จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 6-12 พฤษภาคม 2565 ฉบับที่ 2177

 

จดหมาย

 

• First Time Voter

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 2,522 คน (สำรวจด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนามและออนไลน์) ระหว่างวันที่ 12-28 เมษายน 2565

พบว่า คนกรุงเทพฯ จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งแน่นอน ร้อยละ 82.20

ส่วนใหญ่ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จากโทรทัศน์ ร้อยละ 63.56 รองลงมาคือ ป้ายโปสเตอร์ ป้ายประกาศ ป้ายหาเสียง ร้อยละ 56.82

ให้ความสนใจผู้สมัครอิสระร้อยละ 56.11

รองลงมาคือ ผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง ร้อยละ 29.58

ทั้งนี้ จะตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ จากนโยบาย ร้อยละ 58.37

รองลงมาคือ ขยัน ตั้งใจทำงาน ร้อยละ 50.32

การหาเสียงของผู้สมัครในปัจจุบันมีผลต่อการตัดสินใจมาก ร้อยละ 43.54

ณ วันนี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ชื่นชอบคือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 39.94

รองลงมาคือ อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 14.16

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 13.37

และมองว่าคะแนนนิยมจากการทำโพลสำนักต่างๆ ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. ร้อยละ 64.79

คนกรุงเทพฯ ยังคงให้ความสนใจผู้สมัครอิสระมากกว่าผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง โดยเฉพาะคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่คะแนนนำมาอย่างต่อเนื่อง

ผลโพลของสวนดุสิตโพลเมื่อธันวาคม 2564 พบว่า คนกรุงเทพฯ จะเลือกผู้สมัครอิสระ ร้อยละ 38.65 และเมื่อเทียบกับผลโพลครั้งนี้ผู้สมัครอิสระยังคงครองใจคนกรุงเทพฯ ถึงร้อยละ 56.11

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองยังไม่ตรงใจมากนัก

ที่สำคัญในช่วง 9 ปีที่ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้มีกลุ่ม First Time Voter เกือบ 7 แสนคน

ซึ่งผลโพลครั้งนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ตัดสินใจ

ดังนั้น ต้องติดตามกันต่อไปว่าการเลือกตั้งของกลุ่ม First Time Voter จะเป็นอย่างไร

เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. น่าจะส่งผลต่อภาพใหญ่การเมืองไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

นางสาวพรพรรณ บัวทอง

นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

9 ปีที่เราไม่ได้เลือกตั้ง

ทำให้กลุ่ม First Time Voter เกือบ 7 แสนคน น่าสนใจ

ต้องติดตามว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้

จะตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.อย่างไร

 

• วัคซีนโควิด กับอินโด-แปซิฟิก

ภายใต้ความร่วมมือด้านวัคซีนของกลุ่มภาคี 4 ประเทศ (Quad’s Vaccine Partnership)

นางสุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตอินเดีย, นายอัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย, นายคะสุยะ นะชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และนายเจมส์ เวย์แมน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ร่วมกันส่งมอบวัคซีน Covovax สำหรับโรคโควิด-19 จำนวน 200,000 โดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตในอินเดีย ให้กับราชอาณาจักรไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับมอบในวันที่ 21 เมษายน 2565

วัคซีนล็อตนี้เป็นการส่งมอบครั้งที่ 2 โดยอินเดียภายใต้ความร่วมมือด้านวัคซีนของกลุ่มภาคี 4 ประเทศ

หลังการส่งมอบครั้งแรกให้กัมพูชาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565

โดยเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ณ การประชุมผู้นำกลุ่มภาคี 4 ประเทศ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เดือนกันยายน 2564

ที่จะบริจาควัคซีนโควิด-19 จำนวน 500,000 โดสให้แก่บรรดาประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ผู้นำกลุ่มภาคี 4 ประเทศประกาศความร่วมมือด้านวัคซีนนี้ที่การประชุมแรกของกลุ่มเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 โดยใช้ความแข็งแกร่งจากการผนึกกำลังของทั้งสี่ชาติ เพื่อทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพได้อย่างเสมอภาค

สมาชิกกลุ่มภาคี 4 ประเทศได้มอบวัคซีนโควิด-19 ให้ไทยแล้วรวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านโดส

อีกทั้งยังช่วยเหลือด้านการส่งวัคซีนจากสถานที่จัดเก็บไปยังจุดหมายปลายทางและด้านการเงิน

เพื่อให้มั่นใจว่าผู้คนจะได้รับการฉีดวัคซีน

ออสเตรเลียกำลังช่วยไทยส่งวัคซีนให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไปยังประชากร ซึ่งรวมถึงผ่านการพัฒนาระบบข้อมูลและกลยุทธ์การสื่อสารที่มุ่งเน้นกลุ่มผู้อพยพ

อินเดียได้ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของไทยในการต่อสู้กับโรคระบาดด้วยการมอบเครื่องผลิตออกซิเจนและยาสำคัญๆ

ญี่ปุ่นได้ส่งมอบเครื่องผลิตออกซิเจนเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือคุณภาพสูงสำหรับการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนผ่านโครงการ Last One Mile Support

ในขณะที่สหรัฐช่วยเหลือด้านการเฝ้าระวังและติดตามโรค สอบสวนโรค ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และบริหารจัดการข้อมูล

ฝ่ายสื่อสารมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

ขณะที่บางฝ่ายในไทย

กำลังตั้งป้อมกับนโยบายอินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐ และพันธมิตร

แต่สหรัฐและพันธมิตรดูจะรุกคืบในทุกช่องทางที่เปิดให้

รวมถึงเรื่อง “วัคซีนโควิด” ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะลดความร้อนแรง

แต่ Quad’s Vaccine Partnership ก็ยังเดินหน้า

ที่น่าสนใจ มีอินเดียเข้ามามีบทบาทด้วย

โลกที่กำลังแบ่งขั้ว การเคลื่อนไหวต่างๆ ล้วนต้องจับตามอง

แม้กระทั่งเรื่องมนุษยธรรมอย่างกรณีวัคซีนโควิดด้วย •

 

 

ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า ห่างหายไประยะหนึ่ง จนรู้สึกเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม รูปเก่าเล่าเรื่อง ของปิยพงศ์ยังมีอยู่ในแฟ้ม

เป็นภาพเก่าเมื่อการเลือกตั้ง 2 กรกฎาคม 2538

โดยบรรยายภาพไว้ว่า “ใต้เท้าเปาฯ ผันตัวไปหารายได้พิเศษ รับเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาเลือกตั้งที่เมืองแพร่”

“หลังเป็นพรีเซ็นเตอร์ค้าผง (ซักฟอก) มาแล้ว”

ดูภาพแล้ว หวังว่าคน กทม. พัทยา และราชบุรี ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนนี้ จะออกไปใช้สิทธิ ตามที่ใต้เท้าเปาฯ เชิญชวน •