จดหมาย

 

จดหมาย

 

• ราคาอาหารหลัง 8 ปีรัฐประหาร

หลังรัฐประหาร 8 ปี (พฤษภาคม 2557-2565) ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 55.9% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 6.5% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเงินเฟ้อของทางราชการ

แสดงว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของทางราชการไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ทั้งนี้ เป็นผลสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th)

ที่ได้สำรวจราคาอาหาร ซึ่งถือเป็นดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ 18 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555

ครั้งที่ 2 วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2555

ครั้งที่ 3 วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2556

ครั้งที่ 4 วันจันทร์ 11 พฤศจิกายน 2556

ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2557

ครั้งที่ 6 วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน 2557

ครั้งที่ 7 วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2558

ครั้งที่ 8 วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2558

ครั้งที่ 9 วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2559

ครั้งที่ 10 วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2559

ครั้งที่ 11 วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2560

ครั้งที่ 12 วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560

ครั้งที่ 13 วันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2561

ครั้งที่ 14 วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน 2561

ครั้งที่ 15 วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2562

ครั้งที่ 16 วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563

ครั้งที่ 17 วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2564

ครั้งที่ 18 วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2565

การสำรวจนี้ดำเนินการเฉพาะในพื้นที่สีลม-สุรวงศ์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจหรือ Central Business District (CBD) ของประเทศไทย และมีคนทำงานในสำนักงานเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ โดยมีสมมุติฐานว่าราคาอาหารในย่านนี้น่าจะเป็นราคามาตรฐานเพราะเป็นในใจกลางเมือง ในบริเวณอื่นน่าจะถูกกว่านี้ ยกเว้นในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้ไปท่องเที่ยวเป็นครั้งคราว

การสำรวจพื้นที่สีลม จึงถือเป็นตัวแทนสำคัญสำหรับกรุงเทพมหานครและประเทศไทยโดยรวม

การสำรวจจะเดินสำรวจซ้ำตามร้านเดิมที่เคยสำรวจไว้จำนวน 20 กว่าบริเวณ

บางบริเวณเป็นร้านอาหารร้านเดียว บางบริเวณเป็นศูนย์อาหาร

พร้อมบันทึกถ่ายภาพนิ่ง และวีดิทัศน์ประกอบ และในบางบริเวณมีร้านค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามห้วงเวลาอีกด้วย

โดยแต่ละครั้งที่สำรวจ ใช้เวลาในการเดินไม่เกิน 2 ชั่วโมงในช่วงเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน

ผลการสำรวจทั้ง 18 ครั้งที่ผ่านมา พบว่าราคาอาหารเฉลี่ย เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ซึ่งเมื่อประเมินจากภาพรวมสะสม 10 ปี (พฤษภาคม 2555-มิถุนายน 2565) ราคาเพิ่มจาก 31.0 บาท เป็น 57.8 บาท หรือเพิ่มขึ้น 86.3%

และหากคิดเป็นการเพิ่มขึ้นต่อปี ก็เท่ากับเพิ่มขึ้นประมาณ 6.4% ต่อปี

ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร เพราะสูงกว่าอัตราภาวะเงินเฟ้อ

ราคาอาหารล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2565 หรือ 8 ปีหลังรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 เพิ่มขึ้น 68.3% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 6.7% ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมาก หากเทียบกับก่อนรัฐประหารในช่วงเดือนพฤษภาคม 2555-2557 ปรากฏว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นเพียง 10.7% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 5.2% ต่ำกว่าช่วงหลังรัฐประหาร

ดังนั้น ในยุคก่อนรัฐประหาร ราคาอาหารเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงหลังรัฐประหารอย่างชัดเจน

การที่รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องถึงรัฐบาลประยุทธ์หลังเลือกตั้ง ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ราคาอาหารกลับเพิ่มขึ้น 68.3% ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา

แสดงให้เห็นว่า ความพยายามอาจจะยังไม่สัมฤทธิผลมากนัก แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองมาก ประชาชนทั่วไปต่าง “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาในช่วงปี 2563-2564 เพิ่มขึ้นในอัตราเพียง 4.0%

แต่สำหรับปี 2565 เพราะการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้นถึง 7.9% ในปีล่าสุด (2564-2565)

ราคาอาหารในปี 2565-2566 น่าจะยังถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศไทยก็ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นนัก แต่เงินเฟ้อจะสูงมาก โดยดูจากราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ราคาวัสดุก่อสร้างก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาอาหารก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th)

 

ถือเป็นการสำรวจที่แตกต่างจากโพลอื่นๆ

ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

ด้วยอาจเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง

ที่จะตอบคำถามว่าการรัฐประหาร

นำไปสู่สิ่ง “ที่ดีขึ้น” หรือไม่

• ความสงบจบที่ลุงตู่

1) “คำดิ…พี่สม”

2) “แหงะ… ตั้งแต่หมูแพง น้ำมันแพง ค่าแรงถูก สวาปามคนเดวทั้งกะละมังเจียวนะ สะกิดยังไงก็ไม่สนใจเพื่อนร่วมโลกข้างกายเลยนะ เห็นยัง…เลือกสงบจบที่ลุงตู่ เงียบวังเวงเป็นป่าช้าเลยนะมึง เอ๊ย…พี่สม (ฮ่า)

ดารานำแสดง : บักสม (เมืองสุรินทร์) ลูกน้อง บักพงศ์ (เมืองหละปูน) และบักบอย (วัดห้วยขวาง) เจ้าเก่า

ตากล้อง : อีตา ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

“ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) •