ฐากูร บุนปาน : ภาคราชการต้องปรับตัวยกใหญ่

ขออนุญาตโหนกระแสแม่การะเกดกับเขาด้วยคน

ถึงละครจะลาจอไปแล้ว

แต่แรงกระเพื่อมชนิดนกอินทรีผละกิ่งที่ละครเรื่องนี้ทิ้งเอาไว้ให้กับสังคมไทย

ยังโยกไหวชนิดจับต้องได้

เมื่อวันอาทิตย์ 22 เมษายน ที่ผ่านมา พี่เพื่อนน้องที่ “มติชน-ข่าวสด-ศิลปวัฒนธรรม” เขาช่วยกันจัดงาน “บุพเพฯ เสวนา-กรณีออเจ้ากับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์”

ได้วิทยากรระดับซือแป๋เรียกอาจารย์มา 4 ท่าน ประกอบด้วย

รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม รัฐมนตรีท่องเที่ยว-วีรศักดิ์ โค้วสุรัตน์ อาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้ปลุกพระนเรศวรให้กลับมามีเลือดมีเนื้อเป็นคนเหมือนเราท่านทั่วไป

และอาจารย์ธงทอง จันรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าปริญญาเอกกฎหมาย

สนุกครับ

ทั้งกับท่านที่ฟังอยู่ในห้องประชุมข่าวสดวันนั้น และอีกร่วมแสนท่านที่ติดตามรับฟังการไลฟ์สดๆ ผ่านเฟซบุ๊กของเพจข่าวสด-มติชน-ศิลปวัฒนธรรม

สำหรับท่านที่พลาดไป ลองเปิดเครื่องเข้าไปค้นในสามเพจที่ว่าดู

รับรองไม่ผิดหวัง

เท่าที่สมองงูๆ ปลาๆ จับความได้ เนื้อใหญ่ใจความที่เป็นแก่นของการเสวนาในวันนั้นก็คือ

บุพเพสันนิวาสและแม่การะเกด (รวมพี่หมื่นให้หน่อยก็ได้-เดี๋ยวคุณผู้หญิงทั้งหลายจะงอน-ฮา) จุดประกายอย่างหนึ่งขึ้นมาในสังคมไทย

ไม่ใช่แค่การใส่เสื้อผ้าชุดไทยแบบเดิม (ไทยหรือเดิมแค่ไหนเดี๋ยวว่ากันอีกที) หรือการท่องเที่ยวตามวัดตามวัง

แต่คือการเสาะแสวงหาความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ ในรากเหง้า ในความเป็นมา ในชีวิตความเป็นอยู่

มากไปกว่าตำราเรียนที่เน้น “ประวัติศาสตร์บาดหมาง” (ตามศัพท์ของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ)

ถ้าจะมีอะไรที่ทำให้มรดกของแม่หญิงกับคุณพี่หมื่นมีค่าที่สุด

ก็คือการทำให้ความอยากรู้อยากเห็น และการเสาะแสวงหาความรู้นี้ไม่หยุดไม่ดับลงเหมือนไฟไหม้ฟาง

ประเด็นนี้ในส่วนของเอกชนหรือภาควิชาการนั้นไม่เท่าไหร่

ภาคราชการน่ะปัญหาใหญ่หน่อย

เอาแค่หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยของกรมศิลปากรฉบับล่าสุด

จนถึงวันหยุดหายใจยังไม่รู้ว่าท่านจะแก้ไขให้ “พอจริง-พอดี” ไหมเลย

ฮา

ประเด็นที่ท่านอาจารย์สุเนตรและอาจารย์ธงทองตบเอาไว้ในตอนท้ายก็คือ

บุพเพฯ นั้นเป็นอุบัติเหตุ ถ้าเทียบกับ “แดจังกึม” ของเกาหลีที่มีการวางแผน มีการวางรากฐานหนักแน่นกว่า

การจะสืบทอดต่อยอด หรือผลิตอะไรที่สามารถ “สร้างกระแส” ขึ้นมาได้ใกล้เคียงกัน

จึงไม่ง่าย

ถ้าไม่มีการปรับระบบการจัดการ (ของภาครัฐ) ปรับระบบการศึกษา (ก็ในภาครัฐอีกนั่นแหละ)

คือสรุปว่า ถ้าอยากจะโหนกระแสแม่การะเกด หรือหวังจะให้แม่นายเขาช่วยให้ “ทุนวัฒนธรรม” เมืองไทยก้าวไปอีกขั้น

ที่จะต้องปรับตัวกันยกใหญ่ที่สุดก็คือภาคราชการนี่แหละ

แต่การบ้านประเภทนี้ไม่เคยปรากฏในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ฮา)

จะหวังท่านผู้นำให้ช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลง

ก็เห็นท่านเปลี่ยนใจจากแม่การะเกด ไปเต้นคุกกี้เสี่ยงทายกับน้องๆ BNK48 ในทำเนียบเมื่อวันก่อนเสียแล้ว

ฮา (อีกที)

กลับมาที่ประเด็นเล็กๆ (แต่เป็นอุบายที่ดี) อย่างการแต่งผ้าไทย

ถ้าจะให้สนุกหรือให้มีผลกับคนส่วนใหญ่จริงๆ

อย่าสนับสนุนกันแค่ชุดย้อนยุคของรัตนโกสินทร์ หรือชุดของราชสำนักภาคกลาง

ชุดชาวเขา ชุดชาวบ้าน เสื้อม่อฮ่อม โสร่งปาเต๊ะ ซิ่นลาว ก็ควรได้รับเกียรติเสมอกัน

เอาอย่างแรกเลยคือแต่งขึ้นไปติดต่อสถานที่ราชการให้ได้ก่อน

อย่าอ้างกฎหมายดุ้นๆ ลุ่นๆ ว่าไม่มีข้อห้ามอะไร ประชาชนแต่งได้อยู่แล้ว

ลองนึกถึงความเป็นจริงของวันนี้ แต่งชุดสากลกับชุดชาวบ้านเข้าไปติดต่อราชการ

ใครจะได้รับบริการดีกว่ากัน

หรือที่เขาขอกันมานานช้า แต่ว่ายังไม่เคยได้รับการตอบสนองใดๆ

คือการห้ามใส่รองเท้าแตะเข้าไปในสถานที่ราชการบางที่

ยกเลิกเสียทีได้ไหม

มีสตางค์ก็อยากใส่รองเท้าหรูๆ แพงๆ กันทั้งนั้น

ก็มันไม่มี หรือมีอยู่แค่นี้

นี่เป็นความผิดชาวบ้านด้วยหรือ ถึงได้เหยียดกันเป็นประชาชนชั้นสอง

แม่หญิงกระเกดเธอรับไม่ได้นะ