จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 ก.ค. 59

ป่าไม้-ที่ดิน (1)

เมื่อหันมองย้อนกลับไปถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ในกาลอดีต

โดยเฉพาะแม่น้ำน่าน, แม่น้ำว้า อันมากค่าอนันต์ต่อการดำรงชีวิตที่ผ่านมาแล้ว

กังวลว่าอัตลักษณ์ความเป็นเมืองเก่าในศิลปวัฒนธรรม พุทธสถานและวิถีชีวิตในแบบฉบับเรียบเรียบไม่หรูหราฟุ้งเฟ้อนั้นจะแปรเปลี่ยนไปสู่ความฟุ่มเฟือย-ไม่ยั่งยืนเสียมากกว่า

ด้วยว่าทุกวันนี้กระแสการท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภคและการลงทุนนั้น “บูม”

ย้อนแย้งกับความแห้งแล้งของแม่น้ำลำธาร ห้วยหนองคลองบึงและผืนแผ่นดินถิ่นป่าเมืองน่าน (ที่ไม่มีต้นไม้) อย่างน่าใจหาย

จากพื้นที่ป่าไม้กว่า 6 ล้านไร่ในช่วงปี 2507 นั้น

ป่าถูกบุกรุกทำลายขยายมากขึ้นๆ

จนกระทั่งปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่า 4 ล้านกว่าไร่ (ช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมาผืนป่าเมืองน่านถูกรุกคืบโค่นล้มไปร่วม 6 แสนไร่-เฉลี่ยแล้วปีหนึ่งถึงแสนกว่าไร่)

…แม้จะมีการรณรงค์ให้ช่วยกันรักษาป่า-ปลูกป่าทุกปี

ทว่า ยังไม่สามารถทดแทนการสูญเสียผืนป่าไปอย่างต่อเนื่อง

เพราะการปลูก-รักษาป่ายังทำได้ในวงแคบระยะเวลาสั้นๆ ช่วงการรณรงค์ ต่างจากการรุกล้ำทำลายป่าซึ่งขยายเป็นวงกว้างอย่างไม่จำกัดเวลานาที

จึงเป็นวาระสำคัญของ “คนรักป่าเมืองน่าน” ต้องระดมความคิด-เสียสละทุ่มเทต่อยอดโครงการ “ปลูกป่าประชารัฐ พิทักษ์ป่าน่าน” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้หลากหลายช่องทางเพิ่มมากขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ปลูกป่าให้ได้มากกว่าเดิม

อาจจะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยว-นักลงทุนปลูกไม้ “คนละต้นบนแผ่นดินน่าน”

ทำบุญทำทานด้วยการปลูกต้นไม้-ถวายต้นกล้าแด่วัด-พระภิกษุสงฆ์โดยการอำนวยของกรมป่าไม้และการท่องเที่ยวก็น่าจะสร้างสีสันบรรยากาศเขียวขจีขึ้นอย่างบานไสวในจินตนาการ

ส่วนท่านที่ยังไม่มีจังหวะเวลาไปปลูกป่าต้นน้ำน่าน

ก็อย่าได้พลาดโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันปลูก “ป่าประชามติ” ในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ครับว่าจะรับ “กล้าพันธุ์ประชาธิปไตย” พันธุ์ใหม่ไปปลูกหรือไม่โดยใส่ใจถึงรากแก้ว ลำต้น กิ่งก้าน ใบและดอกผลว่าจะเป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่มากน้อยอย่างไร

เพราะ “ป่าประชาธิปไตย” ที่ถูกบุกรุกทำลายโค่นล้มหมดไปจากประเทศนั้นมีบรรทัดฐานเดียวกันกับการตัดไม้ทำลายป่าเมืองน่านนั่นแหละครับ…

เป็นแรงบันดาลการกระทำจากกลุ่มบุคคลที่ไม่เคารพกฎหมายไม่ผ่านความเห็นชอบของผู้คนส่วนใหญ่เป็นไปในบริบทของสังคมคอร์รัปชั่น รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ สร้างที่พักอาศัยให้บริการในป่าสงวนฯ ครอบครองพื้นที่เกาะยึดภูเขาเป็นเอกเทศ

ซึ่งเป็นปฐมเหตุเภทภัยให้บ้านเมืองพิกลพิการป่วยไข้อยู่ทุกวันนี้แหละครับ…

ด้วยความเคารพและนับถือ
สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

เห็นกระแส รณรงค์ปลูกป่าเมืองน่าน แล้ว หลายจังหวัดอิจฉา…แม้บางมุม จะฟุ้งฟิ้งมุ้งมิ้งไปบ้าง แต่ “ป่า” ก็คงพอได้ปลูก ไม่เหมือนบางพื้นที่
ป่า ทำ-มะ-ชาด นอกจากจะไม่ได้ปลูกแล้ว ป่าประชามติ ที่ว่า ยังถูกทำให้ตายตั้งแต่ยังไม่งอกออกมาจากเมล็ดเลย…ปี้อ้าย

ป่าไม้-ที่ดิน (2)

นับเป็นเวลาหลายปีที่ผมห่างหายไปจากห้องรับแขกของ “มติชนสุดสัปดาห์”

แต่ในห้องรับแขกของผม ยังคงมี “มติชนสุดสัปดาห์” ตลอดมา

เมื่อย้อนกลับไปดูหนังสือฉบับเก่าก่อน

มีทั้งข้อเขียน ที่มีมาทำนองหยิกแกมหยอกบ้าง

ในรูปบทความที่เสนอความเห็น ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายบ้าง

เมื่อลงพิมพ์ไปแล้ว ไม่มีท่านผู้อ่านท่านใดมีความเห็นแย้งกลับมา

ก็ถือว่ายอมรับความจริงกัน

สำหรับวันนี้ ก็เอาความจริงมาเสนอกัน

แม้จะทวนกระแสแต่เป็นทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในเชิงลึก ที่ส่วนราชการที่เป็นจำเลยของสังคม ได้แต่นั่งเป่าสาก โดยไม่รู้ว่าจะขว้างสากนั้นออกมาเมื่อใด

ส่วนราชการที่ว่านั้นคือ กรมที่ดิน ครับ

วันนี้ผมได้โอกาสเพราะมีหลักฐานว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ไปยังปลัดกระทรวงอีกกระทรวงหนึ่ง

ในทำนองปรารภว่า การเสนอข่าวทางสื่อเกี่ยวกับการตรวจสอบที่ดินในเขตป่าไม้ เขตป่าชายเลน โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษา มักจะกล่าวอ้างถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกโดยกรมที่ดิน

โดยมิได้ตรวจสอบให้แจ้งชัดว่า เป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และเจ้าของที่ดิน

ฉะนั้น ก่อนเสนอข่าวหรือให้สัมภาษณ์

ควรประสานงานหรือตรวจสอบข้อมูล ไปยังสำนักงานที่ดิน หรือกรมที่ดิน

เพื่อร่วมทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อนว่า การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินไม่ว่าแห่งหนตำบลใด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

และที่ไม่เกี่ยวข้องกับหนังสือดังกล่าว ผมใคร่ฝากถามต่อไปว่า ในการรังวัดออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ล่อแหลมนั้น

หน่วยงานใดเป็นผู้กันเขต หรือรับรองแนวเขต

จนผู้ขอรังวัดสามารถไปยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ให้ได้ครับ

ต้นเหตุและปลายเหตุมันควรจะอยู่ตรงไหน

ผมอยากเห็น “มติชนสุดสัปดาห์” ทวนกระแสเป็นฉบับแรกครับ

หน่วยงานที่ชอบแสดงบทบาทเป็นพระเอก จะได้เล่นบทคนร้ายบ้าง

ขอแสดงความนับถือ
นายเงิน ครองเมือง
สามโคก ปทุมธานี

ถึงตอนนี้ คงไม่ต้องอ้ำๆ อึ้งๆ กันอีกต่อไป เพราะเป็นข่าวรับรู้ทั่วกันแล้วว่า บุคคลที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือถึง ก็คือ ปลัดกระทรวงทรัพยkกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่นเอง

พร้อมๆ กันนั้น กรมที่ดินก็ได้ออกระเบียบ จะเอาผิดกับคนที่ “ใส่ร้าย-ทำให้เสื่อมเสีย” ด้วย เกิดภาพขัดๆ กันระหว่าง 2 กระทรวง ไปเรียบโร้ยย…

ซึ่งก็น่าเห็นใจทั้ง “กรมที่ดิน” ทั้ง กระทรวงทรัพยากรฯ

ที่ต่างต้องยกการ์ดสูงๆ เพราะไม่รู้ว่าจะมี “หมัดหลง” พุ่งมาใส่หน้าเมื่อใด ในยามที่ “ผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ” ใช้อำนาจมาตรา 44 ลุยเรื่องการบุกรุกที่ดิน และเชือดข้าราชการ เป็นระลอก ต้องระวังตัวแจ และเร่งหา “เกราะ” ป้องกันตัว พลาดพลั้ง มีสิทธิถูกไล่ออก-ติดคุก