จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 24-30 สิงหาคม 2561

จดหมาย

บทเรียน สะพานโมรานดิ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
เกิดเหตุการณ์สะพานโมรานดิที่ประเทศอิตาลีพังถล่มลงมา
มีผู้เสียชีวิตจนถึงปัจจุบัน 43 รายแล้ว
ปัจจุบันก็ยังอยู่ระหว่างค้นหาผู้ที่ยังติดใต้ซากสะพานอีก
การถล่มของสะพานที่อิตาลีครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
และแม้ว่าจะเกิดขึ้นห่างไกลจากประเทศไทย แต่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวเลย
เพราะแต่ละประเทศก็มีสะพานใช้งานจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย
ปัจจัยที่ทำให้สะพานถล่ม มี 5 สาเหตุหลักคือ
1. การออกแบบผิดพลาด
2. การก่อสร้างผิดพลาดหรือไม่ถูกวิธี
3. วัสดุเสื่อมสภาพ
4. น้ำหนักบรรทุกมากเกินไป เช่น รถบรรทุกขนาดใหญ่
และ 5. ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว และแรงลม เป็นต้น
การถล่มของสะพานอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งขณะที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และที่เปิดใช้งานแล้ว
ในบ้านเราพบการพังถล่มของสะพานเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง
สาเหตุเกิดขึ้นจากระบบค้ำยันและนั่งร้านไม่แข็งแรงพอ
แต่การวิบัติของสะพานโมรานดิในประเทศอิตาลี เป็นการวิบัติของสะพานที่มีอายุการใช้งานมากว่า 50 ปีแล้ว
เพราะสะพานแห่งนี้เริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510
การวิบัติที่เกิดขึ้นจัดว่าเป็นการวิบัติแบบเฉียบพลัน
สาเหตของการวิบัติยังไม่ทราบแน่ชัด และต้องรอการพิสูจน์ทางนิติวิศวกรรมศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม สะพานโมรานดิมีลักษะเป็นสะพานขึงช่วงยาว
เหล็กที่ใช้ขึงตัวสะพานฝังอยู่ในแท่งคอนกรีต ที่ดึงพื้นสะพานเพียงด้านละ 1 จุดเท่านั้น
สันนิษฐานว่า วัสดุในการรับน้ำหนัก ได้แก่ เหล็กที่ใช้ขึงสะพาน อาจเกิดการวิบัติที่ตัวเหล็กเอง
หรือที่ข้อต่อเหล็ก เนื่องจากการเสื่อมสภาพ การเกิดสนิม หรือความล้าของข้อต่อที่เกิดจากน้ำหนักรถบรรทุกและยานพาหนะอื่นที่วิ่งผ่านไปมาหลายล้านรอบตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา
การถล่มของสะพานที่อิตาลีนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ อาจเกิดขึ้นได้อีก ณ ที่ใดก็ได้ในโลกนี้
ในทางวิศวกรรม เหตุการณ์ดังกล่าวมีหนทางป้องกันได้โดยใช้วิธีการตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างสะพาน (Structural health monitoring system)
ซึ่งเหมือนการตรวจสุขภาพร่างกายคน
โดยแบ่งได้เป็น การตรวจสอบรายวัน รายปี และการตรวจสอบพิเศษ
การตรวจสอบทำได้ทั้งการตรวจสอบด้วยสายตา
โดยสังเกตรอยร้าว การบิด การเคลื่อนตัว
หรือแม้กระทั่งเสียงโครงสร้างที่ดังลั่นผิดปกติ หรือการสั่นสะเทือนที่มากผิดสังเกต
ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณเตือนภัยบอกเหตุผิดปกติในโครงสร้างล่วงหน้าได้ทั้งสิ้น
นอกจากการตรวจสอบด้วยสายตาแล้ว
การตรวจวัดด้วยเครื่องมือทางวิศวกรรม อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง
ในปัจจุบันสามารถวัดค่าความเค้น ความเครียด การเสียรูปของสะพานและทำการประมวลผลแบบเรียลไทม์ได้
ช่วยให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ซ่อมแซมหรือเสริมกำลังได้ทันท่วงที
สาเหตุหนึ่งที่สะพานพังถล่ม อาจจะเกิดจากการละเลยเรื่องการตรวจสอบและดูแลรักษา
อย่าลืมว่าโครงสร้างทุกประเภท มีอายุการใช้งาน โดยเฉพาะโครงสร้างประเภทสะพาน ที่ต้องรองรับน้ำหนักยานพาหนะที่เคลื่อนผ่านไปมา ทำให้เกิดแรงพลศาสตร์กระทำต่อโครงสร้าง เป็นอันตรายยิ่งกว่าน้ำหนักที่แช่อยู่นิ่งๆ เสียอีก
และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งโครงสร้างจะเกิดความล้า (fatigue) นำไปสู่การวิบัติได้
หนทางที่ดีที่สุดคือต้องไม่ประมาท ต้องจัดให้มีโปรแกรมการตรวจสอบและดูแลรักษาสะพานอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงการถล่มของสะพานได้
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ
เลขาธิการสภาวิศวกร

ภาวินี ชนะพลชัย ประชาสัมพันธ์สภาวิศวกร
ส่งอีเมลนี้มาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”
อ่านแล้วอยากเผยแพร่ต่อ
โดยเฉพาะด้วยเหตุว่า แม้จะเกิดขึ้นห่างไกลจากประเทศไทย
แต่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวเลย
อย่าลืมว่า ปัจจุบันและในอนาคต
บน “ศีรษะ” ของชาวบ้าน โดยเฉพาะคน กทม.
เต็มไปด้วยรางรถไฟฟ้า
ถึงจะไม่ได้ใช้งานหนักหน่วงอย่างสะพาน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสะพานโมรานดิ ก็เกิดกับคนไทยได้เช่นกัน
หากการ “ตรวจสอบ” ไม่สม่ำเสมอและไม่ดี

นักการเมืองไม่สมัครใจ

ถ้าไม่มีคนไม่ดี
เราก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นคนดี
ดีคู่กับไม่ดี
เหรียญมี 2 ด้าน
ที่พูดโจมตีนักการเมือง ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้
หน่วยงานอื่นก็มีทั้งดีและไม่ดีเหมือนกัน
การพูดถึงใครดี ไม่ดี ต้องยกเหตุผลและพฤติกรรมมาประกอบ
ไม่ใช่เหมารวมเหมือนที่พูดกันอยู่ในปัจจุบัน
การเป็นนักการเมืองโดยสมัครใจ หรือไม่สมัครใจ
เราต้องทำตัวเป็นผู้ที่มีความอดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์
เพราะทุกคนเป็นปุถุชน คือคนที่ยังมีกิเลสอยู่
ตะวันรอน
อ.ลอง จ.แพร่

ว่าที่จริง
นักการเมืองแบบไม่สมัครใจ
น่าจะหายไป
หาก “ใครก็ตาม” ยอมให้ชื่อตนเองอยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรี
และต้องอดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์
โดยเฉพาะ “ประชาชน”