จดหมาย ประจำฉบับวันที่ 3-9 กันยายน 2564

 

ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

 

วันทยหัตถ์

กระผ้มผู้รับใช้ประชาชนขอรายงานตัวครับผ้ม

ในสายตาของประชาชนเจ้าของประเทศ

ตัวของกระผ้มและพรรคพวกร่วมอาชีพ มักจะถูกมองว่า หน้าที่หลัก คืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ทำมาหากิน

เก็บส่วย คุมบ่อน คุมซ่อง หวยใต้ดิน

รู้เห็นเป็นใจกับเหล่าผู้ค้ายาเสพติด

ข่มขู่รีดไถชาวบ้านร้านช่อง

รวมทั้งซื้อขายตำแหน่ง

เก็บส่วยส่งผู้บังคับบัญชาเป็นทอดๆ เพื่อความสุขและความอยู่รอดของตัวเองและพรรคพวก

แต่ประทานโทษ ตำรวจน้ำดีอย่างกระผ้ม

ไม่เคยประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น

ชาวบ้านร้านช่อง ต่างก็เมตตาอารี อาหารการกินฟรีทุกมื้อ ชาวบ้านชาวช่องมอบให้ด้วยความเต็มใจ

เพราะกระผ้มทำหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์โดยสมบูรณ์ครบถ้วน

ไม่เคยทุจริตคิดมิชอบแม้แต่สลึงเดียว

วันๆ ออกตรวจรถที่ละเมิดกฎจราจร เขียนใบสั่งอย่างเดียว ไม่เคยเรียกรถจอดแล้วเดินวนรอบๆ รถ เพื่อหาช่องทางรีดไถ

พบกับกระผ้มได้แถวตลาดประตูเชียงใหม่

กระผ้มปฏิบัติงานทุกวันมิมีวันหยุด

แล้วท่านจะไม่ได้ยินคำว่า “เป็นสุขเถิดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ปวงประชาราษฎร์จะคุ้มภัย” กันอีก

ดารานำแสดง : ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในฝัน สหายรักของอีตา “ปิยพงศ์”

โลเกชั่น : หลังตลาดสดประตูเชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่ เมื่อหลายปีก่อน

ตากล้อง : อีตา ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)

ป.ล. สหายรักของอีตา ปิยพงศ์ ฝากบอกมาว่า อย่าได้กลัวกระบองยักษ์ที่ห้อยคาดเอว

มิได้เอาไว้ทุบตีใคร

แต่ห้อยเอาไว้ข่มขู่มิจฉาชีพเท่านั้น

และขอสงวนสิทธิ์ ห้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลอกเลียนแบบประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เด็ดขาด

เดี๋ยวนายใหญ่เกิดบ้าขึ้นมา สั่งให้ฟาดประชาชนแล้วจะยุ่งใหญ่

ชาวบ้านยิ่งกัว กัว กันอยู่ด้วย

เอ…แล้วเมื่อไหร่จะปฏิรูปกันซะทีล่ะ เห็นวางแผนกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาโน่นแย้ว…

 

ฝากบอกคืนกลับไปยังสหายรักของอีตา ปิยพงศ์ ด้วยเช่นกัน

กระบองหญ่ยยย…ถึงจะน่ากลัว

แต่ตอนนี้ ที่น่ากลัวกว่า

คือ ถุงดำ (ฮา)

แทนที่จะแบกกระบองใหญ่-ใหญ่

เปลี่ยนไปหาถุงดำ หาผูกไว้ที่เอวสัก 2-3 ใบ

รับรองเดินไปไหนมาไหน โจรทั้งในและนอกเครื่องแบบ หนีกันกระเจิง

ส่วนที่ถามว่า เมื่อไหร่จะปฏิรูปผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เสียทีนั้น

คำตอบอยู่ในสายลม

 

ศิลปิน

 

คนที่พ่ายแพ้ล้มเหลวมาแล้ว 99 ครั้ง

ครั้งที่ 100 ชัยชนะเป็นของเขาได้ค่ะ

อารมณ์ที่สวยงามของกวี คือถ้อยคำที่มีความหมายลึกซึ้ง แม้จะมีเพียงหนึ่งถ้อยคำก็ตาม

นักเขียน คือผู้ที่มองชีวิตแทนคนอื่น

แม้นบางชีวิตของตัวเองจะทุเรศทุรังก็ตาม

กระดาษของนักเขียนและกวีจะห่อหุ้มคำ และบางคราวก็ห่อหุ้มน้ำตา

แต่ก็รักที่จะเขียน

ด้วยความเคารพทุกวัน

ณัช ศรีบุรีรักษ์

(กวียิปซี)

 

แม้ณัช ศรีบุรีรักษ์ จะเขียนมาด้วยเป้าหมายอื่น

แต่อ่านไปรษณียบัตรที่ส่งมาแล้ว

ใจประหวัดไปถึงนักเขียนอย่าง “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” เสียทุกที

คำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” อันรุงรัง

ที่คิดว่าเมื่อถอดถอนไปแล้วจะทำให้เกิด “ความเงียบ” นั้น

ช่างโง่เขลาเหลือเกิน

กระดาษของนักเขียนและกวี ไม่เคยไร้เสียง