลือกนั่นแหละ ว่าทำตัวดีสมกับที่เราวางใจไหม

แทนที่จะไปทะเลาะกับเพื่อนเราเอง ไม่เกิดประโยชน์อะไร

เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง

 

นี่ย่อมถือเป็นการ “รั้งสติ”

ให้ “สติตั้งมั่น”

ตั้งมั่นว่า สิ่งที่เราตัดสินใจเลือกไป

แม้จะเป็นดั่งใจ แต่นี่ก็เป็นเพียงเบื้องต้น

เราต้องติดตาม “ผล” กันต่อไป

แน่นอนอาจจะไม่สมหวัง

จึงต้องทำใจ

และมี “สติมั่น” อย่างยิ่ง

เพราะเพียงแค่จะดันให้คนและพรรค ที่เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้เข้าไปทำในสิ่งที่ให้คำมั่น

ก็ยังเจอด่านสกัด

จนไม่รู้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่

• กกต.-สรรพากร-สว.

ขอฝากแบบ 3-in-1 ถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สรรพากร, ผู้สูงวัย (สว.) ดังต่อไปนี้

1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยเป็นหน่วยงานที่ผู้เขียนให้คะแนน 9/10 สำหรับชุดแรก (สมัยคุณยุวรัตน์ กมลเวชช ผู้ล่วงลับไปแล้ว)

จากนั้นก็มีปรับคะแนนขึ้นๆ ลงๆ สำหรับชุดที่ 2-4

แต่สำหรับชุดนี้ (ชุดที่ 5) ขอวิจารณ์ว่า

1.1 ผลงานในการเลือกตั้งปี 2562 น่าจะได้สัก 4/10 จากบัตรเขย่ง บัตรจากต่างประเทศ กลายเป็นบัตรเสีย จากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ สูตรการคำนวณ ส.ส. ที่ประหลาดและสับสน (ดูคล้ายๆ เอาThe ends justify the means มากกว่า The means justify ends ตามที่ควรจะเป็น) ฯลฯ จนมีการรณรงค์ให้ถอดถอน ดูเหมือนเป็นหลักหลายแสน

1.2 4 ปีผ่านไป บทเรียนจากความไร้ประสิทธิภาพข้างต้นก็ดูเหมือนไม่ได้เรียนรู้และนำมาปรับปรุง เช่น การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าระบบล่ม

กกต.แจ้งว่าไม่ต้องกังวล แต่ปรากฏจากสื่อว่าผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าวไม่สามารถใช้สิทธิในวันเลือกตั้งล่วงหน้าได้

การเดินทางไปต่างประเทศ ที่ดูจะไม่ถูกด้วยกาลเทศะ ไม่รู้ไม่ควร เหตุผลฟังไม่ขึ้น บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตสร้างความสับสน อ้างว่าเป็นการประหยัด (ถ้าเอาค่าเครื่องบินและเบี้ยเลี้ยงที่เดินทางไปต่าง ตปท.มาจ่ายจะดีกว่าไหม)

เจ้าหน้าที่กรอกหน้าซองบัตรผิด ฯลฯ

ตอนนี้คะแนนให้เพียง 2/10 แต่ถ้าเป็นเอกชน คงถูกไล่ออกไปแล้ว

อ้อ แทนที่จะคิดฟ้องใครต่อใคร เอาสมองและเวลามาแก้ไขข้อบกพร่องจะดีกว่าไหม

2) สรรพกร เคยเป็นหน่วยงานที่ผู้เขียนให้คะแนน 9/10

แต่ 2-3 ปีหลังนี้คะแนนลดหลั่นลงมาจนปีนี้ให้เพียง 7/10 เท่านั้น

ขอรวบรวมประเด็นที่ประสบด้วยตนเองและคนรอบตัว กล่าวคือ

2.1 อธิบดีออกข่าวในสื่อหลายแหล่งว่า การคืนภาษีจะได้ภายใน 7 วัน ถ้าผู้ยื่นไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง (เข้าใจว่าคงหมายถึงผู้ที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง)

เอาเข้าจริง ทุกรายที่ตนเองและคนรอบตัวเจอ คือรอ 1-2 เดือน ทั้งๆ ที่ยื่นรายการเหมือนเดิมมาหลายปีเพราะเกษียณแล้ว เปลี่ยนแค่ตัวเลข

คนรอบตัวรายหนึ่งได้ถามเจ้าหน้าที่ ได้คำตอบว่ารายการของคนเหล่านี้มีเงินมาก เลยรอตรวจทีหลัง ไม่ได้ตรวจตามคิว

พอถามว่า อธิบดีบอกว่าจะได้ภายใน 7 วัน

เจ้าหน้าที่ตอบได้น่ารักว่า “อย่าไปว่าท่านเลย ว่าพวกหนูเถอะ” (น่ารักไหมลูกน้องท่าน 2 ขั้นไปเลย)

ถ้าทำไม่ได้อย่างพูดเลยดีไหม ตอนนี้ก็แพลมเรื่องเก็บภาษีคนไปต่างประเทศอีก (ย้อนยุคไปราวปี 2528)

2.2 ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ทำไมไม่นำมาใช้ตรวจสอบ การคืนภาษีเร็ว คนจะได้นำไปใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจ

3) ผู้สูงวัย (สว.) ผู้มีอาวุโสอย่างคนรุ่นเรา ควรตระหนักว่าเราอยู่ในวันใกล้ตายแล้ว

เมื่อเราตาย คนรุ่นใหม่เขาก็มารับช่วงต่อแล้ว เขาก็จะเปลี่ยนแปลงได้อยู่ดี

ทำไมไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและทำให้เขาเคารพ

ให้เขาระลึกถึงมรดกที่ดีที่เรามอบให้

ตอนตายเขาจะได้รดน้ำมนต์ให้ แทนที่จะเป็นน้ำมูตร

ขอแสดงความนับถือ

ศ.เกษียณ

 

1) กกต.จะได้คะแนนขึ้นกว่า 2/10 ตามที่ ศ.เกษียณให้หรือไม่

ยังมีงานสำคัญอีกคือ การรับรอง ส.ส. การแจกใบเหลือง ใบแดง

และรวมถึงการชี้ขาดประเด็นที่ “นักร้อง” ทั้งหลายไปร้อง

หากตัดสินใจได้เป็นธรรม เท่าเทียม มีเหตุผล

เชื่อว่าคะแนนคงตีตื้นขึ้นมาแน่

แต่อย่าได้รูดไปที่ 0/10 เชียว

2) สรรพากร คงต้องเร่งทำงานให้เป็นขวัญใจประชาชนมากๆ

นอกจากเรื่องคืนภาษีที่ว่าแล้ว

ยังต้องสร้างความรู้สึกดีๆ ให้ประชาชนยินดีเสียภาษี

ด้วยรัฐบาลใหม่เขามีโครงการใหม่ที่ต้องใช้เงินมากโข

ต้องเตรียมเงินไว้เยอะๆ (ฮา)

3) สว.นอกจากผู้สูงวัยแล้ว

ยังน่าจะรวมถึง ส.ว.–สมาชิกสภาสูงด้วยได้ไหม

เพราะ ส.ว.ควรสูงด้วยวุฒิภาวะที่พร้อมจะยอมรับเจตนารมณ์ของประชาชน

ที่ได้แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง

อย่าง “ชัดเจน”

มิใช่มัวแต่จะยึดมั่น ภักดี “ผู้ลากตั้ง” ของท่านเท่านั้น •