จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 5-11 ตุลาคม 2561

จดหมาย

 

ปล่อยประเทศไปเถอะ

 

ขอตอบคุณ “ฉลอง” แทน บ.ก. (มติชนสุดสัปดาห์ 7-13 ก.ย. 61 น.4)

ต่อคำถาม “…ประเทศที่มีผู้นำแบบนี้ ประเทศนั้นจะเป็นอย่างไร”

คิดว่าไม่ต้องไปถามประธานองค์กรอะไรนั้นหรอก

เพราะอาจได้คำตอบทำนอง “ประเทศไทยนี้มีประชาธิปไตย 100% แบบน้ำกลั่นบริสุทธิ์ที่มีขี้จิ้งจกปน”

กล่าวคือ

1) ให้ผู้นำและพวก (ที่ยกหางว่าเป็น “คนดี” อยู่ไปนานๆ)

รอวันที่วาระสิ้นสุดมาถึงแล้วจะได้เห็นกันว่าทำไมคนไทยบางกลุ่มไม่รู้จักจำเสียที

ได้ต่อสู้กันเพื่อจะพ้นความเป็นทาส

แต่ตอนนี้ อยากกลับเป็นทาสใหม่

หรือเลิกทาสแล้วไม่ยอมไป

2) เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้

คำตอบคือ คนไทยที่อาจจะฉลาดหรือเก่งกว่าที่หนึ่งโรงเรียนทหาร รวมทั้ง “สื่อ” และ “เด็กรับใช้ทางกฎหมายบางพวก”

กลับยอมตนให้ “คนดี” เหยียดหยาม

ดูถูกคนในชาติ ว่าโง่กว่าคนอินเดีย เขมร เนปาล แอฟริกา ฯลฯ

ที่ตัดสินเลือกอนาคตของประเทศเองไม่ได้

เมื่อคนที่มีคุณวุฒิสูงยังยินยอมให้เขาจิกหัวได้

ก็ปล่อยประเทศไปเถอะ

เพราะความรู้สึกว่าประเทศเป็นของเรามันสูญไปแล้ว

เชิญ “คนดี” ปกครองต่อไป

3) ประเทศไหนก็ไม่รู้

ประหลาดที่ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีกรมทหารบก

ดูเหมือนจะใหญ่กว่านายกฯ (วินัยหายไปไหน)

4) ขอตอบ “ป้อม” ในฐานะรุ่นราวคราวเดียวกันว่า รัฐประหาร 15/09/49 และ 22/05/57 เกิดเพราะ “คนดี” ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน

คิดว่าประเทศเป็นของท่านเท่านั้น

เมื่อไม่เห็นหัวหรือเคารพเรา เราก็ไม่จำเป็นต้องเคารพ “คนดี” ใช่ไหม

5) ฝากถึงนงนุช สิงหเดชะ เห็นวิเคราะห์จิตใจของทรัมป์และทักษิณ ได้น่าอ่าน

อยากให้ลองวิเคราะห์จิตใจของนายกฯ ประเทศหนึ่ง ซึ่งพูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย ใช้ผรุสวาจาในที่สาธารณะ “จิก” นักข่าว ปาข้าวของ ฯลฯ

ว่าคนอย่างนี้เป็นอย่างไร

และจิตใจของคนที่นับถือผู้นำประเทศที่มีลักษณะอย่างนี้เป็นอย่างไร

ขอแสดงความนับถือ

ศ.เกษียณ

 

ขอบคุณ ศ.เกษียณ

ที่มาช่วยตอบคำถามคุณ “ฉลอง”

แสดงว่า มีเยื่อ มีใย ให้กันและกันอยู่

ซึ่งว่าไป คุณฉลอง ศ.เกษียณ และผู้อ่านทั้งหลาย ไม่ใช่ใครอื่น

คนไทยด้วยกันนี่แหละ

แม้คำพูดว่า “ก็ปล่อยประเทศไปเถอะ”

รู้ว่าประชดประชันไปเช่นนั้นเอง

แต่เชื่อว่ายังรัก

และจริงๆ “เรายังไม่หมดหวัง” กับประเทศนี้อย่างแน่นอน

 

เห็นด้วยกับการปฏิวัติ

 

เรียน บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์

ผมเริ่มเห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหาร

เพราะมันเปลี่ยนคน เปลี่ยนการต่อต้าน เปลี่ยนระบบได้ ในเวลาที่มีอำนาจต้องการ

เช่น

1) คำว่า “ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ” (ขออภัยต้องรีบไปปิดทีวี หากโมงเย็นพอดี)

ชี้ให้เห็นตัวตนของคนพูดได้ดี

ว่ามีการคำนึงถึงความถูกต้องยุติธรรมในวิชาชีพหรือไม่

นักกฎหมายประเภทนี้

พร้อมที่จะให้คณะบุคคลที่ครองอำนาจมาจูงจมูก ไม่ว่าผู้ครองอำนาจนั้นจะเข้ามาบริหารประเทศโดยวิธีใด

2) นักการเมือง บางคน บางพรรค กลืนไม่เข้า คายไม่ออก

หาเหตุผลให้ประชาชนไม่ได้ว่าตนยืนข้างประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

คารมโวหารเริ่มลดความน่าเชื่อถือ

เพราะคาดไม่ถึงว่าคณะบุคคลที่ตนต้องการให้เข้ามาเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม ชักจะอยู่นานเกินไป

ที่เคยอยู่ด้วยกันก็เริ่มแตกคอกัน

ฝ่ายที่แยกกันไปเพิ่งจะรู้ตัวว่า มวลชนที่เคยเป่านกหวีดด้วยกัน ชักจะไม่ค่อยเชื่อน้ำมนต์

3) งบประมาณผ่านฉลุย ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยกโคตรเหง้ามาด่าทอกันเหมือนมุขตลกหนังตะลุง

4) รถติดเพราะการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า ชาวลาดพร้าวไม่บ่นสักแอะ ต่างกับตอนที่ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตย ใครอย่ามาแตะถนนข้าฯ

5) ปัญหาการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องไม่ว่าทรัพย์สินหรือตำแหน่งหน้าที่ การประจบสอพลอ มันผูกจิตใจให้ผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น

ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน ตราบใดระบบการผูกขาดอำนาจ ระบบเจ้าขุนมูลนาย การเอื้อประโยชน์ ในกลุ่มพวกพ้อง การอิจฉาริษยา

ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงเป็นนายกฯ แทนที่ผู้หญิงด้วยกันจะช่วยกันปกป้อง กลับเป็นขี้ปากยิ่งกว่าละครน้ำเน่าเลย

ฉะนั้น ปล่อยให้ประเทศไทยให้เขาปู้ยี่ปู้ยำไปตามยถากรรมเถิดครับ

ปลง ปลอดสี

 

อย่าเพิ่ง “ปลง” นะโยม

อย่างน้อย การเลือกตั้งก็กำลังจะมา

ถึงจะถูกเขียนให้เอารัดเปรียบฝ่ายประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

ลองพิสูจน์พลังประชาชนอีกสักครั้ง

แพ้ก็ค่อยมาว่ากันใหม่

อย่าเพิ่งหมดหวัง

ระหว่าง “รอ” ยอมให้ประชดประชัน เพื่อเป็นการระบายอารมณ์ไปก่อน