ฐากูร บุนปาน : ฝากร้าน มหกรรมอาหารจานเด็ด!

เป็นการมาฝากร้านของตัวเองตามหน้าที่ แต่ด้วยความเต็มใจเป็นที่สุดครับ

และสำหรับท่านที่มีรสนิยมเดียวกันคือรักการกิน งานนี้ไม่สมควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

22-25 กันยายนนี้ที่เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ “ข่าวสด-มติชน” เขาจับมือกับกลุ่มบล็อกเกอร์หนุ่มสาว “สตาร์ฟวิ่งไทม์” ผู้รักการเสาะแสวงหาของอร่อย จัดงาน “มหกรรมอาหารจานเด็ด Food Fest 2016”

รวบรวมเอาร้านอาหารทั้งแบบคลาสสิค พื้นบ้าน มาปะทะกับอาหารโมเดิร์น ฟิวชั่น

ยังไม่ทันกินก็ลายตาไปก่อนแล้ว

มิตรรักแฟนประจำของ “ข่าวสด” คงรู้ว่าเขาเปิดหน้าอาหาร สรรหาร้านแบบ “บ้านบ้าน” จากทั่วประเทศมานำเสนอทุกวันศุกร์มาร่วม 10 ปีแล้ว

ขณะที่ “มติชน” ก็มีคอลัมน์แนะนำร้านอาหารโดย “ปิ่นโตเถาเล็ก” และท่านอื่นๆ ทั้งในวันเสาร์-อาทิตย์มาหลายปีแล้วเหมือนกัน

แค่ชักชวนร้านทั้งหลายให้ย้ายครัวมาตั้ง กลิ่นหอมก็โชยแตะจมูกแล้วครับ

นี่ยังไม่นับร้านที่บางจังหวัดอย่างนครศรีธรรมราช หรือสุรินทร์ ท่านภูมิใจส่งเข้าประกวด เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและแนะนำแหล่งกิน

แต่เดี๋ยวจะหาว่าไม่ทันสมัย

นอกจากร้านที่แนะนำกันในหนังสือพิมพ์ หรือร้านคลาสสิคดั้งเดิมแล้ว

งานนี้เขาไปเชิญชวนร้านอาหารที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นในโซเชียลมีเดีย

มีทั้งอาหารต่างชาติประยุกต์ มีทั้งการนำเสนอแบบใหม่ เช่น รถอาหารหรือฟู้ดทรัก

พูดไปก็น้ำลายหก

รักการกิน รักการชิม พบกันตามสถานที่และเวลาข้างต้นเลยครับ

ไหนๆ ก็จะเป็นรายการขายของแล้ว ก็ขายกันให้เสียสิ้นกระบวนความ

ข้างบนขายของอิ่มท้องไปแล้ว ต่อไปนี้จะขายของอิ่มใจอิ่มสมองกันบ้าง

ก็หนังสือสิครับ

ทำอาชีพเขียนหนังสือจะขายอะไรนอกจากหนังสือ

ที่จะมาแนะนำหนนี้เป็นหนังสือชุดญี่ปุ่น ของสำนักพิมพ์มติชนเขาครับ

หลังจากถล่มทลายกันมาแล้วกับ “แจแปน ซาลารี่ แมน” ชีวิตของลูกจ้างในระบบญี่ปุ่น

“สโลว์ ซัคเซส” ความสำเร็จหลากหลายรูปแบบที่ไม่ได้กินความเฉพาะเรื่องเงินอย่างเดียว

หรือ “กัมบัตเตะเนะ” เพราะความสำเร็จไม่มีทางลัดมาแล้ว

วันนี้สองเล่มล่าสุดในชุดญี่ปุ่นของเขาก็คือ

 

 

Japan Only! ญี่ปุ่นเขาจัดร้านกันแบบนี้ไง

image

และ

image

 

Japan Only! ญี่ปุ่นเขาจัดบ้านกันแบบนี้ไง

รู้กันอยู่ว่าโดยสภาพภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่นเป็นเกาะ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา

ที่ราบซึ่งสามารถตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือร้านค้าร้านขายมีน้อย

บวกเข้ากับพิบัติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหว

ก่อรูปวัฒนธรรม “เป็นระเบียบ” ในชีวิตขึ้นมา

บ้านเรือนหรือร้านรวงขนาดเล็ก จึงถูกจัดวางอย่างช่างคิด ให้ใช้ประโยชน์จากความน้อยให้ได้มากที่สุด

เนื้อหาหลักของทั้งสองเล่มนี้ไม่ได้ลุกขึ้นมาสอนแบบตำรา How to ว่าจะต้องจัดบ้านหรือจัดร้านอย่างไรให้เรียบร้อยน่าอยู่ หรือดึงดูดใจลูกค้า

แต่เริ่มจากตั้งคำถามเอากับสิ่งที่ผ่านหูผ่านตาในชีวิตประจำวัน

แล้วย้อนกลับมาที่หลักหรือแก่นของแนวคิดเรื่องบ้าน เรื่องร้าน

เริ่มต้นตั้งแต่เรามีบ้าน (หรือร้าน) ไว้ทำไม วัตถุประสงค์หรือประโยชน์ที่แท้จริงขององค์ประกอบแต่ละอย่างมีไว้เพื่ออะไร

อาจจะมีตัวอย่างให้ดูบ้างเล็กน้อย มีรูปประกอบให้ดูง่ายอ่านง่าย

แต่สำคัญที่สุดคือผู้อ่านแต่ละท่านต้องคิดกันเอาเอง

ว่าเอาเข้าจริงแล้วท่านต้องการอะไร

และถ้าต้องการแบบนั้นแล้วจะทำอะไรแบบไหน

ไม่ได้จะแนะนำกันให้กลายเป็น “ติ่งญี่ปุ่น” ไปเสียทุกเรื่องหรอกนะครับ

แต่อะไรดีของเขา เราจะเรียนรู้ไว้บ้างก็ไม่น่าใช่เรื่องเสียหาย

รู้แล้วก็มาปรับให้สอดคล้องกับเนื้อดินกับความเป็นจริงของเรา

นักวิชาการท่านเรียกการประยุกต์แบบนี้ว่า “พัฒนา”

อันนี้ตรงข้ามกับที่ปิดหูปิดตาเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง แล้วก็พยายามลากคนอื่นให้เดินถอยหลังกลับเข้าไปอยู่ถ้ำด้วยกัน

อย่างนั้นเขาเรียก “กบในกะลา”

ว่าจะเขียนเรื่องแนะแนำหนังสือแท้ๆ

เลอะเทอะไปถึงเรื่องอื่นได้ยังไงก็ไม่รู้

ฮา