ฐากูร บุนปาน : ทำไม GDP บึงกาฬโตแบบก้าวกระโดด4-5เท่า ?

ตอนที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้วางตลาด

และท่านทั้งหลายเปิดอ่านมาถึงบัญชรนี้

คนเขียนก็อาจไปปร๋ออยู่ที่บึงกาฬ-จังหวัดบ่าซ้ายของประเทศไทยโน่นแล้ว

ไปร่วมงานวันยางพาราและกาชาดจังหวัดบึงกาฬ ที่ “เครือมติชน” ไปร่วมจัดกับเขามาทุกปีนั่นละครับ

จัดกันมาตั้งแต่บึงกาฬเริ่มตั้งจังหวัด

ตั้งแต่ราคายางยังต่ำเตี้ยติดดิน จนพุ่งทะลุฟ้าไปแล้ว และกลับมาฟุบอีกรอบ

แต่ตัวงานสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ยิ่งจัดยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี

ใหญ่ทั้งในแง่จำนวนคนที่มาร่วม ทั้งในแง่กิจกรรม ทั้งในแง่ความรู้-นวัตกรรม

และใหญ่ที่สุดคือผลทางธุรกิจ-ปากท้องของพี่น้องบึงกาฬ

ครั้งที่เดินทางไปเปิดงานนี้เมื่อสองปีที่แล้ว

ท่านอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ประชารัฐ” น่ะไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล

ให้มาดูตัวอย่างจากบึงกาฬนี่แหละ

ประชารัฐของบึงกาฬนั้นเป็นประชา+รัฐ จริงๆ

คือชาวบ้านลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองก่อน แล้วได้รับการช่วยเหลือจากรัฐอีกแรง

พลิกให้จังหวัดเกิดใหม่ ไม่มีอะไรเลย กลายเป็นจังหวัดลำดับต้นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อันนี้ไม่ได้มโนนะครับ

จากรายงานสำรวจรายได้ทั่วประเทศของปี 2558 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

รายได้ครัวเรือนต่อเดือนของบึงกาฬที่อยู่อันดับเกือบโหล่เมื่อตั้งจังหวัดใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คือครอบครัวละ 23,767 บาท/เดือน

เป็นรองแค่นครราชสีมา (26,376 บาท/เดือน) และชัยภูมิ (23,830 บาท/เดือน)

เพิ่มขึ้นจากครอบครัวละ 20,207 บาท/ครอบครัว/เดือน เมื่อปี 2556

หรือประมาณ 15%

โตกว่าการเพิ่มของจีดีพีทั้งประเทศในช่วงเดียวกัน 4-5 เท่า

ทําไมถึงโตแบบก้าวกระโดด

อธิบายแบบมองด้วยตาเปล่า ก็ต้องบอกว่าเพราะบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

และกว่าร้อยละ 80 ของผู้ปลูกยาง เป็นเกษตรกรรายย่อย

ปลูกเอง กรีดเอง ราคายางเท่าไหร่ก็ได้รับเท่านั้นเต็มๆ

ไม่ต้องแบ่งใครเหมือนระบบจ้างกรีด

ปียางราคาแพงก็รวยมาก ปียางราคาตกก็เขียมหน่อย

เท่านั้นก็พอประคองตัวได้

แต่ถ้าอธิบายแบบ “คนนอก” ที่บังเอิญไปนั่งอยู่ติดขอบเวที เห็นความเจริญและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกปี

ก็ต้องบอกว่าที่โตแบบก้าวกระโดดขึ้นมาได้

เพราะคนบึงกาฬ “ไม่งอมืองอเท้า”

ไม่นั่งรอว่ารัฐจะต้องมาช่วยดลบันดาลโน่นนี่ให้เกิดขึ้น

จะมีกี่จังหวัด กี่พื้นที่ ที่คนพื้นถิ่นซึ่งปลูกยางพาราเป็นหลักมารวมตัวกันลงทุนเพื่อสร้างโรงงานแปรรูปน้ำยาง

ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำเอง

กี่จังหวัด กี่พื้นที่ ที่ปลูกยางแล้วรวมตัวกันบินไปขายถึงเมืองจีน

หาตลาด หาทุนเอง

ไม่นับถือน้ำใจ ไม่นับถือในความเพียรพยายามของท่านได้อย่างไร

ฉะนั้น ไม่ว่าราคายางจะขึ้นหรือลงผันผวนอย่างไร

งานยางพาราและกาชาดบึงกาฬก็ใหญ่ขึ้น สนุกขึ้นทุกปี

เป็นเวทีของการแสดงนวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

เป็นพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยน จับคู่ทางธุรกิจยางพารามากขึ้นทุกปี

นอกจากสาระน่าสนใจแล้ว ยังส่วนที่มาประกบให้งานสนุกน่าเดินขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอบรมความรู้เรื่องยาง เรื่องการเกษตรและอาชีพอื่นๆ

ไปจนกระทั่งถึงงานบันเทิง

และที่พลาดไม่ได้เลยคราวนี้ก็คือ “บึงกาฬ ซิงกิ้ง คอนเทสต์”

ที่ทุกปีจะแข่งขันกันเฉพาะโรงเรียนที่เป็นตัวแทนของอำเภอ มาประชันหาผู้ชนะเลิศของจังหวัด

แต่ปีนี้พิเศษไปกว่านั้น

เพราะโรงเรียนชนะเลิศของบึงกาฬจะต้องประชันฝีมือกับวงดนตรีจากโรงเรียนระดับ “แชมป์ประเทศ” จากทั่วทุกภาค

จ่านกร้องจากพิษณุโลกยังงี้ เทพมิตรจากสุราษฎร์ธานียังงี้ วัดเขมาภิรตารามจากนนทบุรียังงี้

แค่เขียนถึงเท่านั้น เสียงดนตรีวงใหญ่ยังดังสนั่น ภาพน้องนุ่งลูกหลานหางเครื่อง ทั้งร้องทั้งเต้นกันสะบัด

ยังชัดเหมือนเปิดสเตริโอในหัว

แล้วจะพลาดได้ยังไง

17-23 มกราคม เจอกันที่บึงกาฬครับ