จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 เม.ย.- 4 พ.ค. 2560

เสียงอีสาน

ผมอ่านมติชนสุดสัปดาห์ (เพราะเป็นแฟนประจำ) ฉบับที่ 1906 หน้า 6 (จดหมาย) หัวข้อ “คนอีสาน”

ใคร่ขออนุญาตบอกผ่านความรู้สึก หน้า 6 ไปยังเจ้าของจดหมายนิรนาม ดังนี้

ขั้นแรก ท่านผู้นั้นชื่นชม “คนอีสาน” ว่า มีทั้งคนดีและไม่ดี

สุดท้ายเตะตูดเบาๆ หลายที

ผมคิดว่าคนอีสานคงไม่โกรธแน่นอนเพราะเป็นแนวคิดที่เต็มไปด้วยอคติ

เช่น บอกว่า คนอีสานเลือกนักการเมือง พรรคการเมือง ขี้โกง ฯลฯ จึงนำไปสู่ความขัดแย้ง และการปฏิรูป โดยการยึดอำนาจ

ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง

ยกตัวอย่าง พรรคคนดี บริหารบ้านเมือง ท้องถิ่น เช่น ที่ กทม. นี่แหละครับ

ใครกันแน่ ซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง ผิดระเบียบ ซื้อที่ดินราคาแพงเกินจริง

และที่เป็นรัฐบาลสร้างโรงพักนับพันแห่ง โดยมีผู้รับเหมาเจ้าเดียว ส.ป.ก.4-01

ใครทำ ปรส. แปดแสนล้าน ใครขายต่ำกว่าราคาทุน

ก่อความวุ่นวายในสภาใครจัดเต็ม ปิดกรุงเทพฯ ใครทำ

ที่งบประมาณแผ่นดิน ภาคอีสานได้มากกว่าภาคอื่นก็ไม่จริง (เขาจัดเฉลี่ยรายหัวตามจำนวนคนครับ)

รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ประชุมกันมาเกือบ 20 ครั้ง แล้วยังไปไม่ถึงไหน คงเป็นเพราะเมืองไทยยังมีถนนลูกรัง (ฮา)

ท่านบ่นว่า พวกแท็กซี่ชาวอีสานยอดแย่ จอดรถเกะกะ กีดขวางการจราจร ตามย่านการค้า เช่น ราชประสงค์ ประตูน้ำ แถมเปิดเพลง พิณแคน หมอลำ ดังลั่นน่ารำคาญ

คุณรู้ไหม?

ดนตรีสำเนียงเสียงอีสาน มีความเป็นสากลสูงมาก

ชาวต่างชาติได้ฟังยังอดฟ้อนไม่ได้

ใจคุณจะให้ร้อง มโนราห์ ลำตัด ร้องลิเก

อย่าเว้าหลาย อ้ายหำ อยากอายเพิ่น

การจราจรติดขัด แออัด คับคั่ง เป็นเรื่องปกติ ของย่านชุมชนและเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก

แก้ได้โดยทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์สิครับ

ยิ่งกรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ของพวกคุณ โอกาสทองมาถึงแล้ว เพราะอดีตตำรวจใหญ่ผู้มากด้วยประสบการณ์เข้ามาบริหารตาม ม.44 ท่านคงจัดการได้แน่ๆ ครับ

ส่วนภาคอีสาน ระยะยาว ลูกหลานชัยภูมิอย่างลุงตู่ คงกระจายเงิน กระจายคนลงสู่ภูมิภาคตามความเหมาะสม

เช่น ช่วยขยายถนนสาย อ.ชัยบาดาล-หนองบัวโคก สายช่วงสามหมอ อ.แก้งคร้อ-ชุมแพ ให้เป็น 4 ช่องจราจร ให้คนอีสานหน่อยเถิด เพื่อจะได้เดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลสะดวกขึ้น

ที่สำคัญช่วยลดอุบัติเหตุ และความสูญเสียได้มากๆ ครับ

นายสมบูรณ์ หงษ์สิงห์ทอง

 

บก.ตอบจดหมาย

ว่าที่จริง ไม่ค่อยสบายใจนัก

ที่เปิดประเด็นเรื่องการเห็นต่างของคนในแต่ละภูมิภาค

เพราะอาจบานปลายไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

ที่สำคัญ จะเป็นเงื่อนไขให้คนที่ชอบอ้างตัวเป็นผู้เข้ามาแก้ความขัดแย้ง

หยิบฉวยเป็นความจำเป็น ที่จะต้องอยู่ยาวว…เพื่อยุติความขัดแย้งดังกล่าว

ซึ่งตอนนี้ก็เห็นวางหมาก วางกล เพื่อการณ์นี้อยู่มือระวิง

จน POL SOOMKID เขียนไปรษณียบัตรมา ตั้งคำถามไปไกลถึง “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่หวังจะไปถึง “นายกฯ คนนอก” อะไรโน่น

งั้นเราก็แสดงความเห็นกันพอหอมปากหอมคอ

อย่าไปเตะเนื้อเข้าปากใครเขาเลย

 

หนังไทย

ข้าพเจ้าเป็นแฟนคอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ “แลหนังไทย” ของ “พน” ในมติชนสุดสัปดาห์

ได้ติดตามอ่านคอลัมน์มานาน เพราะเขียนได้ดีมากๆ

มีเรื่องอยากจะเสนอแนะท่านดังนี้

เนื่องจากมาระยะหลังๆ นี้หนังไทยที่เข้าฉายในโรงมีจำนวนไม่เพียงพอให้นำมาเขียนวิจารณ์

จนหลังๆ คอลัมน์นี้ต้องเลิกเขียนไป

ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งหากคอลัมน์ดีๆ เช่นนี้จะต้องปิดตัวลงเพราะจำนวนหนังไทยที่เข้าฉายมีจำนวนไม่พอให้นำมาวิจารณ์

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงอยากเสนอแนะว่า ทำไมท่านเจ้าของคอลัมน์ไม่ลองนำหนังไทยเก่าๆ มาวิจารณ์ดูบ้าง

คือหนังตั้งแต่สมัย มิตร-เพชรา สมบัติ-จารุณี นก ฉัตรชัย-หมิว ลลิตา

ไปจนถึง ติ๊ก เจษฎาภรณ์

อย่างเช่นเรื่อง บ้านทรายทอง เวอร์ชั่น จารุณี-พอเจตน์

หรือบ้านผีปอบ ภาคแรกๆ ที่มี ตรีรัก-บิณฑ์ แสดง

ถึงเอาหนังไทยเก่าๆ มาวิจารณ์ คนอ่านก็อ่านเหมือนกันนั่นแหละ

โดยจะเห็นได้จากหนังไทยเก่าๆ ตั้งแต่สมัยมิตร-เพชรา ไปจนถึง ติ๊ก เจษฎาภรณ์ นั้นมีการผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ในรูปแบบวิดีโอ ดีวีดี และบลู-เรย์

ซึ่งคนดูก็ให้ความสนใจและซื้อกันเกลี้ยงตลาด

เพราะฉะนั้น ในเมื่อหนังไทยเก่าๆ ตั้งแต่รุ่นมิตร-เพชรา คนยังให้ความสนใจกันอยู่

ถ้าเอาหนังไทยเก่าๆ เหล่านี้มาเขียนเป็นบทวิจารณ์

คนก็ย่อมจะต้องอ่านแน่นอนเพราะเขายังสนใจหนังไทยเก่าๆ ตั้งแต่รุ่นมิตร-เพชรากันอยู่

จึงเรียนมาให้ท่านช่วยพิจารณา

(ไม่ลงชื่อ)

 

บก.ตอบจดหมาย

ว่าที่จริง ตอนนี้ “หนังไทย”

ถูกแลโดย “คนมองหนัง” โดยสม่ำเสมอ

อย่างในฉบับที่แล้วก็พาไปแล “สยามสแควร์ : ผีในผี, พลังของเรื่องเล่า และวิกฤตตัวตน” อย่างน่าสนใจ

และในเล่มนี้ ว่าด้วย “มหาลัยวัวชน” : ประวัติศาสตร์ บทเพลง และคนแพ้ที่เพิ่งสร้าง

ตามหนังไทย ทั้ง “ใน” และ “นอกกระแส” ซึ่งคงถูกใจ คุณ (ไม่ลงชื่อ) ไม่มากก็น้อย

ส่วนหนังไทยในอดีตนั้น ขอรับไว้พิจารณาก่อนเน้อ