จดหมาย

จดหมาย

ฉบับประจำวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2566

 

• เลือกตั้ง (1)

ปฏิญญา 2566

14 พฤษภาคม …ระดมพล

คัดสรร “คน” คืนศักดิ์ศรี “รัฐสภา”

ให้สมเกียรติแห่งผู้แทนปวงประชา

ให้สมคุณค่าแห่งรัฐสภาไทย

ปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย

ปลุกปวงชนผู้เติบใหญ่ในแผ่นดิน

หลอมรวมใจ “ทดแทนคุณ” ทุกท้องถิ่น

แทนคุณ “แผ่นดิน” ถิ่นฐานบ้านเกิดเรา

ประเทศชาติบ้านเมืองไทยต้องไปต่อ

ตามครรลองคลองธรรมนำสมัย

อนาคตชาติบ้านเมืองต้องยิ่งใหญ่

ศิวิไลซ์ทั่วแดนดิน “ถิ่นไทยงาม”

อนาคตชาติ – บ้านเมือง – ประเทศไทย…

จักเกริกไกรด้วยไพร่ฟ้าสามัคคี ฯ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

เชิญร่วม “ปฏิญญา 2566” กับ สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

ด้วยการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากๆ

อำนาจอยู่ในมือเราทุกคน

• เลือกตั้ง (2)

การเลือกตั้งในปี 2566 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

จึงอาจต้องช่วยกันทำมากกว่าแค่การไปออกเสียงหนึ่งเสียงของตัวเอง

มีช่องทางที่ลงมือทำได้หลากหลาย ดังนี้

1. เราคงไม่อาจคาดหวังให้หน้าที่นี้เป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เพียงลำพัง

ประชาชนสามารถช่วยกันสร้างบรรยากาศให้มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากๆ ได้

2. ส่งต่อความรู้ เรื่องกติกาการเลือกตั้งใหม่ ที่ทำให้ประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งอาจเกิดความสับสนได้

โดยในปี 2566 จะใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ

ใบแรกเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต

และใบที่สองเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และคำนวณที่นั่งด้วยสูตรที่เรียกว่า “หารร้อย”

การส่งต่อความรู้เรื่องกติกาการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นภารกิจสำคัญ

ช่วยกันแชร์ส่งต่อความรู้จากช่องทางออนไลน์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้และส่งผลสำคัญมากๆ

3. จับตาการเลือกตั้ง จับผิดว่า มีทุจริตหรือไม่

ทำได้ 3 ระดับ ดังนี้

3.1 จับตาการทุจริต

เช่น การซื้อเสียง การข่มขู่หลอกลวง การใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนไปทางใดทางหนึ่ง

เป็นเงื่อนไขที่อาจเปลี่ยนแปลงผลแพ้-ชนะ

และหากเกิดขึ้นมากๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในภาพรวมได้

หากประชาชนที่ประสบเหตุเองหรือพบเห็นแล้วนิ่งเฉยก็ยากที่คนกระทำความผิดจะถูกลงโทษได้

ดังนั้น ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิด สามารถรายงานไปที่ กกต.โดยตรง

หรือสามารถรายงานไปยังเว็บไซต์ electionwatchthailand.org หรือรายงานผ่านมาทาง iLaw ให้ช่วยกันกลั่นกรองข้อมูลก่อนได้

3.2 จับตาการนับคะแนน

เรามีบทเรียนมามากจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่กระบวนการนับคะแนน และรวมคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งมีปัญหา พบข้อผิดพลาดจำนวนมาก

และผลรวมคะแนนที่ กกต.ส่วนกลางรายงานต่อสาธารณะก็ล่าช้าและเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด

ประชาชนสามารถช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนนได้ทั้งประเทศ และถ่ายภาพผลการนับคะแนนมารวมกัน

เพื่อรายงานคะแนนกันเอง โดยไม่ต้องรอผลจาก กกต.

3.3 จับตาการบังคับใช้กฎหมาย

เนื่องจากผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้ง กกต. และองค์การอื่น ยังมีที่มาไม่เป็นกลาง

ดังนั้น การตีความและใช้อำนาจออกคำสั่งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

เช่น การพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง การตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือการยุบพรรคการเมือง

จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่าจะเป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่

4. สอดส่องโลกโซเชียล

มีหลักฐานการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของบางหน่วยงาน เพื่อโจมตี ด้อยค่า ให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ซึ่งหลายกรณีโจมตีด้วยคำหยาบคายให้เกิดความรู้สึกเดือดร้อนรำคาญ หรือรู้สึกในทางไม่ดี

แต่บางกรณีก็เป็นการผลิตข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ เพื่อทำลายชื่อเสียงอย่างเป็นระบบและเผยแพร่ส่งต่อกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

หากประชาชนผู้ใช้โซเชียลมีเดียพบเห็นลักษณะของการใช้ข้อมูลเท็จโจมตีทางการเมืองอย่างเป็นระบบ

ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

สามารถเก็บหลักฐานและส่งเรื่องร้องเรียน (Report) ไปยังผู้ให้บริการได้โดยตรง

หรือเก็บหลักฐาน URLs ที่เกี่ยวข้อง วันเวลาที่พบเห็น และเขียนอธิบายว่า เหตุใดจึงคิดว่าเนื้อหาเหล่านั้นเป็นการโจมตีใส่ร้ายด้วยข้อมูลเท็จ แล้วส่งข้อมูลที่พบเห็นมาทาง [email protected]

5. ยืนยันหลักการจัดตั้งรัฐบาลให้สะท้อนเสียงประชาชน

สิ่งที่ประชาชนทำได้เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปี 2566 เดินหน้าไปตามมติที่ประชาชนออกเสียงโดยไม่ถูกแทรกแซงโดยอำนาจอื่นๆ

ต้องยืนยันหลักการสามข้อให้ชัดเจนและหนักแน่นดังนี้

5.1 นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส.

5.2 ต้องให้พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากไม่สำเร็จ พรรคการเมืองอื่นถึงจะมีโอกาส

5.3 ส.ว.มีหน้าที่เพียงลงมติตามเสียงข้างมากของ ส.ส.เท่านั้น และต้องไม่งดออกเสียง

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ilaw.or.th

 

เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของ iLaw

ที่รณรงค์เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้

ถูกต้อง เที่ยงธรรม ที่สุด

ในฐานะประชาชน

จะร่วมมืออะไรได้บ้าง

โปรดพิจารณา •