จดหมาย

จดหมาย

 

• บ้านเขา (1)

อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 2214 (20-26 มกาคราคม 2566) พูดถึง Henry/Henri Dunant และ USPS

เลยอยากแบ่งปันกันหน่อย

1) ชื่อของ Dunant สะกดได้ทั้ง 2 แบบ ตามที่ปรากฏใน Wikipedia

Henry Dunant (born Jean-Henri Dunant; 8 May 1828-30 October 1910), also known as Henri Dunant…(https://en. wikipedia.org/wiki/Henry Dunant)

2) ประสบการณ์ของ “อีชั้น แอลเอ เจ้าเก่า” ที่มีต่อไปรษณีย์ไทยเทียบกับไปรษณีย์อเมริกัน (US Postal Service-USPS)

ต่างกับตัวเราอย่างสิ้นเชิง

เคยส่ง ป.ณ. ลงทะเบียน 3 ครั้ง ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา

ถึงป่านนี้ไม่รู้ชะตากรรม

เมื่อติดตามผ่าน website หรือ e-mail จะได้ข้อความ “พัสดุของท่านกำลังถูกส่งอยู่ภายในเครือข่าย USPS และอยู่ในเส้นทางที่จะจัดส่งไปยังปลายทางสุดท้าย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขนส่งไปยังสถานที่ต่อไป”

ถึงทุกวันนี้ถ้าเช็กก็ยังได้ข้อความทำนองนี้อยู่

เคยขอเคลมได้เงินคืนมา 1 ครั้ง แต่ใช้เวลาติดตามราว 1+ปี เคยต่อว่าทางอีเมล ก็ไม่มีคำขอโทษ แต่บอกว่าทำดีที่สุดแล้ว

ขอฝากและแบ่งปันแค่นี้นะ

ขอแสดงความนับถือ

ศ.เกษียณ

 

“อีชั้น แอลเอ เจ้าเก่า”

มีปัญหากับไปรษณีย์ไทย

ส่วน ศ.เกษียณ

มีปัญหากับไปรษณีย์อเมริกัน

ซึ่งคงไม่ได้หมายความว่า จะสรุปลงดื้อ-ดื้อ

“เรามีปัญหา คุณก็มีปัญหา”

แล้วเจ๊าๆ กันไป

แต่ก็หวัง (น้อย-น้อย) ร่วมกันว่า เมื่อสะท้อนปัญหาไปแล้ว

ทั้ง (ไปรษณีย์) บ้านเขาและบ้านเรา จะปรับปรุงการบริการให้ดีๆ ขึ้นต่อไป

 

• บ้านเขา (2)

สองปีหลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหาร วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

กองทัพเมียนมายังคงจับกุมพลเรือนโดยพลการ มีการทรมาน และสังหารพลเรือนโดยไม่ต้องรับผิด

นับแต่การทำรัฐประหาร ประชาชนเกือบ 3,000 คนถูกสังหาร

1.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานในประเทศ

กว่า 13,000 คนยังคงถูกควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม

มีรายงานการประหารชีวิตประชาชน 4 คน และมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 100 คน

นอกจากนั้น เด็กอีกกว่า 7.8 ล้านคน ที่ต้องออกจากโรงเรียน

การโจมตีของกองทัพเมียนมาต่อพลเรือนที่ถูกมองว่าต่อต้านระบอบของตนเองนั้น ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวออกไปอย่างกว้างขวาง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรง รวมทั้งการโจมตีทั้งทางอากาศและทางบกต่อพลเรือน

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาค ฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ที่กองทัพสามารถโจมตีสิทธิมนุษยชนทั่วทั้งประเทศได้เช่นนี้เป็นเพราะทั่วโลกยังไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งกำลังกลายเป็นความเสี่ยงที่ถูกลืมไป

“เราไม่สามารถปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้อีกต่อไป ในโอกาสครบรอบสองรัฐประหารในครั้งนี้ ต้องเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิบัติการระดับโลกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจากอาเซียน เพื่อคุ้มครองประชาชนในเมียนมา ซึ่งยังคงอยู่ใต้การกดขี่ของกองทัพในทุกวัน”

ท่ามกลางอันตรายและการประหัตประหารอย่างร้ายแรง ยังมีผู้คนที่กล้าหาญในเมียนมาที่ยืนหยัดชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป

ก่อนจะถึงโอกาสครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าว มีการจัดงานรำลึกและกิจกรรมอื่นๆ ในหลายเมืองทั่วโลก รวมทั้งที่กรุงเทพมหานคร และกรุงโซล เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประชาชนในเมียนมา

การออกมาพูดเพื่อประชาชนในเมียนมา ที่เสี่ยงต่อการถูกจำคุกอย่างยาวนาน การตกเป็นเหยื่อของการทรมาน และการสังหารระหว่างการควบคุมตัว เพื่อแสดงการต่อต้านโดยสงบ

ไม่ใช่การกระทำที่เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย

แต่เป็นการแสดงพลังยืนหยัดเคียงข้างกับพวกเขา ซึ่งนั่นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

แอมเนสตี้

อินเตอร์เนชั่นแนล

 

แม้เป็นเรื่อง “บ้านเขา”

แต่เราในฐานะเพื่อนบ้าน

ก็ไม่ควรเพิกเฉย

การละเมิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิทธิพื้นฐานประชาชน

ควรเป็นสิ่งที่ไม่ยอมรับ

แม้ “บ้านเรา” ดูเหมือนจะดีกว่า

แต่ใครจะปฏิเสธว่า ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสิทธิพื้นฐานประชาชนในบ้านเรา

ไม่ถูกละเมิด

และว่าที่จริงก็ยังไม่ได้ไปไหนไกลกว่าเมียนมา เท่าใดนักเลย กรณี ‘แบม-ตะวัน’ ที่ปะทุออกมาคือตัวอย่าง!

• บ้านเรา

นํ้าของปลา ฟ้าของนก นรกของท่าน

สัญชาตญาณสืบมาอย่าไขสือ

บริหารบ้านเมืองให้เลื่องลือ

ต้องยึดถือสัญญาประชาไทย

นกคือนกผกผินบินทั่วฟ้า

มิรู้ว่าฟ้านั้นมันไฉน

หนอนคือหนอนชอนทั่วเกลือกตัวไป

เพราะความมิเข้าใจ เข้าใจตน

สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ

 

บ้านเราตอนนี้

ล้นทะลักด้วย “คำสัญญา”

จากพรรคและนักการเมือง

เพื่อมัดใจประชาชน แลกกับคะแนนเสียง

มัดได้แล้ว

“ต้องยึดถือสัญญาประชาไทย”–นะท่านนะ •