จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 8-14 มีนาคม 2562

จดหมาย

0 ผู้รู้ (1)

เรียนบรรณาธิการมติชน

มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 39 ฉบับที่ 2010 วันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2562

คอลัมน์ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทำไมมีภาพทับตัวอักษร

ฤ ต้องการเป็นปริศนา

มติชน ฉบับเดียวกัน

คอลัมน์ On History ของศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เรื่อง  แม่น้ำเจ้าพระยา ให้กำเนิดความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา

ย่อหน้าแรก ระบุว่า

แฟรเนา เมนเดส ปินตู (Fernao Mendes Pinto) พ่อค้า นักสำรวจ นักเขียนชาวโปรตุเกส ที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2097 ในรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชา เป็นนักเดินทางชาวยุโรปคนแรก ที่เปรียบเทียบอยุธยาไว้ว่า เป็นราวกับ “เมืองเวนิสของโลกตะวันออก”

แต่ในตอนท้ายๆ ระบุว่า

…แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การขุดคลองลัด (คือ เส้นทางลัด) ต่างๆ ตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระไชยราชา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2077-2089) เป็นต้นมา…

ตกลง สมเด็จพระไชยราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของพระองค์ เท่าใดกันแน่ครับ

พ.ศ.2077-2089

หรือ พ.ศ.2097

จากสมาชิกมติชนสุดสัปดาห์

07023157

 

คอลัมน์ สุจิตต์ วงษ์เทศ นั้น

มิได้เล่นปริศนา ซ่อนตัวอักษร ดอกครับ

เป็นความผิดพลาดกันโต้งๆ เชียวล่ะ

รูปถึงโผล่มาทับตัวอักษรเสียอย่างนั้น

ไม่มีอะไรแก้ตัว นอกจากค้อมหัว ขออภัยอย่างสูง ในความผิดพลาด

สำหรับข้อความที่หายไป มีข้อความดังนี้

“สรุปแล้วฟ้อนรำไทยและอุษาคเนย์ ไม่อินเดีย ครูอาจารย์ที่เคยบังคับขู่เข็ญให้นักศึกษา “ท่องจำ” ว่านาฏศิลป์และดนตรีไทยมาจากอินเดีย (พระอิศวรฟ้อนรำที่เมืองจิทัมพรัม) กรุณาทบทวน เพราะข้อมูลวิปริตอย่างนั้นควรเลิกได้แล้ว”

ส่วนคอลัมน์ On History ของศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นั้น

ก็คงต้องขออภัยอย่างสูงเป็นคำรบสอง

สมเด็จพระไชยราชา ทรงครองราชย์ พ.ศ.2077-2089 ถูกต้องแล้ว

ส่วนที่ว่า แฟรเนา เมนเดส ปินตู (Fernao Mendes Pinto) พ่อค้า นักสำรวจ นักเขียนชาวโปรตุเกส ที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2097 ในรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชานั้นจึงไม่ถูกต้อง

พ.ศ.2097 นั้น เป็นรัชสมัยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชย์ ครั้งที่ 1 แล้ว ระหว่าง พ.ศ.2091-2108

และครองราชย์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2110-2111

 

0 ผู้รู้ (2)

 

เรียน บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

ฟรีดริช นิทเชอ (Friedrich Nietzsche) บอกแก่พวกเราว่า

ศีลธรรมของผู้เป็นนาย (master morality)

มักจะให้คุณค่าต่ออำนาจ ความสูงศักดิ์ และเกียรติ (often giving value to a power, nobility, and honour)

ส่วนศีลธรรมของผู้ต่ำต้อย (slave morality)

มักใส่ใจต่อความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และความถ่อมตน (caring for mercifulness, compassion, and humility)

ความขัดแย้งทั้งหมดของสังคม (all conflicts of a society is confrontation) จึงเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างศีลธรรมทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม กฎเบื้องต้นของไอแซ็ก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ก็บอกแก่พวกเราเช่นกันว่า

“เมื่อใดก็ตามที่วัตถุทั้งสองชนกัน ย่อมได้รับความสูญเสียตามมา (whenever both two objects collide, often damaged)

ผลลัพธ์ของการปะทะกันคือ การดูหมิ่น การทำลายชื่อเสียง ความหยาบคาย รวมทั้งความไม่จริงใจทางการเมือง (its clashing result is disparagement, discredit, profaneness, and political insincerity)

ด้วยความรักและเลื่อมใสอย่างสูง

Poet of PS Pimpdeed

 

ดูหัวจดหมาย ส่งมาจาก อ.กันทรวิชัย มหาสารคาม

แดนตักศิลาอีสาน

จึงมีความลุ่มลึก

ดึงตัวเองให้อยู่เหนือปรากฏการณ์

ทำให้มี “มุมมอง” แบบนก

ทั้งต่อการเมือง และทั้งต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

มีการเรียกร้องให้ลดผลลัพธ์ของการปะทะ

การเมืองเราจะดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น

หากช่วยกันลดการดูหมิ่น การทำลายชื่อเสียง ความหยาบคาย รวมทั้งความไม่จริงใจต่อกัน

ประคับประคอง การเลือกตั้งไปถึงฟากฝั่งประชาธิปไตยด้วยกัน