จดหมาย : ฉบับประจำวันที่ 24 – 30 กันยายน 2564

 

จดหมาย

 

การัต-ออคุส

สหรัฐอเมริกาและไทย

จัดการฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือ หรือ “การัต” (Cooperation Afloat Readiness and Training : CARAT) ประจำปี ครั้งที่ 27

ระหว่างวันที่ 6-10 กันยายนที่ผ่านมา

แสดงถึงพลังความร่วมมือและความทุ่มเทที่มีร่วมกัน

ในการดำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมความมั่นคงทางทะเลที่เสรีและเปิดกว้าง

เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

การฝึกในครั้งนี้ประกอบไปด้วยการฝึกผ่านระบบออนไลน์และการฝึกนอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งจำกัดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างกองกำลังต่างๆ ที่เข้าร่วมการฝึก

สหรัฐและไทยแสดงศักยภาพความร่วมมือโดยฝึกการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ การค้นหาและกู้ภัย

รวมถึงการทดสอบการสื่อสารในขณะที่เดินเรือร่วมกันโดยใช้ยุทธวิธีการจัดกระบวนเรือที่ซับซ้อน

นอกจากนี้ การฝึกแกะรอยด้วยเครื่องบิน P-8 ยังเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพเรือทั้งสองชาติในการเฝ้าระวังและติดตามเป้าหมายโดยใช้เรือและอากาศยานลาดตระเวนทางทะเลอีกด้วย

ในการฝึกดังกล่าวนี้เป็นครั้งแรกที่มีผู้เชี่ยวชาญภาคพลเรือนจากโครงการ Critical Maritime Routes Indian Ocean ของสหภาพยุโรป (EU-CRIMARIO) ให้การสนับสนุน

โดยจัดการอภิปรายแลกเปลี่ยนทางออนไลน์เกี่ยวกับปฏิบัติการตรวจค้นเรือในทะเลหลวง และการสร้างความตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล

การฝึกนอกชายฝั่งดำเนินการในน่านน้ำอาณาเขตและน่านน้ำสากลใกล้สัตหีบและเกาะสมุย โดยสหรัฐส่งเรือ USS Green Bay (LPD 20) และเครื่องบิน P-8A Poseidon เข้าร่วม

ในขณะที่กองทัพเรือไทยส่งอากาศยานและเรือต่างๆ เข้าร่วม อาทิ เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร (FFG 421) เรือหลวงตากสิน (FFG 422) และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (FFG 471)

การฝึกการัตจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2538 และต่อยอดจากความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

โดยในแต่ละครั้งจะประกอบไปด้วยการประชุมสัมมนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และช่วงการฝึกนอกชายฝั่งที่เสริมสร้างการปฏิบัติการร่วมกัน

การฝึกการัตพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือในหลายมิติ รวมไปถึงการค้นหาและกู้ภัย ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ

ฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ

ประจำประเทศไทย

 

การฝึก “การัต” แม้เหมือนงาน “รูทีน”

หรืองานประจำปี

แต่ความต่อเนื่องของการฝึก

สะท้อนว่าสำหรับไทยแล้ว

แม้ระยะหลังดูจะเอนไปทาง “จีน”

แต่สหรัฐก็ไม่ได้ไปไหน

ยิ่งเมื่อสหรัฐ-สหราชอาณาจักร-และออสเตรเลีย

ประกาศเป็นพันธมิตร “ออคุส”–AUKUS อย่างร้อนแรงเมื่อเร็วๆ นี้

(ร้อนแรงอย่างไร พลิกอ่านคอลัมน์โลกทรรศน์ ของอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ที่หน้า 88)

ยิ่งทำให้เราต้องไม่ลืมการฝึกรูทีนอย่าง “การัต”

อันเป็นการฝึกรบทางทะเล

ขณะที่ออคุสก็เน้นในประเด็นนี้

โดย 3 มหาอำนาจโลกเน้นไปที่การร่วมมือเรื่องเรือดำน้ำนิวเคลียร์

ขณะที่เรากำลังจะมีเรือดำน้ำสัญชาติจีน

เบี้ยอย่างเรา จะวางตัวอย่างไร

คือคำถามที่ต้องร่วมหาคำตอบให้ดี

 

พส.-วิภัชชวาท

ได้ดูข่าวพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง

ผมว่าในยุคที่ประชาชนเครียด

บ้านเมืองผจญกับโรคราคาถูก (โรคระบาด)

ควรจะให้ประชาชนมีอารมณ์ขันบ้าง

จะได้ช่วยคลายเครียด จากการไล่นายกฯ

คนที่จะพิจารณาตัดสินท่าน

ควรใช้หลักคิดแบบโยนิโสมนสิการ ข้อ 10 วิภัชชวาท คือ กล่าวจำแนก-แยกแยะ ให้รอบด้าน

ผมเคยดูท่าน ก็เห็นว่าท่านประพฤติปฏิบัติดี มีความรู้

วิธีของท่านสามารถดึงคนให้เข้าหาธรรมะ แล้วค่อยมาถกเถียงพิจารณารายละเอียด

คิดถึงวัดพระธรรมกาย ท่านมีส่วนดีมาก

แต่ไม่ถูกใจบางคน ก็เลยหาเรื่องปิดวัดท่านเสียเลย

ผมว่าบาปนะครับ

ไปว่าท่านไม่สำรวม ลองไปดูพุทธะอิสระ สิ

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

2 พส. อึดและฮึด

ครองจีวรโต้กระแสได้น่าดู

ทำให้ยัง “ไลฟ์” ผ่านโลกโซเชียลได้อยู่

ต่างจาก พส.อีกหลายรูป

โดยเฉพาะที่มีจุดยืน “เห็นต่าง” จาก “รัฐ”

ถูกเผด็จ “สึก” ไปไม่น้อย

ทั้งที่ในหลายกรณี ควรวิภัชชวาท ให้ดีอย่างที่ว่า