จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 1-7 กรกฏาคม 2565 ฉบับที่ 2185

 

จดหมาย

 

• กระแสโลก (1)

เนื่องใน “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture)

หรือที่เมืองไทยคุ้นเคยกันในนาม “วันต่อต้านการทรมานสากล” (26 มิถุนายนของทุกปี)

ปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รณรงค์การใช้ไม้กระบองต่อผู้ชุมนุม ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

เนื่องจากพบว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ยังคงใช้ไม้กระบองอย่างไม่ถูกต้อง อาจเข้าขั้นเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

ในปี 2564 แอมเนสตี้ฯ ตรวจสอบเหตุการณ์ 188 ครั้ง พบมีการใช้ไม้กระบองและอาวุธไม่ถูกต้อง ใน 35 ประเทศ

จึงขอเสนอกฎการใช้ไม้กระบองที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติดังนี้

สิ่งที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

1) ใช้ไม้กระบองเฉพาะเพื่อเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายด้วยความรุนแรง

2) ใช้ไม้กระบองเฉพาะเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่าแล้ว

3) ก่อนการใช้ไม้กระบอง ให้ประกาศคำสั่งอย่างชัดเจนเพื่อเตือนว่าอาจมีการใช้กำลังหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

4) ให้มุ่งตีที่บริเวณกล้ามเนื้อใหญ่ของร่างกาย (ต้นขา หรือต้นแขน) และหลีกเลี่ยงบริเวณที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส

5) ต้องมีเหตุผลชัดเจนในการตีแต่ละครั้ง และให้ยุติการใช้ไม้กระบองทันที เมื่อบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว

สิ่งที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ควรปฏิบัติ

1) ใช้ไม้กระบองต่อบุคคลที่อยู่ในความสงบแล้ว หรือไม่ได้ใช้กำลังในการตอบโต้

2) ใช้ไม้กระบองต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอยู่

3) ใช้ไม้กระบองเพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบ

4) “การไล่ตีด้วยไม้กระบอง” เช่น การใช้ไม้กระบองไล่ตีขณะวิ่งตามผู้ชุมนุมกำลังหนี

5) เล็งเป้าหมาย “ที่มีความเสี่ยงสูง” (เช่น ศีรษะ คอ กระดูกสันหลัง ลำคอ ขาหนีบ) ยกเว้นในสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่การทำร้ายให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต และไม่มีแนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหาแล้ว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ให้พื้นที่แอมเนสตี้ฯ บ่อยสักนิด

แต่น่าสนใจ

ด้วยตอนนี้ ม็อบต่างๆ กำลังหวนมา

ประกอบกับผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

เปิด 7 พื้นที่ให้มีการชุมนุมโดยสงบและปลอดภัย

การสลายม็อบอย่างรุนแรงจากฝ่ายควบคุมฝูงชน

จึงควรมีการทบทวนให้เหมาะสมด้วย

เช่นกรณีกระบอง ที่ถูกนำเสนอขึ้นมานี้

 

• กระแสโลก (2)

จ๊อบส์ดีบี เปิดผลสำรวจสรุปภาพรวมและแนวโน้มตลาดงาน ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดลดลง

ธุรกิจที่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วมี 4 ธุรกิจ คือ

ธุรกิจสารเคมี พลาสติก กระดาษ และปิโตรเคมี

เพราะได้รับผลพวงเชิงบวกมาจากการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นสูงมากจากการจัดส่งอาหารในช่วงโรคระบาด

ธุรกิจไอที ที่เติบโตจากพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลที่ผลักดันการนำเอาอุปกรณ์ไอทีมาประยุกต์ใช้

ธุรกิจการผลิต จากดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการควบคุมโรคระบาดเริ่มผ่อนปรนลง และธุรกิจการแพทย์และเภสัชกรรม ที่ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตโรคระบาดหลายปีที่ผ่านมา

ธุรกิจที่กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดเหล่านี้ ส่งผลให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเกี่ยวข้องดีดตัวกลับมา

โดยธุรกิจไอที, ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก และธุรกิจการเงินและการธนาคาร ถือเป็น 3 ธุรกิจที่มีการเปิดรับสมัครงานสูงสุด

คือ 1) ธุรกิจไอที คิดเป็น 11.3%

2) ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก คิดเป็น 10.8%

3) ธุรกิจธนาคารและการเงิน คิดเป็น 8.4%

อนึ่ง จ๊อบส์ดีบี ได้ร่วมมือกับบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และเดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) จัดทำแบบสำรวจระดับโลก “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล” (Decoding Digital Talent Survey) จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ

เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปของแรงงานที่มีทักษะดิจิตอลทั่วโลก

ผลสำรวจพบว่า แรงงานที่มีทักษะดิจิตอลมีความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนงานภายใต้สายงานเดิม

โดยมีปัจจัยด้านความต้องการแสวงหาโอกาสในการก้าวหน้าอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และความท้าทายใหม่ๆ เป็นแรงจูงใจหลัก

นอกจากนี้ แรงงานยุคดิจิตอลจำนวนไม่น้อยตระหนักถึงความสะดวกสบายจากการทำงานระยะไกลในช่วงวิกฤตโรคระบาด

โดยเกือบ 70% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานแบบระยะไกลให้กับองค์กรที่อยู่ต่างพื้นที่

5 ประเทศที่แรงงานในยุคนี้สนใจต้องการทำงานระยะไกลให้มากที่สุด

คือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จีน และสิงคโปร์

จ๊อบส์ดีบี

https://jobsdb.me/PR

 

ยุคนี้ต้องถือว่า คนที่มีทักษะดิจิตอล

เป็น “มนุษย์ทองคำ”

ที่โลกต้องการ

ถือเป็นข้อมูลให้ผู้ที่กำลังเลือกสาขาการศึกษา การทำงาน

พิจารณาว่าควรจะกระโดดร่วมไปตามกระแสนี้อย่างไร

และหากไม่ได้อยู่ในกระแส

จะทำอย่างไรไม่ให้ถูก “ดิสรัปชั่น” •