จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 18-24 สิงหาคม 2560

ทางพระ

อ่านบทความล่าสุดที่พิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์
ตอนที่พระพุทธเจ้ามอบเซนให้กับพระมหากัสสปะที่เขาคิชฌกูฏ ถ้ำสุกรบรรณพตคูหาแล้ว
นึกถึงพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งบอกเซนนั้นก็คือบาตรและสังฆาฏิ (อาจเป็นย่ามที่สามารถใส่บาตรได้ตามที่พระธุดงค์ใช้กัน)
แต่ผมยังสงสัยเรื่องขนาดของบาตร
เห็นพระนิกายจีนและพระวัดป่ามีบาตรใบเล็กๆ มาขอเงินตามตลาด
ในขณะที่พระป่าของเรามีบาตรใบใหญ่ที่ไว้รับอาหารนั้น
ภาษาอังกฤษในพระไตรปิฎกภาษาอังกฤษเรียกเซนนี้ว่า Begging bowl
ส่วนสังฆาฏินั้นอ่านไม่เจอในนั้นและเนื้อหาในเล่มนี้จะพูดถึงการจาริกพระศาสนาในประเทศจีนหลังจากที่พระมหากัสสปะรับบาตรจากพระพุทธเจ้าไปแล้ว
ในเนื้อหานักธรรมโทที่เราเรียนกันเรื่องบริขารของพระในหนังสือวินัยบัญญัติพูดถึงแต่บาตรที่พึงใช้และไม่พึ่งใช้ประกอบด้วยบาตรไม้และบาตรเหล็ก
ส่วนบาตรอื่นๆ เช่น บาตรกะโหลกผี บาตรแก้วมณี บาตรไม้ บาตรดิน ไม่ควร
อ่านไปได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินมากเลย
ยิ่งในข่าวสดเรื่องของพระยามิลินท์ตอบคำถามไม่ทราบว่ามีหลายเล่มไหม จะหาอ่านได้จากที่ได้บ้าง
ถ้าอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ไปเที่ยวศรีลังกา พระภิกษุที่นั่นอ่านพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ ผมคิดว่าเป็นหนังสือที่น่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องอริยสัจธรรม 4 ประการ (essental 4)
ผมเดินทั่วงานสัปดาห์หนังสือไม่เห็นเลยครับ
หนังสือของอาจารย์เรื่องเรียนบาลีไม่ยากเล่ม 1 ผมอ่านจบแล้วครับ ผมได้ไปห้องสมุดประชาชนอยุธยาที่ตั้งอยู่ที่วัดรัตนชัย ต.ป้อมเพ็ชร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
หนังสือเรื่องบทเพลงจากพระไตรปิฎก อ่านยากจัง เหมือนกับว่า ภาษาบาลีที่ใช้ในเล่ม เราจะต้องเข้าใจหลักภาษาการแจกแจงวิภัต สมาธิ สนธิ (มีในเรียนบาลีเล่ม 1)
จากผลงานประพันธ์ของอาจารย์วสิษฐ เดชกุญชร ทำให้ผมต้องมาพิจารณาที่บู๊ธหนังสืออิสลามเป็นพิเศษ
อ่านวิธีละหมาด บทสวดมากมาย
ความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในมัสยิด ในเรื่องพรมแดนแสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดของอิสลาม ความหวาดกลัวและเป็นส่วนตัวของมุสลิมในมัสยิด
การละหมาดไม่สามารถทำได้อิสระเหมือนไปไหว้พระในแบบพุทธศาสนาของเรา ถึงแม้ว่าจะมีการทำวัดพร้อมกับละหมาดเช้าก็ตาม
ในหน้าข่าวมุสลิมมีอยู่ช่วงหนึ่งพูดถึงมุสลิมที่ดีไว้ว่าต้องละหมาดเป็น
การละหมาดในหนังสือที่ผมไปอ่านที่สัปดาห์หนังสือนั้น ก็แค่ยืนตัวตรง ก้มหน้าเอามือวางไว้ที่ขาทั้งสองข้าง แล้วก็คุกเข่า ก้มหัวลงไปแนบกับพื้น
ตอนนี้อิหม่าม สวด “อัลละ อัลฮัสซา” แปลว่าพระอัลเลาะห์ผู้ยิ่งใหญ่
อ.วสิษฐ เอาไปเทียบกับบทถวายพรพระ “อรหังสัมมาสัมพุทโธ” หมายถึงพระพุทธเจ้า “เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”
ด้วยความเคารพ
พงศ์ธัชจ์ คล้ายบรรจง

สนใจทั้งพุทธ
ทั้งอิสลาม
คงทำให้มี “ธรรม” เป็นเกราะกำบัง
ให้ผ่านสถานการณ์ร้อนๆ ช่วงนี้ไปได้อย่างมี “สติ”

ทางโลก

ช่วงต้นปีที่ผ่านมากระแสการค้าการขายทั้งรายย่อยรายใหญ่ต่างบ่งบอกเป็นนัย
ให้ระวัง จากนี้ไปการจับจ่ายใช้สอยจะหงอยเหงาเศร้าซึม
เพราะเกษตรกรผู้เป็นรากฐานเศรษฐกิจสำคัญของเรานั้นประกอบการขาดทุนในการกสิกรรม
จึงเกิดผลกระทบให้มีหนี้สินมากล้นพ้นเป็นเงาติดตามตัว
ซึ่งเมื่อผ่านมาถึงวันนี้คงต้องยอมรับว่าอีกนานฤดูกาลต่อสู้ที่จะยืนอยู่ได้อย่างอิสระ
ด้วยว่ากลางปีล่วงไปแล้ว
เรายังมาใจแป้วกับอุทกภัยต่อเนื่องจากหลายพื้นที่ภูมิประเทศอย่างไม่มีบทสรุปว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่
เพราะยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดน้ำท่วมขึ้นได้กับทุกภาคพื้นในช่วงที่เรายังอยู่ในห้วงแห่งฤดูพายุฝน
การช่วยเหลือเจือจานผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพี่น้องประชาชนทั่วทุกสารทิศซึ่งเป็นน้ำใสใจจริงเพียวเพียวจึงเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์พลิกฟื้นคืนสู่ปกติได้โดยเร็ว
พูดตามประสา “ไลน์รายวัน” ก็ได้แรงใจที่ “เราไม่ทิ้งกัน”, “สู้สู้”, “กอบกู้กำลังใจ สู้ภัยน้ำท่วม”, ขอให้ผ่านวิชา (ส.ป.ช.) … “หลักสูตรสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต” ไปได้อย่างทระนง…องอาจ-สู้สู้
…เราเคยร่วมกันฝ่าฟันต่อสู้ผ่านวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มาได้ด้วยกัน
วันนี้จึงมีความหวังในการต่อสู้ร่วมกันต่อไป
แม้ว่าปีนี้ยังไม่มีบรรยากาศประชาธิปไตย ทว่า ปีต่อไปก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ
…สิงหาคม 2561 เลือกตั้งใหญ่ (หลังน้ำท่วม)-เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เราจึงอาจได้เห็นคุณหญิงหน่อย, ท่านอภิสิทธิ์และท่านพลเอกประยุทธ์เดินสายลุยน้ำโปรย (ยิ้ม) แจกนโยบายให้หมู่เฮาทั้งหลายได้ระทึกในดวงหทัยพลัน…
ด้วยความเคารพและนับถือ
สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

อยากมองในแง่ดีอย่าง สงกรานต์ บ้านป่าอักษร มอง
คือสิงหาคม 2561 จะได้เลือกตั้ง
แต่หลังน้ำท่วม มักมีโคลน
เลือกตั้งใหญ่ตอนนั้น จะเละตุ้มเป๊ะไหม
คงไม่ต้องออกคำเตือนอย่างที่ ปี้ “สุสุ” เปิ้นว่า
ท่านทั้งหลาย “อย่าเอาน้ำโคลนไปล้างโคลนกันอีกเลย”