จดหมาย ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2565 ฉบับที่ 2167

 

จดหมาย

 

• อาจินต์-แน่งน้อย

ผมติดตามอ่าน “รำลึกอาจินต์ 8 ปี ที่แก่งเสี้ยน” โดยคุณแน่งน้อย ปัญจพรรค์ มาอย่างต่อเนื่อง

นึกถึงความอดทน ยืนหยัด และความรักของท่าน ที่มีต่อ บก.อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในช่วงท้ายชีวิตอย่างเต็มที่

บก.อาจินต์เคยปรารภให้ผมฟังว่า นักเขียนที่ดี ควรมีทัศนคติการเขียนที่ดี ที่สร้างสรรค์ ขยัน ซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณในวิชาชีพเสมอ

มีคนในสังคมที่เขียนเรื่องราว ฯลฯ ที่ไม่ดีถมไป

เราต้องเป็นตาชั่งเขียนเรื่องดีๆ เรื่องจรรโลงสังคม มาคานน้ำหนักอีกด้านให้ได้

สังคมเราจึงจะดูสดใส น่าอยู่

ในช่วงปั้นปลายชีวิต บก.อาจินต์ ผมเชื่อว่าท่านได้ตอบแทนสังคมอย่างดี เท่าที่วิสัยของท่านจะทำได้

ได้สร้างสรรค์ผลงาน ทั้งการประพันธ์ รายการทีวีและเพลง สร้างนักเขียนประดับวงวรรณกรรม อนุรักษ์การใช้ภาษาอย่างถูกต้อง และยืนหยัดอย่างมั่นคงในจรรยาบรรณวิชาชีพ

ขอน้อมคารวะถึงท่าน

สมวุฒิ สุนทรวิจิตร

ศรีราชา

 

เชื่อว่าหลายคนอ่าน “รำลึกอาจินต์ 8 ปี ที่แก่งเสี้ยน”

คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกับ “สมวุฒิ สุนทรวิจิตร”

โดยเฉพาะเรื่อง “ตาชั่ง”

การ “คานน้ำหนัก” ในเรื่องที่เขียนให้ดี

น่าจะลดการปะทะอันไม่จำเป็นลงได้ไม่น้อย

 

• แรมโบ้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำงานในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

และให้คำมั่นที่จะดำเนินงานต่อไป เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศนี้

แม้มีเสียงเรียกร้องให้ขับไล่องค์กรออกจากประเทศในตอนนี้

ในฐานะที่เป็นขบวนการของคนธรรมดาที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ในกว่า 70 ประเทศ มีสมาชิกและผู้สนับสนุนใน 150 ประเทศและดินแดน

ไม่ว่าเป็นการดำเนินงานในที่ใด

เรามีภารกิจเดียวกันคือ การป้องกัน ตรวจสอบ และกระตุ้นให้รัฐ บรรษัท และหน่วยงานหรือบุคคลอื่นต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เราให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ต่อการดำเนินงานที่ทำได้ ให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน

เราจะยังคงดำเนินงานเช่นนี้ต่อไปอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

เราพร้อมจะตอบคำถามที่รัฐบาลมีเกี่ยวกับการทำงานของเราในประเทศไทยต่อไป

แม้เราตระหนักว่า รัฐบาลไทยมีหน้าที่คุ้มครองความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ

แต่เรายังคงต้องเน้นย้ำว่า ทางการต้องปฏิบัติหน้าที่นี้ในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

และต้องเป็นการดำเนินงานที่ได้สัดส่วน จำเป็น และตอบสนองต่อพันธกรณีของรัฐบาล เพื่อประกันและสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

การรณรงค์ต่อต้านแอมเนสตี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ทางการกำลังดำเนินงานเพื่อประกาศใช้กฎหมายที่กำลังถูกจับตามอง เพื่อควบคุมกำกับหน่วยงานไม่แสวงหากำไรในประเทศ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … อาจส่งผลอย่างร้ายแรงต่อภาคประชาสังคมทุกส่วนในประเทศไทย

และที่ผ่านมาแอมเนสตี้ได้เรียกร้องในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ เพื่อให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายนี้ และให้เปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติม

การโจมตีแอมเนสตี้เกิดขึ้นพร้อมกับสภาวะที่ทางการไทยดูจะมีความอดทนต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยลง

ไคลด์ วอร์ด

รองเลขาธิการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

พฤศจิกายน 2564 แรมโบ้อีสาน ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์

ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ออกมานำขับไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้พ้นไทย

26 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบสนอง

ด้วยการประกาศให้มีการสอบสวนแอมเนสตี้

และล่าสุด 10 กุมภาพันธ์ นายอานนท์ แสนน่าน อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย นำรายชื่อประชาชน 1,200,000 มามอบให้นายเสกสกล

เพื่อนำไปยื่นต่ออธิบดีกรมการปกครอง และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเพิกถอนองค์กรดังกล่าว

คึกคัก เอาจริงเอาจัง

ในฐานะผู้ประกาศตนปั้น พล.อ.ประยุทธ์

รอดูต่อไปว่า ด้วยบทบาทอัน “โดด” และ “เด่น” นี้

จะกดดันให้ไล่ “แอมเนสตี้” ได้สำเร็จหรือไม่ •