จดหมาย ฉบับประจำวันที่ 10-16 มีนาคม 2566

• พูดเท็จ

“นิคคัณนะเห นิคคะหาระหัง ปัคคัณนะเห ปัคคะหาระหัง”

แปลว่า “ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม”

ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันทำตรงกันข้าม

คือ ดีหรือไม่ดี ชมลูกเดียว

เรียกว่าอยู่ในยุคประจบสอพลอ

เมื่อมีการประจบ มักจะมีการสอพลอเกิดขึ้น

จึงเป็นการไม่พูดความจริง ก็คือการพูดเท็จนั่นเอง ผิดศีล 5

ศาสนาคริสต์ก็มีข้อที่กล่าวไว้ว่า อย่าพูดเท็จ คืออย่าเป็นพยานเท็จ

ข้อนี้ ใครปฏิบัติ มักจะไดรับกรรมชัดเจนมาก

เป็นกรรมหนักมากด้วย

มีตัวอย่างเยอะแยะ

อ่านในพระไตรปิฎกจะพบอย่างชัดเจน

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

เราเพิ่งผ่านวันพระใหญ่ “มาฆบูชา”

มาหมาดๆ

ธรรมที่ “ตะวันรอน”

ส่งมาเตือนใจนานแล้ว

เรื่องการพูดเท็จนั้น

ดูจะเข้าบรรยากาศ “หาเสียง” ตอนนี้

ที่ดูเหมือนว่า เรื่องไม่จริง การประจบสอพลอ

เกิดขึ้นมากมายๆ

และคนพูด (หาเสียง) ก็ดูจะไม่กลัวต่อบาปเท่าใดนัก

ประชาชนในฐานะผู้ฟัง จึงต้อง “หูหนักๆ”

• ภูมิใจไทยอย่าละเลย

การที่ประชาชนไทยจะมีสุขภาพที่ดีนั้น

รัฐพึงจัดบริการสุขภาพทั้ง 4 ด้าน คือ

1) สร้างเสริมสุขภาพ

2) ป้องกันโรค

3) รักษาพยาบาล

4) ฟื้นฟูสุขภาพ

ให้ครอบคลุมประชาชนทั้ง 66.3 ล้านคนอย่างถ้วนหน้า โดยไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ เดิม สิทธิสุขภาพของผู้ที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง คือ สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ รัฐสาหกิจ ท้องถิ่นและอื่นๆ จำนวนประมาณ 20 ล้านคน จะครอบคลุมเฉพาะด้านรักษาพยาบาลเท่านั้น

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้อาศัยมติคณะรัฐมนตรีในแต่ละปี จัดสรรงบประมาณด้านสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพที่ขาดหายไปในสิทธิสุขภาพอื่นๆ ให้ครอบคลุมคนไทยถ้วนหน้า

ประกอบด้วย

1) บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

2) การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

3) บริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน

4) บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ซึ่งสิทธิดังกล่าวคุ้มครองคนไทยมานานกว่า 20 ปี

แต่ทว่า ในปีงบประมาณ 2566 ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ทักท้วงว่า สปสช.ไม่ควรมีอำนาจในการดูแลสิทธิอื่นนอกเหนือจากกลุ่มบัตรทอง

ส่งผลให้บริการดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทอง 47 ล้านคนเท่านั้น

ส่วนผู้มีสิทธิสุขภาพนอกบัตรทอง ซึ่งครอบคลุมข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างส่วนราชการ พนักงาน-ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ พนักงานองค์กรอิสระ พนักงานองค์กรมหาชนพนักงานกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา

รวมทั้งภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และ 39 เช่น พนักงานบริษัทเอกชน โรงงาน ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ

ที่เดิมเคยได้รับบริการสร้างเสริมป้องกันโรค 4 ด้านนี้ จะได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการสร้างเสริมป้องกันโรค

ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ที่ประกอบด้วยองค์กร กลุ่ม และเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค สุขภาวะของเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี พนักงานบริการ องค์กรด้านแรงงาน และผู้ให้บริการสุขภาพ

รวม 124 องค์กร

ในนามของผู้ได้รับผลกระทบจากการเสียสิทธิสุขภาพ

เห็นว่าการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็น “สิทธิสุขภาพ” ที่ประชาชนได้มาจากเงินภาษีของทุกคน นอกเหนือไปจากสิทธิการรักษาพยาบาล

จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรให้ประชาชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยก

และหากการส่งเสริมสุขภาพและกลไกการควบคุมป้องกันโรคไม่สามารถเข้าถึงประชาชนไทยได้ทั่วถึงเท่าเทียม

ประเทศไทยอาจเข้าสู่วงจรปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในอนาคตอันใกล้ได้

ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความความเข้าใจและทวงคืนสิทธิสุขภาพฯ ในวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยจัดกิจกรรมเป็นสองส่วน คือ เสวนาวิชาการและแถลงข่าว ณ ห้อง 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หลังจากนั้น จะยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับเลขาธิการ สปสช.

และจะเดินทางไป ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ยื่นจดหมายเรียกร้องการคืนสิทธิฯ ให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล

ในนามภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

 

พรรคภูมิใจไทย

เจอปัญหามากมายตอนนี้

หากในกรณีนี้ มีคำอธิบายที่ดีและฟังได้

อาจได้เสียงสนับสนุนคืนมาไม่น้อย

แต่ถ้าไม่ ก็อาจ “โดน” อีก •