จดหมาย

จดหมาย

 

• อาสาสมัคร (1)

จากการประเมินการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้

ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และความโปร่งใส จะยังคงมีอีก

การสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยประชาชนต้องขยายตัวอย่างกว้างขวาง

“เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” จึงเกิดขึ้น

เพื่อเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้

โดยมีวิสัยทัศน์คือ

หนึ่ง ป้องกันการโกงการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักสากล

สอง เพิ่มความไว้วางใจในกระบวนการการเลือกตั้ง พร้อมทั้งปฏิเสธเครื่องมืออื่นที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน

สาม ส่งเสริมพัฒนาการเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล

ทั้งนี้ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” มีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ดังนี้

1. ขอให้ กกต.ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นธรรม

เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต่อสาธารณะ

เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้ง

การเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยผ่านระบบออนไลน์

สนับสนุนประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และร่วมรณรงค์เลือกตั้ง

2. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ สร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยก่อนวันเลือกตั้ง

เช่น คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกคุกคาม

ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอํานวยความสะดวกในความดูแลของรัฐเพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง

เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง

3. ขอเชิญชวนให้ประชาชนในทุกเขตเลือกตั้งร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

โดยลงทะเบียนเป็นอาสาสมัคร หรือส่งข้อมูลความผิดปกติการเลือกตั้งในเขตของตนเองทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันเลือกตั้ง แก่ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” ผ่านทางเว็บไซต์ Vote62.com

“เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566”

 

เครือข่ายนี้

เป็นความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคม 101 องค์กร

อาทิ iLaw, We Watch, ACTLAB และ ทะลุฟ้า ฯลฯ

สนใจเข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ Vote62.com

ช่วยกันคนละไม้คนละมือ

ขณะที่เราฝากความหวังไว้กับ “กกต.” ได้ไม่มากนัก

• อาสาสมัคร (2)

ในวันที่ 20 มกราคม 2566

หน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา ประเทศไทย ฉลองการกลับมาดำเนินงานในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

ด้วยการต้อนรับอาสาสมัครชาวอเมริกัน จำนวน 52 คน สู่ราชอาณาจักรไทย

กลับมาปฏิบัติงานกับเพื่อนร่วมงานชาวไทยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

หลังต้องย้ายกลับประเทศอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 61 ปีของหน่วยสันติภาพฯ ที่ต้องอพยพอาสาสมัครที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ออกจากทุกประเทศ

ถึงกระนั้น ยังคงดำเนินงานกับผู้ร่วมงานชาวไทยผ่านออนไลน์

ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อให้อาสาสมัครได้กลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทย

อาสาสมัครหน่วยสันติภาพฯ เข้ามาปฏิบัติงานตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย

ดำเนินงานในโครงการสร้างเยาวชนเพื่อการพัฒนา หรือโครงการเพื่อนครูเพื่อการพัฒนา

อาสาสมัครในโครงการสร้างเยาวชนเพื่อการพัฒนา จะช่วยเตรียมความพร้อมของเยาวชนไทยให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา สร้างสรรค์ชุมชน หรือช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในวงกว้าง

จะให้ความรู้แก่เยาวชนในด้านทักษะชีวิต การเรียนรู้เรื่องจิตสาธารณะ วิถีชีวิตที่ถูกสุขอนามัย การมีส่วนร่วมของพลเมือง และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

อาสาสมัครในโครงการเพื่อนครูเพื่อการพัฒนา จะร่วมกับครูไทยพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษ โดยจะสนับสนุนความคิดริเริ่มด้านการศึกษาของรัฐบาลไทยและส่งเสริมโครงการการให้บริการเพื่อตอบแทนสังคม

หน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ

ทำงานร่วมกับสมาชิกในชุมชนท้องถิ่นตามคำเชิญของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ในโครงการด้านการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเกษตร การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาเยาวชน

สมาชิกของเครือข่ายหน่วยสันติภาพฯ จะพัฒนาทักษะที่ถ่ายทอดได้และฝึกฝนความสามารถระหว่างวัฒนธรรมผ่านจิตสาธารณะ ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นผู้นำระดับโลกรุ่นต่อไป

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ก่อตั้งหน่วยสันติภาพฯ ในปี 2504 ชาวอเมริกันกว่า 240,000 คน ได้ปฏิบัติหน้าที่ใน 142 ประเทศทั่วโลก

ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ประจำประเทศไทย

 

ขณะที่สังคมไทย

กำลังท่วมท้นด้วยกระแส “จีน”

สหรัฐก็มิได้เพิกเฉยที่จะ “ถ่วงดุล”

อาสาสมัครอเมริกัน เครือข่ายหน่วยสันติภาพฯ

ในบทบาท “ซอฟต์เพาเวอร์”

จึงคัมแบ๊ก!?! •