จดหมาย : ฉบับประจำวันที่ 13-19 สิงหาคม 2564

จดหมาย

 

ไม้ใกล้ฝั่ง

กลางปี 2519 ก็สี่สิบกว่าปีมาแล้ว

ได้รับเชิญจากประธานจัดงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติ ครั้งที่ 26 ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนีตะวันตก Dr. A. Braver ให้ส่งภาพยนตร์สารคดีที่สร้างเรื่องหนึ่ง เข้าไปร่วมงานในครั้งนั้นด้วย

หลังเสร็จจากงาน ก็เลยถือโอกาสตระเวนยุโรปเสียหลายประเทศ

หนึ่งในหลายๆ อย่างในต่างแดน ที่ได้พบได้เห็น ที่ไม่อาจจะลืมได้

ทำให้คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน รักและหวงแหนแผ่นดินมากขึ้นจนสุดพรรณนา

คือจะดีชั่วอย่างไร ชีวิตครอบครัว ขนบธรรมเนียมแบบไทยๆ ของเรา

ก็ยังดีกว่าของฝรั่งมังค่ามากมายนัก

 

ตามเมืองต่างๆ ในประเทศยุโรปเหล่านั้นมักมีสวนสาธารณะที่สงบร่มรื่น กว้างขวาง สวยงาม เจริญหูเจริญตา สำหรับให้ประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจกัน เมืองละหลายๆ แห่ง

และกลุ่มหนึ่งในจำนวนของผู้คนที่มาพักผ่อนหย่อนใจ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงสายหรือช่วงเย็นๆ นั้น มักจะมีพวก “ไม้ใกล้ฝั่ง” ทั้งหญิงและชายรวมอยู่ด้วยจำนวนไม่น้อย

ผู้คนสูงอายุทั้งหญิงและชายเหล่านั้น คะเนอายุดูจะเห็นมีเลข 7 นำหน้ากันทุกคน

บางคนที่คู่ชีวิตตายจาก ก็มากันเดี่ยวๆ

บางรายที่คู่ชีวิตยังอยู่ ก็มากันสองคนตา-ยาย

แต่ทุกชีวิตของไม้ใกล้ฝั่งเหล่านั้น ดูท่าทางหงอยเหงาเศร้าซึม

มองดูพวกหนุ่ม-สาว เด็กๆ รุ่นหลาน-เหลน ที่วิ่งเล่นกันอยู่ด้วยสายตาที่อ้างว้างว้าเหว่

ที่จะพอเป็นเพื่อนปลอบใจกันได้บ้าง ก็เห็นจะเป็นหมาหรือแมวที่เลี้ยงกันไว้นั่นแหละ

เพราะแทบจะทุกคนหรือทุกคู่ มักจะจูงหมา หรืออุ้มแมวมาเป็นเพื่อนด้วย

สอบถามจากเพื่อนๆ คนไทยที่ไปตั้งหลักปักฐานในประเทศเหล่านั้นดู

ฟังเขาบอกกล่าวแล้ว มันช่างชวนให้สลดหดหู่เหลือเกิน

 

พวกฝรั่งเป็นแบบนี้กันทั้งนั้นแหละครับ

ชีวิตครอบครัวของพวกเขาไม่อบอุ่นแบบไทยๆ ของเราหรอกครับ

พอพ่อ-แม่เลี้ยงเติบใหญ่ ปีกกล้าขาแข็งกันแล้ว พวกลูกๆ ก็แยกย้ายกันไป

ครอบครัวใครก็ครอบครัวนั้น ไม่ค่อยจะมาสนอกสนใจกันสักเท่าไหร่

พ่อ-แม่ก็ส่วนพ่อ-แม่ พวกเขามองไปข้างหน้า คือพวกลูกๆ ตัวเล็กๆ ของพวกเขากันหมด

ไม่มีใครมองย้อนหลังถึงพ่อ-แม่ที่แก่เฒ่า นานๆ ก็มาเยี่ยมเยือนกันสักครั้งหนึ่ง

พวกคนแก่ก็เลยเหงาหงอย

คนที่ร่ำรวยก็ไม่ค่อยมีปัญหา

มีคนใช้หรือบริวารห้อมล้อม ก็พอได้อบอุ่นบ้าง

แต่พวกชาวบ้านธรรมดาๆ ก็แย่หน่อย อยู่กันสองคนตา-ยาย

บางรายที่คู่ชีวิตตายจากก็อยู่โดดๆ

ช่วงตอนจวนจะถึงเทศกาลคริสต์มาส คนสูงอายุเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยทีเดียว มักจะฆ่าตัวตายกัน เพราะความอ้างว้างว้าเหว่

บางรายก็เชือดข้อมือตัวเอง บางรายก็เปิดแก๊สรม

คุณสังเกตดูก็แล้วกัน แต่ละรายจูงหมาอุ้มแมวมาเป็นเพื่อน

ก็ได้เจ้าตูบเจ้าเหมียวเหล่านี้แหละ คลุกคลีอยู่ด้วยพอให้หายว้าเหว่

จะว่าไปแล้ว เลี้ยงพวกมันไว้ ก็ไม่เสียหลาย ดีกว่าเลี้ยงลูกเต้าอีกมั้ง

 

จากปี 2519 มาถึง พ.ศ.นี้ เมืองไทยรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกแทบทุกด้าน เข้ามาในวิถีชีวิตประจำวันกัน

ทั้งด้วยความเต็มใจ และความจำเป็นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเริ่มเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย ไม้ใกล้ฝั่ง เพิ่มจำนวนมากขึ้น

ใจหาย ไม่อยากกลับไปเห็นภาพไม้ใกล้ฝั่งในสวนสาธารณะในยุโรปหลายๆ ประเทศที่ผมเห็นมาเมื่อสี่สิบกว่าปีมาแล้ว มาปรากฏในเมืองไทยของเรากันเลย (ที่เร่ร่อนไร้บ้านก็เห็นกันเยอะแล้ว)

ปิยพงศ์

เมืองหละปูน

 

ใช่วิถีชีวิต “คนไม้ใกล้ฝั่ง” ที่นั่น อาจจะดูว้าเหว่ อย่างที่ปิยพงศ์ว่า

แต่กระนั้น ระบบ “สวัสดิการ” จากรัฐที่คอยดูแล

เขาก็ดีกว่าเราหลายเท่า

จึงไม่ต้องพึ่งพาลูก-หลานมากนัก?

เราแม้จะดูเป็นครอบครัวอบอุ่น

แต่เมื่อโควิด-19 เข้าไปเคาะประตูแต่ละบ้าน

มันก็ได้พังทลายอะไร “หลายอย่าง” ออกมาให้เราได้เห็น

นั่นคือ ระบอบสวัสดิการของเรามัน “เปราะบาง” หรือแทบจะ “ล้มเหลว” ทีเดียว

ความอบอุ่นในครอบครัวช่วยอะไรไม่ได้

จะพึ่งรัฐสวัสดิการก็อย่าหวัง

สังคมไทยสูญเสีย พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย อย่างที่ไม่ควรจะเสีย

แถมยังเห็นคนตายข้างถนน อย่างไม่คิดว่าจะเกิดในไทยก็เกิด

ปี พ.ศ.นี้ มองแล้วใจหายเนาะ ปี้อ้ายปิยพงศ์