จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 2-8 มิถุนายน 2560

จดหมาย

น้ำท่วม (1)

1)  ผู้มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคของไทย ต้องเอากระทะคลุมหัวไหม

ที่ปล่อยให้มีการหลอกขายกระทะให้คนไทยอยู่ได้ตั้งสองสามปี

โฆษณาเกินความจริงว่าราคาหมื่นบาท

แต่ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งพร้อมอุปกรณ์ ราคาลดเหลือสองพันกว่าบาท

นี่ถ้าไม่มีคนออกมาบอกว่า กระทะที่ขายในประเทศเพื่อนบ้านเราราคาใบละแค่หกร้อยบาท

ก็คงไม่มีการดำเนินการใดๆ

2) น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

เราจะไม่หาทางป้องกันและแก้ไขเลยหรือ

ถ้าคนไทยแก้ไขไม่ได้ จ้างต่างชาติเลยดีไหม

เสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ก็คงต้องยอม เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อน

ทีเรือดำน้ำราคาตั้งหมื่นล้านยังซื้อได้นี่นา ฮ่วย

คนอีสาน

 

1) การโฆษณาเกินจริงในสังคมไทยยังมีอยู่มากมาย

นอกจาก 3 ปีกระทะที่ว่าแล้ว

คนอีสาน โปรดรอฟัง “3 ปีรัฐบาล”

ดูซิว่าจะมีอะไร “เกินจริง” บ่

2) อันนี้ก็น่าฟัง ว่าโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งแล้งทั้งท่วม

3 ปีแล้วมีอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง

จึงทำให้ “คนอีสาน” หลุด “ฮ่วย” ออกมา

ยังดีที่เป็น “ฮ” ไม่ใช่ “ห”

 

น้ำท่วม (2)

วิธีแก้น้ำท่วม ต้องเลือกตั้งใหม่!

วิธีนี้ ไม่ช้าไปหรือ

ท่านทราบไหม นี่เป็นวิธีการที่ดีที่สุด

เพราะเราได้พิสูจน์มาแล้วว่าระบบแต่งตั้ง ใช้ไม่ได้อย่างแน่นอน

จากปรากฏการณ์ที่น้ำท่วมซ้ำซาก

แต่ “เล่นลิ้น” ว่าน้ำรอระบาย จนปลดผู้ว่าฯ ไปแล้วคนหนึ่ง

แต่น้ำก็ยังท่วมอีก

ผมอยากให้ข้อคิดว่า แนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใหม่

เพราะที่เป็นอยู่ ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ผมเคยสมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่เพียงเพื่อเสนอแนวคิดการพัฒนาเมือง ไม่อาจคาดหวังจะได้รับเลือกตั้งอยู่แล้ว

ก่อนสมัคร ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ในสมัย ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ เป็นรองผู้ว่าฯ

ผมไม่ได้เสนอแนวคิดนี้เพื่อหวังผลทางการเมือง

ไม่ได้หวังได้รับแต่งตั้งทางการเมือง

แต่อาจช่วยให้คำแนะนำโดยไม่คิดมูลค่ากับรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ในคราวเลือกตั้งปี 2556 ผมใช้เงินไปเพียง 150,000 บาท หรือได้คะแนนละ 100 บาทเศษ ของค่าใช้จ่าย

เหตุผลที่เสนอให้เลือกตั้งนั้น

ก็เพื่อให้ประชาชนตัดสิน

ในระบอบประชาธิปไตย ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน ต้องคิดหานโยบายและแผนมาช่วยแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชน

แต่ถ้าเป็นกรณีของผู้ถูกแต่งตั้ง ก็คงมุ่งแต่เอาใจผู้แต่งตั้ง มาทำงานการเมืองช่วยค้ำเก้าอี้ของผู้แต่งตั้ง

รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะพยายามระดมสมองมาแก้ปัญหาของประชาชน และจะมีผู้รับรู้ยินดีเข้าร่วมเป็นอันมาก

ต่างจากพวกที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งขึ้นอยู่กับ “ด.ว.ง.”

คือต้องเป็น “เด็ก” ใคร

“วิ่ง” หรือเปล่า

และ “เงิน” ถึงหรือไม่ นั่นเอง

ดังนั้น ถ้าให้มีการแต่งตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คงไม่ได้ทีมงานคุณภาพมาทำงาน

แถมที่แต่งตั้งมานี้ก็เป็นเด็กของประชาธิปัตย์ (ปชป.) แทบทั้งกระบิ

บางคนอาจเถียงว่า น้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน จะไปรอการเลือกตั้งไหวหรือ

แต่แท้จริงแล้วปัญหานี้เกิดซ้ำซากอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งย่อมทำให้ผู้สมัครพยายามระดมพลพรรคและสมอง หาทางแก้ไขมานำเสนอต่อประชาชน

ทำให้มีการแก้ไขที่รัดกุมยิ่งขึ้น

ในอนาคตเมื่อประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นก็เป็นไปได้ที่ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะชิงลาออกไปเองหากไม่สามารถแก้ไขได้ตามที่สัญญากับประชาชน

แต่ถ้าผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งก็ย่อมไม่แคร์ประชาชนอยู่แล้ว

การยึดหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

และการคืนประชาธิปไตยไปสู่ประชาชน ให้ประชาชนได้ตัดสินอนาคตของตนเอง

ถ้าประชาชนตัดสินใจผิด เขาก็จะได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เขาก็คงไม่ออกมาโวยวายอะไรนักเพราะเขาตัดสินใจเอง

แต่ถ้าประชาชนตัดสินใจถูกต้อง ประเทศชาติก็จะเดินหน้าต่อไป

ประชาชนมีสิทธิในการคิดและศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เกิดพุทธิปัญญา โดยไม่ควรให้ใครมาจูงจมูก

เพราะ = ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นี่แหละน้ำท่วม ต้องแก้ด้วยการเลือกตั้ง ต้องใช้ประชาธิปไตยมาแก้ไข

ดร.โสภณ พรโชคชัย

 

ลงเลือกตั้งชิงผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว

และก็แพ้มาแล้ว

แต่ ถึงแพ้

ยังไงๆ ดร.โสภณ พรโชคชัย ก็ยังเชื่อมั่นและศรัทธา “การเลือกตั้ง”

และยังคิดว่า ผู้ว่าฯ จากเลือกตั้งจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า

ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นนี้

จะลองตอบ 4 คำถาม

ของหัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียหน่อยก็ดีเหมือนกัน

อยากฟัง!