จดหมาย ประจำวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ฉบับที่ 2164

จดหมาย

 

0 ชัยชนะที่ไม่ชนะ (1)

เมื่อคืนสวดมนต์แล้ว

นึกถึงบ้านเมืองที่แตกแยกวุ่นวาย

ทำให้นึกถึงทางแก้ไขได้ จากบทเรียน “ลิลิตพระลอ” ที่ผมอ่านสมัยชั้นประถม และปัจจุบันก็ยังอ่านอยู่

ทั้ง 2 เมือง แก้ปัญหาโดยยึดหลักอโหสิกรรมหลังจากการเสียชีวิตของคน 7 คน

1) พระลอ 2) พระเพื่อน 3) พระแพง 4) นางรื่น 5) นางโรย 6) นายแก้ว 7) นายขวัญ

ทั้ง 2 ฝ่ายสูญเสียรวม 7 คน ถ้าเราจะทำบุญให้ก็ควรทำให้ครบ 7 วัน ร่วมกันอโหสิกรรมให้ทุกๆ ฝ่าย

เป็นการสร้างกุศล ที่เสียสละเพื่อให้เกิดความร่มเย็น แก่คนทั้ง 7 คน

การเอาชนะไม่มีวันชนะหรอกครับ

มีแต่การแพ้และสูญเสีย

ผมผ่านเหตุการณ์มาทุกอย่าง ไม่เคยเห็นการชนะที่แท้จริงเลย

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

2 เมืองที่ตะวันรอนว่า

คือ เมืองสรวงและเมืองสรอง

กว่าจะกลับมามีไมตรีต่อกันได้

ก็ต้องสูญเสียบุคคลทั้ง 7 อย่างน่าสลดใจ

ซึ่งอาจจะรวมถึง “พระเจ้าย่าเลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง” ต้นตอแห่งความพยาบาทด้วย

บทเรียนของการมุ่งเอาชนะอย่างเดียว ที่ไม่ได้นำไปสู่ชัยชนะอย่างแท้จริงนั้น

ว่าที่จริง ถูกยกขึ้นมาเตือนใจหลายครั้ง

แต่เราก็ก้าวข้ามไม่ได้

รวมถึงความพยาบาททางการเมืองของไทยในปัจจุบันด้วย

 

0 ชัยชนะที่ไม่ชนะ (2)

ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของรัฐประหารกองทัพเมียนมา

โดยทำรัฐประหารช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

นับแต่นั้นมา กองทัพได้สังหารประชาชนกว่า 1,400 คน และจับกุมกว่า 11,000 คน

ปัจจุบันยังมีผู้ถูกควบคุมตัวอยู่อีกกว่า 8,000 คน

ตอนนี้ยังมีการเปิดฉากโจมตีทางอากาศอย่างไม่เลือกเป้าหมาย

ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตในภาคตะวันออกเฉียงใต้

มีการขัดขวางการเข้าถึงความช่วยเหลือ และยังคงปฏิบัติการนองเลือดเพื่อโจมตีนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าว ซึ่งมีทั้งที่ถูกควบคุมตัวและสังหารระหว่างการควบคุมตัว

รัฐบาลหลายประเทศยังคงเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพิกเฉยต่อการทารุณกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

เหมือนกับครั้งที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญา

ประชาชนชาวเมียนมาอยู่ในภาวะสิ้นหวัง

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงต้องหยุดประวิงเวลา ต้องประกาศใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธระดับโลก และใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำกองทัพ

และจะต้องส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน

นอกจากนั้น บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับกองทัพ หรือหน่วยงานธุรกิจของกองทัพ ต้องถอนตัวออกมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

เพื่อไม่ให้กองทัพมีรายได้ที่นำไปใช้ในปฏิบัติการเข่นฆ่าประชาชนต่อไป

ในภูมิภาคนี้ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต้องทำหน้าที่อย่างมีเอกภาพต่อกรณีเมียนมา และเรียกร้องให้กองทัพยุติการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนโดยทันที

อาเซียนยังควรกดดันกองทัพให้ยุติการปิดกั้นการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และขยายเนื้อหาและดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อที่มีกรอบเวลาชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมายังคงมีแต่ความล้มเหลว

ในปีใหม่นี้ ต้องมีการเปลี่ยนแนวทางเพื่อจัดการกับเมียนมา และต้องไม่เพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิและปฏิบัติการมิชอบที่เกิดขึ้นในเมียนมาอีกต่อไป

มิงยู ฮาห์

รองผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาค

ฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

1 ปีเหมือนรัฐบาลทหารเมียนมาชนะ

แต่ชนะจริงหรือ

เช่นกัน 7 ปีของการรัฐประหารไทย

ลุงๆ เขาได้ชัยชนะจริงหรือ?!?