จดหมาย ประจำฉบับวันที่ 27 ส.ค. – 2 ก.ย. 2564

จดหมาย

 

ไม่เท่าเทียม (1)

เรียน บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

ฟ้าทะลายโจร คือสมุนไพรเทวดาจริง

ผมใช้มาตั้งแต่ปี 2541 ส่วนก่อนนั้นใช้บ้างบางครั้ง คุณภาพดีมาก

ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้

เด็ดมา 5 ยอด แช่น้ำร้อน 10 กว่านาที แล้วดื่มภายใน 15 นาที ร่างกายเป็นปกติ

ร้อนๆ หนาวๆ มีน้ำมูกไหล หาย

แต่อย่าไปกินประจำ กินเมื่อมีอาการ คือกินเป็นยา

ผมมีประสบการณ์ด้วยตนเอง ไม่สนใจใครจะโฆษณาอย่างไร

คำพูดกี่ร้อยล้านคำก็ไม่เท่าทำเอง (กินเอง) ปลูกง่ายตายยาก

ไม่อยากอธิบายมากเดี๋ยวจะหาว่าโม้

ผมไม่ได้โม้นะครับ

คราวแรกผมก็ไม่ค่อยเชื่อ คืออย่าเพิ่งเชื่อ ตามหลักกาลามสูตร 10 ข้อ

ตอนนี้ไม่ต้องพูดคำว่า “อย่าเพิ่งเชื่อ” อีกแล้ว

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

ประเด็นตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องเชื่อ-ไม่เชื่อ

แต่เป็นประเด็น

การเข้าถึง หรือหาซื้อฟ้าทะลายโจร ไม่ได้

หรือเข้าถึงได้ แต่ก็ยากและแพงมาก

กลายเป็นเรื่อง ความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อง

สำหรับชาวบ้านตาดำ-ดำ

เหมือนกรณี “วัคซีน” นั่นแหละ

อยากฉีด แต่ไม่ได้ฉีด (โว้ย)

 

ไม่เท่าเทียม (2)

จากภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยาวนานต่อเนื่องมากว่า 2 ปี

ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แล้วกว่า 10,000 คน

กลายเป็นข้อท้าทายให้รัฐบาลไทยต้องทบทวนนโยบายและมาตรการในการแก้ไขภาวะโรคระบาดดังกล่าว

การนำมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นหนึ่งในหลักการที่รัฐต้องปฏิบัติตามจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ไม่ว่าในทางกฎหมายหรือมนุษยธรรม

สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขที่ดี มีคุณภาพ

และสิทธิที่จะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐอย่างทั่วถึง ไม่มีค่าใช้จ่าย และครอบคลุมประชากรทุกภาคส่วน

จึงเป็นพันธกิจหลักของรัฐที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน

การคุกคาม ดำเนินคดี ตลอดทั้งการปิดกั้นมิให้สาธารณชนหรือแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารจัดการของรัฐ

ย่อมขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

และมิอาจทำให้การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพในครั้งนี้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับประกันว่า บุคคลทุกคน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ จะสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพได้อย่างรวดเร็ว

แผนการจัดสรรวัคซีนควรดำเนินการอย่างโปร่งใส

คำนึงถึงหลักการด้านสุขภาพและความจำเป็นในการป้องกันการควบคุมโรคติดต่อ

พร้อมกับรับรองสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขโดยถ้วนหน้า

การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สัญชาติ หรือสถานะทางสังคมจากการให้บริการดังกล่าวไม่อาจยอมรับได้ เพราะยิ่งส่งผลให้การแพร่ระบาดทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงเปิดแคมเปญ #วัคซีนที่ยุติธรรม #AFAIRSHOT ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้รัฐบาลไทยรับประกันว่าทุกๆ คนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว

โดยมีการรณรงค์ใน 6 พื้นที่รอบกรุงเทพฯ ได้แก่ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สวนจตุจักร และหน้าห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว มีการแจกธงขนาดเล็ก และสติ๊กเกอร์รณรงค์ถึงสิทธิในการเข้าถึงวัคซีนที่ยุติธรรมและมีคุณภาพ

และเชิญชวนร่วมโพสต์ภาพข้อความรณรงค์ หรือโปสเตอร์ของแอมเนสตี้ ลงบนช่องทางโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #วัคซีนที่ยุติธรรม #AFAIRSHOT เพื่อส่งต่อความตระหนักรู้ให้กับผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย

และส่งเสียงไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการรับมือกับโรคโควิด-19 โดยจะต้องไม่มีใครที่ถูกลืมหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ปิยนุช โครตสาร

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

วัคซีนที่ยุติธรรม และเท่าเทียม

คือสิ่งที่คนไทยต้องการ

คนไทย คนไทย คนไทย คนไทย

คนไทย คนไทย คนไทย คนไทย

คนไทย คนไทย คนไทย ต้องการวัคซีน