‘อำนาจ’ ที่ ‘พิธา’ มี (และไม่มี) | ปราปต์ บุนปาน

ทดลองตีความ-คิดต่อจากการวิเคราะห์วิพากษ์ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยปัญญาชนอาวุโสหลายท่าน

ขณะนี้ “อำนาจ” ในสังคมการเมืองไทย คล้ายกำลังถูกแบ่งแยกออกเป็นสองสาย

สายแรก คือ “อำนาจทางการเมือง” อันประกอบด้วยกลไกอำนาจรัฐต่างๆ ซึ่งใน “ระบอบประชาธิปไตยปกติ” พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง เช่น ก้าวไกล ย่อมสามารถเข้าไปยึดกุมกลไกอำนาจรัฐเหล่านี้ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ผู้คนในประเทศโดยรวดเร็ว

ทว่า สำหรับกฎกติกาใน “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่ปกติ” ยุคปัจจุบัน ขั้นตอนทางการเมืองที่ควรจะซื่อตรง เรียบง่าย กลับกลายเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ต้องคาดเดาคิดคำนวณความเป็นไปได้ต่างๆ นานา และอาจนำไปสู่สภาวะวุ่นวายไร้เสถียรภาพ ได้ทุกเมื่อ

อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ แทนที่กลไกอำนาจรัฐทั้งหมดจะโอบรับ-ปรับตัวเข้าหาพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง มันกลับเป็นเหมือนค่ายกลที่ถูกจัดวางเอาไว้เพื่อต่อต้านทัดทาน “เสียงข้างมาก” จากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างจงใจและน่ารังเกียจ

เส้นทางไปสู่ “รัฐบาลก้าวไกล” ดูจะโรยไว้ด้วยขวากหนามนานัปการ เมื่อคำนึงถึงการต้องพยายามหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.แต่งตั้งอีกหลายสิบเสียง

เมื่อพิจารณาว่าการหาทางป้องกันไม่ให้นักการเมืองครอบงำและแทรกแซงสื่อมวลชน เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ต้องกลายมาเป็นกลเกมแบบศรีธนญชัยกรณี “การถือหุ้นไอทีวี” ที่ใช้หาเรื่อง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ตลอดจนพรรคก้าวไกล อย่างจู้จี้จุกจิก

“อำนาจทางการเมือง” จึงเป็นอำนาจที่พิธาและก้าวไกลยังไขว่คว้ามาครอบครองได้ไม่สำเร็จ และมีไม่น้อยที่เชื่อหรือคาดการณ์ว่า ท้ายสุด (ในระยะอันใกล้) พวกเขาจะล้มเหลวในการเข้าถึงอำนาจชนิดนี้

 

แต่สายธารอีกเส้นหนึ่ง ยังมี “อำนาจทางวัฒนธรรม” ไหลเอ่อท้นอยู่ในสังคมไทย

ต้องยอมรับว่า พิธา-ก้าวไกล ชนะการเลือกตั้งได้เพราะความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ใหญ่โตและสำคัญ

เมื่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-เทคโนโลยี และการขยายตัวของสังคมเมือง ก่อให้เกิดคนชั้นกลาง-ผู้ประกอบการใหม่จำนวนมาก ที่ค่อยๆ แปรสภาพตนเองเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้น

พลเมืองกลุ่มนี้ยึดถือวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ต้องการความเท่าเทียมเสมอภาค และลดการพึ่งพิงวัฒนธรรมอุปถัมภ์ หรือความสัมพันธ์ตามลำดับชั้นแบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย ลงอย่างเห็นได้ชัด

นี่คือพลวัตขนาดมหึมา ที่เปิดทางให้ก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมหาศาลกว่า 14 ล้านเสียง

อย่างไรก็ดี ในภาพย่อยกว่านั้น “อำนาจทางวัฒนธรรม” ยังยึดโยงกับวัฒนธรรมป๊อป หรือวัฒนธรรมสมัยนิยม-ประชานิยม

นี่คือ “อำนาจทางวัฒนธรรมร่วมสมัย” ที่พิธามีอยู่ ชนิดไม่น้อยหน้าใคร

อำนาจดังกล่าวปรากฏชัดเจนตรงรอยต่อสุญญากาศ ระหว่างที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่ยังไม่มีการรับรอง ส.ส. และประตูในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังคงปิดสนิทอยู่

กิจกรรมความเคลื่อนไหวต่างๆ เปิดโอกาสให้พิธาได้โลดแล่นไปในบทบาท “ป๊อปสตาร์” ไม่ว่าจะผ่านการเล่นดนตรี-ร้องเพลง และโปรโมต “สุราชุมชน” ในรายการของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” จนถึงการร่วมเดินพาเหรดในเทศกาล “บางกอก ไพรด์ 2023” ด้วยเสื้อสีรุ้งยี่ห้อ “พอล สมิธ”

ในห้วงเวลานี้ พิธาจึงไม่ได้เป็นแค่ผู้นำทางการเมืองรุ่นใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนหนึ่งเดียวที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

หากเขายังเป็นบุคคลสาธารณะผู้รุ่มรวยเสน่ห์ รอบรู้สรรพศิลปศาสตร์ มีความสามารถอย่างสูงในการผสมผสานการต่อสู้ทางการเมืองเข้ากับประเด็นเรื่องบันเทิง-ไลฟ์สไตล์ ที่มักถูกมองว่า “ไม่เป็นการเมือง”

ไม่ว่าใครจะชื่นชมหรืออิจฉาริษยา ปฏิเสธมิได้ว่าคุณลักษณะทำนองนี้ คือ “คุณสมบัติของผู้นำ” ที่สังคมไทยนิยมและพยายามเสาะแสวงหาเสมอมา ทว่า ควานหาไม่เจอมานานนับทศวรรษ

ผู้นำทางการเมืองบางคนเพียรบริหารเสน่ห์ของตนเอง แต่ล้มเหลวด้วยการแต่งเพลงไม่ฮิตติดหูและเล่นมุขไม่ตลกมายาวนาน 8-9 ปี

ส่วนผู้นำอีกหลายคนอาจมีศักยภาพใกล้เคียงกับพิธา แต่ก็ไม่ครบเครื่องเท่า โดยอาจมีความฟิต ความขยัน ความเป็นสุภาพชน ความเป็นนักบริหาร แต่ก็มิใช่คนหนุ่มสาวที่สามารถมัดใจสาธารณชนในแบบ “ดารา”

ณ เดือนกรกฎาคม 2566 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จึงถือครอง “อำนาจทางวัฒนธรรม” อยู่อย่างล้นเปี่ยม แม้เขาและพรรคก้าวไกลยังเข้าไม่ถึง “อำนาจทางการเมือง”

ต่อให้มีการหยุดยั้งเขา จนไปต่อไม่ได้ในทางการเมือง แต่พลังทางวัฒนธรรมของพิธายังมีแนวโน้มจะรุกคืบแผ่ขยายไปในสังคมอย่างไม่รู้จบ

ความดื้อด้านของบรรดาผู้ใหญ่ที่ไร้เรี่ยวแรงลงเรื่อยๆ หรือจะต้านทานความรัก ความศรัทธา ความลุ่มหลง และความปรารถนา ของ “ด้อม” รวมทั้งผู้คนธรรมดาสามัญส่วนใหญ่

โจทย์ของฝ่ายตรงข้าม ก็คือ พวกเขาจะใช้ “อำนาจทางวัฒนธรรม” แบบไหนมาสู้กับพิธา?

 

เท่าที่เห็นในเบื้องต้น เริ่มมีการสร้างเรื่องเล่า-ทฤษฎีสมคบคิดข้ามชาติมาเล่นงานว่าที่นายกฯ จากก้าวไกล

ถึงจะมีคนเชื่อและอินเรื่องเล่าประเภทนี้อยู่บ้าง แต่นั่นก็เป็น “อำนาจทางวัฒนธรรม” ที่มีพลังน้อยกว่ากระแส “พิธา-ก้าวไกล” และเทียบไม่ได้เลยกับกระแส “พิธาฟีเวอร์” ตามป๊อปคัลเจอร์แขนงต่างๆ

ฝ่ายขวา/อนุรักษนิยมไทย อาจตัดสินใจงัดเคล็ดวิชาก้นหีบในทางวัฒนธรรมอื่นๆ มาใช้เพิ่มเติมอีกก็ได้ ทว่า ไม่มีใครมั่นใจว่าเคล็ดวิชาพวกนั้นจะสามารถใช้พิชิตพิธาได้ในเวลานี้

และไม่รู้ว่าพวกเขาต้องจ่ายราคามากมายเท่าไหร่ไปกับทางเลือกดังกล่าว •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน