จดหมาย ประจำวันที่ 4-10 มีนาคม 2565 ฉบับที่ 2168

 

จดหมาย

 

เชียร์

สักวาน่าอิจฉา “พรรคก้าวไกล”

ได้ผู้มาอยู่ใหม่ชื่อ “ถวิล”-

ไพรสณฑ์ คนฮือฮา ทั่วธานินทร์

เพราะ “ตงฉิน” ฝีมือเลื่องลือชา

เป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย

เป็นอดีตรัฐมนตรีไม่มีในข้อครหา

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นดิ้นเรื่อยมา

เมื่อเห็นว่าก้าวไกลเอาด้วยเข้าช่วยเอย

สมโชค พลรักษ์

 

เชียร์มาก็เชียร์ไป (ฮา)

ซึ่งก็หวัง “เป้าหมาย” ที่ตั้งใจ

คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะเป็นจริง

เพราะนั่นดูจะเป็นความหวังของหลายคน

และพร้อมร่วมเชียร์

 

• ชวน (ให้) เชื่อ

รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ได้สร้างความก้าวหน้าครั้งประวัติศาสตร์เพื่อฟื้นฟูความเป็นผู้นำของอเมริกาในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และปรับบทบาทของรัฐสำหรับศตวรรษที่ 21 ในปีที่แล้ว

สหรัฐได้พัฒนาพันธไมตรีที่มีมาช้านานให้เหมาะสมกับยุคสมัย

ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ และเชื่อมโยงพันธมิตรของเราด้วยแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้รับมือกับความท้าทายเร่งด่วน

ตั้งแต่การแข่งขันกับประเทศจีน

ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดใหญ่

สหรัฐดำเนินการดังกล่าวในช่วงเวลาที่พันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วโลกกำลังมีส่วนร่วมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น

และยังเป็นช่วงเวลาที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายในรัฐสภาสหรัฐ เห็นพ้องกันเป็นวงกว้างว่าจะต้องทำเช่นนี้ ความมุ่งมั่นที่ประเทศต่างๆ มีต่อภูมิภาคนี้โดยพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะมีมหาสมุทรกางกั้นหรือมีนโยบายทางการเมืองเช่นใดก็ตาม

สะท้อนให้เห็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก

และอนาคตของภูมิภาคนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก

ความจริงข้อนั้นเป็นพื้นฐานของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ ยุทธศาสตร์นี้แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีไบเดนที่จะให้สหรัฐยืนหยัดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างเต็มภาคภูมิยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคนี้ไปพร้อมกัน

โดยหัวใจสำคัญคือความร่วมมืออย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์กับพันธมิตร หุ้นส่วน และองค์การต่างๆ ภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาค

สหรัฐจะดำเนินการเพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในเรื่องความมั่นคง ดังนี้

เป็นเวลา 75 ปีแล้วที่สหรัฐดำรงบทบาทด้านความมั่นคงโดยหนักแน่นและสม่ำเสมอ ซึ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาค

เรากำลังขยายและปรับปรุงบทบาทนั้นให้ทันสมัย รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการปกป้องผลประโยชน์ของเรา และเพื่อยับยั้งการรุกรานดินแดนของสหรัฐ ตลอดจนพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา

เราจะสร้างเสริมความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยใช้อำนาจทุกรูปแบบที่มี เพื่อยับยั้งการรุกรานและเพื่อตอบโต้การบีบบังคับ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

– การยกระดับการป้องปรามแบบบูรณาการ

– การยกระดับความร่วมมือและความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันกับพันธมิตรและหุ้นส่วน

– การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพตลอดแนวช่องแคบไต้หวัน

– การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่ภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงด้านอวกาศ ไซเบอร์สเปซ ตลอดจนเทคโนโลยีที่สำคัญและอุบัติใหม่

– การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องปรามและประสานงานที่ครอบคลุมมากขึ้นกับพันธมิตรของเราในสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น และผลักดันการปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

– การสานต่อปณิธานของหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ (AUKUS)

– การขยายบทบาทของหน่วยยามฝั่งสหรัฐ และความร่วมมือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามข้ามชาติอื่นๆ

การทำงานร่วมกับรัฐสภาสหรัฐ เพื่อให้ทุนแก่โครงการ Pacific Deterrence Initiative และ Maritime Security Initiative

ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

ประจำประเทศไทย

 

เอกสารข้อเท็จจริง : ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา นี้

สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ส่งมาเผยแพร่เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

“มติชนสุดสัปดาห์” ตัดทอนเฉพาะในส่วน “ความมั่นคง” มาให้อ่าน

อ่านเพื่อให้รู้ว่ามหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐ คิดและจะปฏิบัติอย่างไรกับพื้นที่อินโด-แปซิฟิก

ซึ่งสมควรต้องเอาใจใส่

โดยเฉพาะเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โลกแบ่งเป็นขั้วชัดเจน สงครามร้อนและเย็นจะดำเนินไปอย่างดุเดือด

การดึงให้ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยเข้าขั้วแต่ละขั้ว ย่อมเป็นไปอย่างเข้มข้น

พื้นที่อินโด-แปซิฟิกจึงดุเดือดแน่

ซึ่งไทยคงต้องวางตัวให้ดีๆ ระมัดระวังและรอบคอบ

เพื่อประโยชน์ของประเทศ

ไม่เลือกขั้วสหรัฐ-ชาติตะวันตก หรือขั้วรัสเซีย-จีน

ด้วยทัศนะคับแคบอยู่ใน “กะลา” •