ฐากูร บุนปาน : ถ้าจะเลื่อนเลือกตั้งอีก…

ให้สมกับบรรยากาศปีใหม่ที่ยังอวลๆ อยู่

ขออนุญาตงดการพายเรือในกะลาสักหนหนึ่งเถอะครับ

มาร่วมกันแง้มกะลาออกไปดูว่า โลกข้างนอกเขาไปถึงไหน

หรือเขามองเราด้วยสายตาอย่างไร (ไม่เหมือนเรามองแล้วเข้าข้างตัวเองทุกที)

ออกตัวเสียก่อนว่าข้อมูลที่เขียนส่วนใหญ่วันนี้ เก็บตกหยิบเล็กผสมน้อยมาจากหนังสือ The World in 2018 ของ The Economist ที่เขาออกประจำทุกปี

จับตาแลพยากรณ์สารพัดแง่มุมของปีใหม่ที่จะมาถึง

หลายอย่างจับใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นก็ไม่เลวครับ

อย่างเช่นวันนี้

ประเดิมด้วยเรื่องการเมืองก่อน

ปีนี้ The World in 2018 มีเรื่องเกี่ยวกับไทยตรงๆ อยู่เรื่องเดียว คือประเด็นการเลือกตั้งทั่วไป ที่ท่านผู้นำไปสัญญากับโลกเอาไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561

แต่ไม่ให้น้ำหนักสลักสำคัญเท่าไหร่

เพราะเอาไปพ่วงไว้กับบทความที่พูดถึงการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาที่จะมีขึ้นในปีนี้ด้วย

ประเด็นของคนเขียนบทความนี้ก็คือ

เลือกตั้งของทั้งสองประเทศนี้ มีไปแล้วก็เท่านั้น

กรณีของไทย สัญญาเลือกตั้งเลื่อนมา 3 หนแล้ว เพราะฉะนั้น-ถ้าหนนี้จะเลื่อนอีก ไม่เลือกตั้งพฤศจิกายน 2561 ตามสัญญา ก็ไม่น่าแปลกใจ

หรือเลือกไปแล้ว ถ้าสิทธิเสรีภาพยังถูกจำกัดอยู่ใต้ข้ออ้าง “ความสงบและความมั่นคง” ก็ไม่เห็นจะมีอะไรแตกต่างออกไปจากเดิม

บทความดังกล่าวตบท้ายด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศ จะ “โหน” สถาบัน

ด้วยการใช้วโรกาสอันเป็นมงคล สร้างบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง

(ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือ กลบหรือลดความสำคัญของการเลือกตั้งลงไป-ผู้เขียน)

ถ้ารัฐบาลหรือ คสช. เห็นว่าไม่จริง ก็ไปเถียงกับนิตยสารโน้น

ตรงนี้แค่แปลมาให้อ่านกันทั่วๆ

(ฮา)

ประเด็นต่อมาคือเรื่องเศรษฐกิจ

ในประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ The Economist นำมาตีพิมพ์นั้น

อ้างอิงข้อมูลของธนาคารโลกเป็นหลัก

และคงจะเป็นการประมาณก่อนที่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปี 2560 ประกาศ

เขาจึงระบุว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.1

เทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างเวียดนาม (ประมาณการว่าขยายตัวร้อยละ 6.5) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 5.6) มาเลเซีย (ร้อยละ 5)

ก็ต้องถือว่าต่ำ

ยิ่งถ้าไปเทียบกับรอบบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชา ลาว ที่ขยายตัวร้อยละ 7-8

ยิ่งถือว่าต่ำมาก

อันนี้ทีมเศรษฐกิจคงต้องไปเถียงกับเขาเอาเองอีกเช่นกัน

แต่ประเด็นที่เสียงร้องในกะลาดังระงมตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาก็คือ

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเป็นเท่าไหร่ก็แล้วแต่

แต่การโตนั้นเป็นไปเฉพาะกลุ่ม เฉพาะที่

ปีนี้งานหลักของรัฐบาลไม่ใช่แค่เร่งให้โตอย่างไร

แต่สำคัญกว่าคือ จะแก้อาการ “รวยกระจุก จนกระจาย” ได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งในความเป็นจริงและในความรู้สึก

ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวนะครับประเด็นนี้

สุดท้ายก็คือประเด็นดังสังคม

จากตารางภาพประกอบ ซึ่งเขาอ้างอิงที่มาจากสหประชาชาติ

ไทยอยู่ในประเทศอันดับต้นๆ ของสังคมผู้สูงอายุในเอเชีย

This picture taken on October 27, 2017 shows office workers walking through the foyer of The Center office building in Hong Kong.
Chinese investors’ penchant for Hong Kong real estate is well-known but as they take aim at ownership of the city’s most prestigious buildings and office floors, mainland cash is driving one of the world’s priciest markets to break new records. / AFP PHOTO / Isaac LAWRENCE / TO GO WITH Hong Kong-China-property-economy-developer-landmark, FOCUS by Elaine YU

รองจากญี่ปุ่น (อายุเฉลี่ยคนในชาติ 47 ปี) ฮ่องกง (44 ปี) เกาหลีใต้ (41 ปี) ไต้หวัน (40 ปี)

ถ้าไม่นับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่อายุเฉลี่ยประชากรทั้งประเทศคือ 38 ปี

ไทยเราเฉลี่ย 37 ปีก็น่าเป็นกังวล

ในอย่างน้อยสองประเด็น

ประเด็นแรก เราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า (ประมาณการว่าอีก 7 ปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงวัยกว่า 60 ปีมากกว่าร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด)

ซึ่งจะเกิดปัญหา “แก่ก่อนรวย” อันจะทำให้การดูแลกันและกันลำบากยากยิ่งขึ้นตามมา

ประเด็นต่อมา ถ้าอัตราการเกิดยังต่ำ และอายุเฉลี่ยยังยาวขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้

อีกไม่กี่ปี (ที่จริงตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้ว) ไทยจะขาดแคลนแรงงานจำนวนมหาศาล

ถ้าไม่ขยับหนีไปสู่สังคมเทคโนโลยี (ที่เหมือนฝัน)

ก็ต้องนำเข้าแรงงานจำนวนมหาศาล (พร้อมไหม?)

หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ให้สอดรับกับโครงสร้างอายุของประชากร (ที่โคตรยากเลย)

ยุทธศาสตร์ 20 ปีอะไรนั้น

มองประเด็นนี้กันไว้ด้วยไหม