จดหมาย

• ระวังภัย (1)

เกิดเป็น สว. (สูงวัย) ในฝันอย่างข้าพเจ้า

บ้านนี้เมืองนี้มันแสนจะรื่นรมย์สมอุรา ชื่นตาฟ้าเบิกบานจริง ผับผ่า…

รับเงินเดือนจากภาษีของชาวบ้านเดือนละสองสามแสน

แล้วยังมีเวลานอนตีพุงอยู่ข้างทางแบบนี้

และในฝัน ข้าพเจ้ายัง คิด…คิด…คิด… ร่วมกับพรรคพวก รุมหัวให้ความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าควรแก้ไข “รัฐธรรมนวย” มาตรา 115588 ให้พ่อเจ้าประคุณทูนหัวอยู่ยาวต่อไปจนสิ้นลมปราณ

แต่ อิ…อิ…จะทำอย่างไรมิให้ชาวบ้านชาวเมืองสรรเสริญเยินยอไปอีก 7 บรรพบุรุษของพวกข้าพเจ้า

ดารานำแสดง : สว. (สูงวัย) แขนงแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน นิรนามรายหนึ่ง (ฮา)

โลเกชั่น : ซอกหนึ่งของกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร

ตากล้อง : อีตา ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)

นอนฝันหวานไปเทอะ ท่าน สว. (สูงวัย)

ในโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้าย (ฮา)

โปรดระวังภัย!!

ส.ว. (สภาสูง) เขาอาจจะเอาจริง

คือนอกจากจะโหวตให้บางคนกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบแล้ว

ยังจะแก้ รธน.ให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่มีวาระ

ฝันดี มีโอกาสเป็นความจริงอันขมขื่นล่ายย…

 

• ระวังภัย (2)

ด้วยสถานการณ์ค่าครองชีพต่างๆ ที่สูงขึ้น

ผู้คนจำนวนมากมองหาโอกาสในการหารายได้เสริม และหางานเพิ่มขึ้น

โอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ หรือสแกมเมอร์ (Scammer) จึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก

จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) ประเทศไทย จึงอยากแนะนำผู้หางานให้ ‘ตั้งการ์ดพร้อมรับมือ’ และรู้เท่าทัน

โดยมี 6 วิธี สังเกตมิจฉาชีพประกาศรับสมัครงานปลอม ดังนี้

1. ยื่นข้อเสนอที่มากเกินกว่าความเป็นจริง

การได้รับเงินจำนวนมากจากการทำงานเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนใฝ่ฝัน

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ‘ข้อเสนองาน’ เหล่านี้มักจะเป็นงานจากมิจฉาชีพ

ผู้หางานควรตระหนักเสมอว่าไม่มีงานใดที่จะให้ค่าตอบแทนที่สูงมากด้วยวิธีที่ง่ายดาย

ยิ่งประกาศงานที่ต้องไปทำงานต่างประเทศ ผู้หางานยิ่งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

หากข้อเสนอดีมากจนเกินไป

มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ใช่เป็นตำแหน่งงานจริง

2. ผู้ประกอบการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการติดต่อ

หากผู้ประกอบการติดต่อคุณผ่านทางโซเชียลมีเดีย คุณควรเริ่มสงสัยและตั้งคำถาม

เพราะโดยทั่วไปผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยชอบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะติดต่อผู้สมัครงานผ่านทางอีเมล โทรศัพท์ หรือแอพพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความ ที่สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงขององค์กรได้

ในบางกรณีผู้ประกอบการอาจเลือกติดต่อผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มักจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการที่เป็นทางการมากขึ้นในการเจรจาครั้งต่อๆ ไป

3. องค์กรที่เปิดรับสมัคร ส่งอีเมลที่น่าสงสัยมาให้

การติดต่อผ่านทางอีเมลไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้ประกอบการหรือองค์กรนั้นๆ น่าเชื่อถือเสมอไปเช่นกัน โดยผู้หางานอาจต้องพิจารณาเนื้อหาของอีเมลประกอบควบคู่เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการหรือองค์กรดังกล่าวไม่ใช่มิจฉาชีพ

หากอีเมลนั้นๆ ถูกส่งมาจากอีเมลส่วนตัวหรืออีเมลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทน ควรตระหนักว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ข้อเสนองานนั้นอาจจะไม่ใช่ของจริง

4. ผู้ประกอบการขอข้อมูลส่วนตัวของคุณเกินความจำเป็นอาทิ รายละเอียดบัญชีธนาคารหรือหมายเลขประกันสังคม โดยข้อมูลเหล่านี้ผู้หางานสามารถเปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อบริษัทจ้างงานคุณแล้วเท่านั้น

5. ได้รับข้อเสนองานทันที โดยที่ไม่ต้องส่งใบสมัคร

หากมีคนติดต่อคุณผ่านช่องทางออนไลน์และเสนองานให้ทันที ให้ตระหนักไว้ก่อนว่าเป็นสัญญาณอันตราย

6. ให้ชำระเงินเมื่อสมัครงาน ในปีที่ผ่านมา สแกมเมอร์ได้หลอกลวงเหล่าผู้หางานมากมาย ทำให้เกิดการเสียทรัพย์และสูญเงินไปเป็นจำนวนกว่าหลายล้านบาท พวกเขามักโน้มน้าวเหยื่อให้จ่ายเงินโดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน

นอกจากนี้ ผู้หางานไม่ควรให้ข้อมูลบัตรเครดิตกับเว็บไซต์สมัครงานที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะโดยทั่วไปแล้ว การสมัครงานออนไลน์มักไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

จ๊อบส์ดีบี (JobsDB)

ประเทศไทย

 

 

ถือเป็นข้อมูล

ที่ควรย้ำเตือนตัวเองบ่อยๆ

ของภัยจากมิจฉาชีพสแกมเมอร์

เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

ซึ่งคนในบ้านเมืองนี้เผชิญกับตัวแทบทุกคน

เผลอเมื่อไหร่ มีสิทธิเป็นเหยื่อได้ตลอดเวลา •