จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 11-17 พฤษภาคม 2561

จดหมาย

 

เสียงผู้อาวุโส

1)ผมเป็นแฟนมติชนสุดสัปดาห์ สูงวัย (82) มีปัญหาอยากจะขอร้อง คำ ผกา ผ่าน บ.ก. ว่า กรุณาอย่าใช้ภาษาอังกฤษมากได้ไหมครับ

หรือถ้าจะใช้ หากคุณนึกภาษาไทยไม่ออกจริงๆ

ก็ขอความกรุณาช่วยเขียนคำอธิบายเป็นภาษาไทยต่อท้ายสั้นๆ เหมือนคอลัมน์อื่นๆ ก็ยังดี

และที่ลำบากไปกว่านั้นก็คือ บางครั้งคุณเล่นเขียนคำอังกฤษด้วยอักษรไทย ทำให้เวลาอยากรู้ความหมายจะไปเปิดดิกฯ ดูก็ทำไม่ได้

ผมทราบดีครับว่า แฟนมติชนส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน

แต่ชนที่ไม่ค่อยมีปัญญาอย่างผมก็อ่านได้ ไม่ใช่หรือครับ

2) คอลัมน์ “ครัวอยู่ที่ใจ” ของอุรุดา โควินท์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ 30 มีนาคม – 5 เมษายน ฉบับที่ 1963 เขียนว่า ผักคะน้า มะเขือเทศ  หอมหัวใหญ่

ถูกหั่นและซอยบางๆ ด้วยมีดอีโต้

ไม่ทราบว่าอุรุดาเข้าใจผิดหรือสับสนอะไรหรือเปล่า

เพราะมีดอีโต้นั้น ไม่ใช่มีดที่ใช้ในการทำครัวแน่นอนครับ

ยิ่งการ (ซอยบางๆ) ยิ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน

เพราะมีดอีโต้นั้นเป็นมีดที่ใช้ในการตัดฟันต้นไม้หรือกิ่งไม้ครับ มีน้ำหนักมาก ใบมีดหนา

ด้วยความนับถือ

ม เอกมัย

 

1)นอกจากจะส่งความไปถึง คำ ผกา แล้ว

คงหมายรวมถึงนักเขียนท่านอื่นๆ ให้พิจารณาถึง “คำขอร้อง” ของ ม เอกมัย ด้วย

และว่าที่จริง บ.ก. ก็ต้องรับข้อบกพร่องนี้ไว้ครึ่งหนึ่ง

เพราะมีหน้าที่ที่จะให้คำอธิบายเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจแก่ผู้อ่านด้วย

แต่กระนั้น ภาษาในยุคโลกโซเชียลมีเดีย มี “ภาษาต่างด้าว” ให้เราต้องทำความเข้าใจจำนวนมาก

ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ทำความเข้าใจร่วมกันคร้าบบ…

2) ย้อนกลับไปอ่าน “ครัวอยู่ที่ใจ” ของอุรุดา โควินท์ ฉบับดังกล่าว

–น่าจะเป็นความตั้งใจของเธอ ที่พูดถึงการซอยบางๆ ด้วยมีดอีโต้

ประหนึ่งจอมยุทธ์ กระบี่อยู่ที่ใจ กิ่งไผ่ที่อยู่ในมือกลับกลายเป็นกระบี่อันร้ายกาจได้

เช่นเดียวกับแม่ครัวที่ชาญเชี่ยว

มีดอีโต้อันหนาหนัก กลับเบาพลิ้ว

จนสามารถซอยเครื่องปรุงให้บางเฉียบได้

 

อาวุโสอาลัย

61 05 01 รักเธอเสมอ สวลี ผกาพันธุ์

คุณสวลี ผกาพันธุ์ เป็นนักร้องในดวงใจที่ผมหลงใหลเสียงเพลงของท่านมาหลายสิบปีแล้วครับ

จากไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 อายุ 86 ปี

วันแรงงาน ไปเดินเที่ยวห้าง ยังได้ฟังนักดนตรีร้องเพลงรักไม่รู้ดับ อยู่เลย

นักร้องรุ่นหลานๆ บอกว่า จะร้องเพลงเก่ามากให้ฟัง

ไม่นึกว่า ค่ำวันเดียวกัน เจ้าของเสียงเพลงรักไม่รู้ดับคนแรกจะจากไปแล้ว

เพลงที่ประทับใจมากคือเพลง รักเธอเสมอ รักไม่รู้ดับ หนึ่งในร้อย ดวงใจ ฟ้ามิอาจกั้น

เพื่อนๆ ลองหาเพลงเหล่านี้ที่เป็นต้นฉบับเดิมมาฟังดูสิครับ จะรู้ว่าร้องได้ดีเยี่ยม

และบัดนี้ เป็นอมตะไปแล้ว

ด้วยอาลัยคนสร้างผลงานดีแก่โลก

เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง

 

น่าดีใจที่นักร้องรุ่นหลานๆ

ยังเอาเพลงของสวลี ผกาพันธุ์ มาร้องให้ฟัง

ยืนยันและตอกย้ำ

รัก (สวลี) ไม่รู้ดับ

 

อาวุโสรำพัน

เมื่อมองอนาคตไปข้างหน้าอีก 10 ปี 20 ปี มันช้าเพราะยังมาไม่ถึง

แต่ครั้นเหลียวหลังกลับไปยังอดีตที่ล่วงพ้นก็ใจหายว่าการณ์ต่างๆ นานานั้นผ่านมาได้อย่างไร (ไวจัง) ตั้ง 50-60 ปี

เมื่อกาลเวลาเร็วไวเป็นไปเช่นนี้ ก็คาดหมายได้ว่าผู้สูงวัยอย่างเราๆ ท่านๆ จะยืนระยะต่อไปได้อีกไม่ถึงครึ่งทางที่ผ่านมาเป็นแน่แท้

เวลาที่เหลืออยู่ในแต่ละวันๆ ที่หมดสิ้นไปจึงมากค่า…

น่าเสียดายหากว่าเราใช้มันหมดไปกับสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรและเปล่าประโยชน์

ส่วนจะอยู่อย่างไรให้มีค่า ไม่เป็นภาระของครอบครัวและชุมชนมากเกินไป

ก็จำต้องติดตามศึกษาเรียนรู้ทิศทางลม ทัศนคติความคิดความอ่านของสังคมคนรุ่นใหม่

เพื่อปรับตัวให้สอดผสานผสมกลมกลืนร่วมสมัยไปกับคนหนุ่มคนสาว (ผู้แบกภาระดูแล)

ไม่ให้เขาเหนื่อยกายเหนื่อยใจ-เอือมระอา, ส่ายหน้าว่าเป็นปัญหาที่หนักหน่วง

…วันเวลาที่เป็นอยู่จึงเป็นช่วงสำคัญ

ถือเป็นโอกาสดีในโค้งสุดท้ายแห่ง “วัยวันอาวุโส” ที่จักได้เกื้อหนุน, ทิ้งทวน-ส่งไม้ต่อให้ลูกหลานได้อย่างหมดจดงดงามทรงความหมาย

ทรงความหมายควบคู่ไปกับความสุขในบั้นปลายชีวิตที่สัมผัสได้ง่ายๆ จากความทรงจำในความหลังครั้งเก่าก่อนกับเรื่องราวเก่าๆ จากเพื่อนเก่าแต่เยาว์วัยซึ่งพบปะสังสรรค์กันคราใดก็ขบขันในมุข-มาดที่ยากจะลืม

อวยใจให้แช่มชื่น อิ่มเอมสดใส หวนกลับไปเป็นหนุ่มสาวคลอเคลียท่วงทำนองเพลงเก่าๆ ให้ได้ซาบซึ้ง-กระชุ่มกระชวยครับ

ด้วยความเคารพและนับถือ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

ป.ล. สังคม “กลุ่มผู้ใหญ่” หัวใจสำคัญคือการให้อภัย ให้ความเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน สร้างสรรค์วันที่เหลืออยู่ด้วยกันให้เปี่ยมคุณค่า

ส่วน “คณะ” ที่ฝืนสังขารดึงกาลเวลาของคนหนุ่มสาวให้ย้อนกลับไปในยุคสมัยก่อนเก่าของตนเองนั้นหนักหน่วง-น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

แสนเสียดายวาสนาบารมีที่ได้สั่งสมมา (ยาวนาน) อย่างที่สุดครับ…

 

นอกจากดึงกาลเวลาคนหนุ่มสาวให้ย้อนยุคแล้ว

ยังตาม “ดูด” เอานักการเมืองไปสะสมบารมีหนักหน่วงด้วย

“อาวุโส” แบบนี้ น่าห่วงเป็นสองเท่า ว่าไหม