ฐากูร บุนปาน : “ตกลงปีหน้ามีเลือกตั้งหรือเปล่า ?”

ใกล้ปีใหม่เข้ามา

พี่น้องเพื่อนฝูงคงเห็นหน้าตาว่าคล้ายๆ หมอดู เจอะเจอกันเมื่อไหร่ก็จะมีคำถามติดปากทุกรายไปว่า

“ตกลงปีหน้ามีเลือกตั้งหรือเปล่า”

ด้วยความเคารพทุกท่าน

ก็ตอบกลับไปอย่างนอบน้อมว่า

“ไม่ทราบครับ”

เพราะไม่ได้เป็นแม่น้ำสายไหนกับเขา

ไม่ได้มีบทบาทอะไรในรัฐบาล หรือ คสช.

แต่ถ้าจะให้ตอบแบบหมอเดาละก็

ไม่มี

ถามว่าทำไมถึงปลงใจเชื่ออย่างนั้น

ก็ขอให้ดูอาการท่านผู้รับผิดชอบดูแลงานด้านกฎหมายของรัฐบาลอย่างรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ท่านเถิด

การเปิดช่องแบ่งรับแบ่งสู้ว่าพร้อมจะแก้ไขพระราชบัญญัติพรรคการเมือง (ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับที่ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ คุณไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอมาก็ตามที)

อีกด้านหนึ่งก็แปลว่า เวลาของการเลือกตั้งมีโอกาสเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่เชื่อกันว่าจะเป็นเดือนพฤศจิกายน 2561

ส่วนจะเป็นต้นปีหรือกลางปี 2562 ก็ขึ้นกับว่า กระบวนการจัดการอื่นๆ ทั้งที่ใช่กฎหมายและมิใช่กฎหมายจะสำเร็จเรียบร้อยรวดเร็วแค่ไหน

แต่อย่างน้อยก็ต้องหลังการโยกย้ายข้าราชการชุดใหญ่อีกหนึ่งหน

และการตั้งองค์กรการเมืองเป็นเครื่องมือประกันความเสี่ยง

เห็นกันอยู่ชัดๆ ไม่ใช่เรื่องปิดลับอะไร

แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่

ก็คือตัวการเลือกตั้งเอง

เพราะนี่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ที่ “โซเชียล มีเดีย” จะเข้ามามีบทบาทในการหาเสียง ในการเผยแพร่ข้อมูล

และในการตัดสินใจของผู้ลงคะแนน

เป็นการต่อสู้กันระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่แบบประจันหน้าครั้งแรก

ขณะที่ฝ่ายหนึ่ง กุมอำนาจปืน อำนาจทุน ออกกฎหมายที่เป็นคุณกับฝ่ายตัว (ที่แปลว่าพร้อมจะเป็นโทษกับฝ่ายตรงข้าม)

ฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาล ก็มีกูเกิล เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ไอจี

เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสาร ความเชื่อ และจุดยืนของตัวเอง

พื้นที่และอุปกรณ์เหล่านี้ ถ้าเป็น “สนามรบ” ก็เป็นเวทีศึกที่ฝ่ายผู้มีอำนาจ “เพลี่ยงพล้ำ” มาโดยตลอด

ไม่อย่างนั้นแล้ว “หัวหน้าควง” ผู้เคยเขียนไขความลับในการจัดกำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี 2553

คงไม่ต้องออกโรงมาเขียนเตือนใน “เสนาธิปัตย์” ให้เตรียมจัดกำลังและระบบ เข้ามาต่อสู้ในสนามรบนี้ให้ดี

เชื่อว่าชนะ หรือเห็นว่าเป็นต่อ

จะต้องทำแบบนี้ไหม?

น่าสนใจว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไป (คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อธิบายด้วย “กฎของมัวร์”-ท่านใดสนใจให้ไปหาคลิปของมติชน-ประชาชาติ-ข่าวสด ในยูทูบดู)

ซึ่งขับดันด้วยคนรุ่นใหม่ ความหวังใหม่ ความเชื่อใหม่ วัฒนธรรมใหม่ และการค้าการขาย-ผลประโยชน์แบบใหม่

กับความพยายามในการลากสังคมให้กลับไปอยู่หลังเขา หรือเข้าถ้ำไปเป็นมนุษย์ล้านปี

ด้วยเครื่องมือ ด้วยระบบแบบเดิมๆ นั้น

อะไรจะมีพลังมากกว่ากัน

และผลของการประจันหน้านั้นจะออกมาเป็นอย่างไร

บรรดาคนรุ่นใหม่นั้นมีความโน้มเอียงจะเชื่อในระบบใหม่

ขณะที่ท่านผู้อาวุโสทั้งหลายจะเชื่ออย่างนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ได้

แต่อาการที่แสดงออกบอกว่า “กลัว”

ถ้าไม่กลัวคงไม่พยายามทำอะไรที่ “ฝืนธรรมชาติ” ฝืนความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างนี้

สมมุติว่าลงทุนทำกันขนาดนี้แล้วยังแพ้อีก

ถามว่าท่านแพ้ใคร

แพ้ทักษิณ แพ้เพื่อไทย หรือแพ้โลก

และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

การจัดความสัมพันธ์ในสังคมจะเป็นอย่างไร

ให้มีเลือกตั้ง 2561 หรือเลื่อนออกไปเป็น 2562 ก็ตามที

แนวโน้มก็ปะทะกันระหว่างคลื่นสองลูกนี้ก็หนีไม่พ้น

ถ้าฝ่ายอาวุโสหรือพลังเก่าฉุดดึงสังคมไม่อยู่

สังคมไทยก็ต้องจัดระเบียบกันใหม่ในทุกจุด

จะเรียกว่าปฏิรูปปฏิคลำหรืออะไรก็ตามที

แต่คราวนี้ปฏิรูปจะมาหลังเลือกตั้ง

ส่วนถ้าพลังเก่ารั้งสังคมไทยไว้ได้

ก็จบข่าว

คงจะได้เห็นอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกเช่นกัน

แต่แปลกยังไง ยังไม่รู้ครับ

ใกล้ๆ แล้วค่อยว่ากันอีกที