ฐากูร บุนปาน : วิทยาศาสตร์กับวรรณคดีมาจ๊ะเอ๋กัน

เก็บกวาดกองหนังสือขนาดใหญ่ในบ้าน

ไปเจอตำราวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาของลูกชาย หยิบมาอ่านด้วยความเคยตัว

อ่านแล้ว “อิน”

อินในประเด็น “ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต” หลากหลายรูปแบบ

ที่เขาแยกแยะเอาไว้ให้ดูดังนี้ครับ


-ภาวะใต้ประโยชน์ร่วมกัน

หมายถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่ได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน แม้แยกกันอยู่ก็สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ เช่น

แมลงกับดอกไม้ : แมลงได้รับน้ำหวานจากดอกไม้ ส่วนดอกไม้ได้แมลงช่วยผสมเกสรทำให้แพร่พันธุ์ได้ดีขึ้น

นกเอี้ยงกับควาย : นกเอี้ยงช่วยกินแมลงและปรสิตบนหลังควาย รวมทั้งช่วยเตือนภัยให้แก่ควายอีกด้วย

-ภาวะพึ่งพา

หมายถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่ต่างก็ได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน หากแยกกันอยู่จะไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ เช่น

ไลเคนส์ (Lichens) : สาหร่ายอยู่ร่วมกับรา สาหร่ายได้รับความชื้นและแร่ธาตุจากรา ราได้รับอาหารและออกซิเจนจากสาหร่าย

โพรโทซัวในลำไส้ปลวก : โพรโทซัวชนิด Trichonympha sp. ช่วยย่อยเซลลูโลสให้ปลวก ปลวกให้ที่อยู่อาศัยและอาหารแก่โพรโทซัว

แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ : แบคทีเรียชนิด Escherichia coli ช่วยย่อยกากอาหารและสร้างวิตามิน K, B ให้มนุษย์ ส่วนมนุษย์ให้ที่อยู่อาศัยและอาหารแก่แบคที่เรีย

-ภาวะอิงอาศัยหรือภาวะเกื้อกูล

หมายถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ เช่น

ปลาฉลามกับเหาฉลาม : เหาฉลามเกาะติดกับปลาฉลาม ได้เศษอาหารจากปลาฉลาม โดยปลาฉลามก็ไม่ได้และไม่เสียประโยชน์อะไร

นก ต่อ แตน ผึ้ง ทำรังบนต้นไม้ : สัตว์เหล่านี้ได้ที่อยู่อาศัย หลบภัยจากศัตรูธรรมชาติ โดยต้นไม้ไม่ได้และไม่เสียประโยชน์อะไร

-ภาวะปรสิต

หมายถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์เรียกว่าปรสิต (parasite) อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ เรียกว่าผู้ถูกอาศัย (host) เช่น

เห็บ เหา ไร หมัด บนร่างกายสัตว์ : ปรสิตภายนอก (ectoparasite) เหล่านี้ดูดเลือดจากร่างกายสัตว์จึงเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ส่วนสัตว์เป็นฝ่ายเสียประโยชน์

พยาธิในร่างกายสัตว์ : ปรสิตภายใน (endoparasite) ดูดสารอาหารจากร่างกายสัตว์จึงเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ส่วนสัตว์เป็นฝ่ายเสียประโยชน์

พืชเบียน บนต้นไม้ : พืชเบียน เช่น พวกกาฝากชนิดต่างๆ เกาะและดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้จึงเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ส่วนต้นไม้เสียประโยชน์

ที่เหลือยังมี

-ภาวะล่าเหยื่อ

-ภาวะแข่งขัน

-ภาวะหลั่งสารยับยั้งการเจริญ

-ภาวะเป็นกลาง

เสร็จแล้วไปเจออีกกระดาษอีกชิ้น

เป็นบทความของสำนักงานราชบัณฑิตยสถาน จากรายการรู้ รักภาษาไทย ที่ออกอากาศในสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ว่าด้วยสำนวนต้นไม้ตายเพราะลูก

ท่านอธิบายว่ามาจากธรรมชาติของต้นไม้บางชนิด

เช่น ต้นกล้วยที่เมื่อมีลูกแล้วต้นกล้วยก็ไม่เจริญอีกต่อไป รอวันตาย

เหมือนพ่อแม่ที่รักลูกมาก ถ้าลูกได้รับความเดือดร้อนหรือเป็นอันตราย พ่อแม่ก็จะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะลูกด้วย เปรียบกับต้นไม้ที่ตายเพราะลูก

วรรณคดีไทยหลายเรื่องใช้สำนวนนี้

เช่น ในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี หลังจากที่พระเวสสันดรทรงยกสองกุมารให้แก่ชูชก โดยที่พระนางมัทรีไม่ทรงทราบ เมื่อโอรสธิดาหายไปก็ทรงตามหาด้วยความทุกข์แสนสาหัส เมื่อไม่พบก็รำพันว่า

“ทั้งลูกรักดังแก้วตาก็หายไป อกเอ๋ยจะอยู่ไปไยให้ทนเวทนา อุปมาเสมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ ย่อมจะอาสัญลงเพราะลูกเป็นแท้เที่ยง”

บทละครเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง ท้าวกะหมังกุหนิงสงสารวิหยาสะกำผู้เป็นโอรสที่ไปหลงรักนางบุษบาแล้วไม่ได้ดังใจหมาย ก็ไปทำสงครามชิงนางเพื่อโอรส แล้วกล่าวเปรียบเทียบว่า

“พี่ดังพฤกษาพนาวัน จะอาสัญเพราะลูกดังกล่าวมา”

วิทยาศาสตร์กับวรรณคดีมาจ๊ะเอ๋กันในวันเดียว

จะเรียกว่าความบังเอิญก็ได้

หรือจะพิจารณาว่าทุกอย่างย่อมมีเหตุปัจจัย เพราะมีนี่จึงมีนั่น

ก็ได้อีก

พิจารณาแล้วจะเอามาปรับใช้อะไร

พระท่านว่าแล้วแต่ “วาสนา” ของแต่ละคนไป

ดังนี้แล