ฐากูร บุนปาน : ภูมิใจนำเสนอ

หลังตระเวนและตะลอนไปโน่นมานี่สารพัด

ก็ถึงเวลากลับมานั่งประจำการทำงานตามหน้าที่

หน้าที่อะไร

พี่เพื่อนน้องเขาบอกว่าอายุเยอะแล้ว หนังหน้าก็หนาขึ้นตามวัย ให้มาขายของครับ

แต่ให้ขายแบบเต็มภาคภูมิได้ ไม่ต้องอาย

เพราะขายของดี

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ 29 มีนาคม-8 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เหมือนเดิม

และที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงอีกเช่นกัน ก็คือสำนักพิมพ์มติชนเขาจัดเต็ม จัดหนังสือชั้นเยี่ยมทั้งวรรณกรรมและสารคดีมาประชันกันล้นแผง

เล่มแรกที่ภูมิใจนำเสนอนั้น ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณ ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล ประธานมูลนิธิสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประทานต้นฉบับมาให้

หนังสือชื่อยาวหน่อยว่า “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นสมัยรัชกาลที่ 6)” นิพนธ์ของ ม.จ.หญิง พูนพิสมัย ดิศกุล

ถ้าหนอนหนังสือท่านไหนจำหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ที่สำนักพิมพ์มติชนนำนิพนธ์ “ท่านหญิงพูน” มาตีพิมพ์เมื่อหลายปีก่อนได้

ก็คงตั้งตารอสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นเล่มใหม่นี้ด้วยใจจดจ่อ

ประวัติศาสตร์บอกเล่าที่จะช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ “เลือนราง” ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

ถึงจะเป็นส่วนเดียว เป็นส่วนเสี้ยวของภาพใหญ่ทั้งหมด

แต่ถ้าหมั่นอ่าน หมั่นตรวจสอบ เอามาประกอบกันเข้า

ที่เลือนที่รางก็จะแจ่มชัดขึ้นทีละน้อย

และที่ตามกันมาติดๆ เพื่อช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ก็คือ “อยากลืมกลับจำ” สารคดีชีวประวัติของคุณป้าจีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรสาวของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

โดยคณะผู้เขียน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ ณัฐพล ใจจริง

ซึ่งตั้งใจเอาไว้ว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากจะทำให้หนังสือชุดนี้เป็น “ไตรภาค”

เริ่มจากจอมพล ป. แล้วก็ไปพระยาพหลพลพยุหเสนา

ก่อนจะปิดท้ายด้วยท่านรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์

มองชีวิตและผลงานของท่านผู้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยครั้งใหญ่ที่สุดหนหนึ่งในประวัติศาสตร์

ด้วยสายตาของผู้ใกล้ชิด

ด้วยข้อมูลที่เคยเป็นเรื่องบอกเล่ารับรู้กันอยู่ในวงคนสนิทชิดเชื้อ

เพื่อเป็นบทเรียน เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ เป็นอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากสำหรับคนข้างหลัง

ใครอยากอ่านไตรภาคนี้ให้ครบบ้าง

ยกมือขึ้น

จากสารคดีไทยข้ามไปงานเขียนกึ่งสารคดีฝรั่ง The Fishing Fleet หรือพากย์ไทยว่า “กองเรือหาคู่ จากเมืองฝรั่งมาขึ้นฝั่งที่อินเดีย” ฝีมือแปลของสุพัตรา ภูมิประภาส ผู้รักอินเดีย-พม่าเป็นพิเศษ

ว่าด้วยชีวิตความเป็นไปของชายหญิงอังกฤษในยุคอาณานิคม ที่มีข้อห้ามว่าผู้ปกครองต้องไม่แต่งงานกับชนพื้นเมือง

จะแต่งได้ก็แต่กับหญิงชาติเดียวกันหรือหญิงตะวันตกที่มาเรือจากเมืองแม่

แค่พล็อตก็นึกสนุกแล้วใช่ไหม

หมดชุดสารคดีแล้ว คราวนี้ข้ามไปวรรณกรรม

เล่มใหม่ของออร์ฮาน ปามุก นักเขียนโนเบลชาวตุรกีที่สำนักพิมพ์มติชนเขาภูมิใจเสนอ ก็คือ Strangeness in my mind

อาจารย์นพมาส แววหงส์ ถอดเป็นไทยในชื่อว่า “หากหัวใจไม่สามัญ”

ใครรัก “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” ก็เชื่อว่าจะรักเล่มนี้ไม่น้อยไปกว่ากัน

ที่วางเรียงเคียงกันได้ไม่อายก็คือ The Glass Palace ของอมิตาฟ กอช สุดยอดนักประพันธ์อินเดีย

เรียบเรียงเป็นไทยในชื่อ “ร้าวรานในวารวัน” โดยฝีมือแปลของคุณธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์

และเมื่อมีสุดยอดจากตุรกีและอินเดีย จะไม่มีจีนมาประชันก็กระไรอยู่

“อย่าเรียกฉันว่านางแพศยา” คุณศุณิษา เทพธารากุลการ บรรจงถอดความจาก I did not kill my husband ของหลิน เจิ้น อวิ๋น

นักเขียนดาวรุ่งจากแผ่นดินใหญ่

เขียนยั่วน้ำลายทั้งตัวเองและคนรักหนังสือด้วยกันไปอย่างนั้นละครับ

เพราะรู้อยู่แล้วว่า เดี๋ยวก็คงได้ไปเจอหน้ากันในงานแน่ๆ

ไม่ที่บู๊ธสำนักพิมพ์มติชนก็บู๊ธของเพื่อนฝูงท่านอื่น

พบกันในงานครับ